คำวินิจฉัยที่ 8/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลย อ้างว่าจำเลยออกโฉนดที่ดินไม่ตรงตามพื้นที่ที่ได้ครอบครองจริง ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเลขที่ ๕๕๙๕ เนื้อที่ ๑ งาน ๒๘ ตารางวา และออกโฉนดที่ดินให้ใหม่ตามความเป็นจริงจำเลยให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื้อที่ส่วนต่างคือที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๗๐๔๘ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียง จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ มีจำนวนเนื้อที่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา หรือมีจำนวนเนื้อที่ ๑ งาน ๒๘ ตารางวา หรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป นอกจากนี้ยังปรากฏตามคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๔๗/๒๕๕๗ ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี ขอให้แก้ไขรูปแผนที่และเพิกถอนการรังวัดโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงที่มีกรณีพิพาทกับคดีนี้ ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖๔/๒๕๕๘ ว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องกับคดีดังกล่าวและเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่ควรได้รับการพิจารณาโดยศาลในระบบเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๕๙

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดปทุมธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดปทุมธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ นายสมชาย พอใจ ที่ ๑ นายสุชิน พอใจ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.๑๒/๒๕๕๘ ความว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๕๙๕ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โดยรับโอนที่ดินมาจากนายบุญ พอใจ บิดาของโจทก์ทั้งสอง ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ให้ช่างผู้เชี่ยวชาญรังวัดตรวจสอบที่ดินปรากฏว่าได้เนื้อที่ จำนวน ๒ งาน ๒๕ ตารางวา ซึ่งไม่ตรงกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ระบุเนื้อที่ไว้เพียง ๑ งาน ๒๘ ตารางวา โจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยตรวจสอบและดำเนินการให้ถูกต้องหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒๘ ตารางวา และออกโฉนดที่ดินให้ใหม่ตามความเป็นจริง
จำเลยให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยระบุจำนวนเนื้อที่ในโฉนดที่ดินน้อยกว่าที่ครอบครองจริงนั้น ส่วนต่างของเนื้อที่ที่โจทก์ทั้งสองอ้างดังกล่าวคือที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่๗๐๔๘ ของนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก อันเป็นที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองเคยยื่นฟ้องต่อศาลนี้ว่านางนิตยากับพวกนำชี้รุกล้ำเข้าไปที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๕๙๕ ของโจทก์ทั้งสอง แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ทั้งนางนิตยากับพวกได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลยุติธรรม ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวกห้ามจำเลยทั้งสอง (โจทก์ทั้งสองในคดีนี้) และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๔๗/๒๕๕๗ ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี ขอให้เพิกถอนการรังวัดและแผนที่ที่เกิดจากการนำชี้รายการรังวัด วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ตามฟ้อง ซึ่งมีแนวเขตติดต่อกันนี้ โดยคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอผลการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นคดีปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยออกโฉนดที่ดินโดยระบุเนื้อที่น้อยกว่าความเป็นจริง และขอให้บังคับจำเลยออกโฉนดที่ดินที่จำเลยได้ออกไว้และให้ออกโฉนดที่ดินใหม่ตามความเป็นจริงก็ตาม แต่จำเลยให้การสรุปได้ความว่า ที่ดินในส่วนต่างที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าไม่ถูกต้องนั้น ที่จริงแล้วเป็นที่ดินส่วนหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๐๔๘ ซึ่งเป็นที่ดิน ส่วนหนึ่งของนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก ฉะนั้น กรณีจึงต้องวินิจฉัยในประเด็นว่าเนื้อที่ดินในส่วนต่างที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยระบุไว้ในโฉนดที่ดินไม่ถูกต้องนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่เป็นสำคัญก่อนประเด็นแรก แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองมีความประสงค์ให้จำเลยในฐานะหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินดำเนินการตรวจสอบและมีคำสั่งยกเลิกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ของโจทก์ทั้งสองที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับให้ออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แก่โจทก์ทั้งสองตามความเป็นจริงที่ได้จากการตรวจสอบของจำเลย โดยคดีไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก ซึ่งเป็นแปลงข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๐๙/๒๕๕๗ วินิจฉัยว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๗๐๔๘ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นกรรมสิทธิ์ของนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก ห้ามจำเลยทั้งสอง (โจทก์ทั้งสองในคดีนี้) และบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าได้ร้องขอให้จำเลยตรวจสอบโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย กรณีจึงเป็นการฟ้องจำเลย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในการสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย ตามคำฟ้องอ้างว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๕๙๕ โดยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากบิดา ต่อมา เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ให้ช่างผู้เชี่ยวชาญรังวัดตรวจสอบที่ดินปรากฏว่าได้จำนวนเนื้อที่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา ซึ่งไม่ตรงตามโฉนดที่ดินที่ระบุเนื้อที่ไว้เพียง ๑ งาน ๒๘ ตารางวา จึงไม่ถูกต้องตรงกับพื้นที่ที่ได้ครอบครองตามความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยตรวจสอบและดำเนินการให้ถูกต้องหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ เนื้อที่ ๑ งาน ๒๘ ตารางวา และออกโฉนดที่ดินให้ใหม่ตามความเป็นจริง จำเลยให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ นั้นจำเลยได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ดินในส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยระบุไว้ในโฉนดที่ดินไม่ถูกต้อง โดยระบุเนื้อที่น้อยกว่าที่ครอบครองจริงนั้น ความจริงแล้วเนื้อที่ส่วนต่างที่โจทก์ทั้งสองอ้างคือที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๗๐๔๘ ซึ่งมีนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทั้งนางนิตยากับพวกได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลยุติธรรม ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนิตยากับพวก ห้ามจำเลยทั้งสอง (โจทก์ทั้งสองในคดีนี้) และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือ คำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ มีจำนวนเนื้อที่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวาหรือมีจำนวนเนื้อที่ ๑ งาน ๒๘ ตารางวา หรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป นอกจากนี้ยังปรากฏตามคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๔๗/๒๕๕๗ ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี ขอให้แก้ไขรูปแผนที่และเพิกถอนการรังวัดโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงที่มีกรณีพิพาทกับคดีนี้ ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖๔/๒๕๕๘ ว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องกับคดีดังกล่าวและเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่ควรได้รับการพิจารณาโดยศาลในระบบเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมชาย พอใจ ที่ ๑ นายสุชิน พอใจ ที่ ๒ โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share