คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยของจำเลยที่ 3 กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จะพิจารณาว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำละเมิดอย่างไรจึงต้องพิจารณาฟ้องของโจทก์ทั้งฉบับ มิใช่พิจารณาเฉพาะการออกโฉนดให้แก่ผู้ครอบครองในขณะนั้น หรือการเพิกถอนการออกโฉนดซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำฟ้องโจทก์เท่านั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง กระทำการโดยประมาทออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ส. โดยไม่ชอบเพราะอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรและโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต ต่อมาโฉนดที่ดินของโจทก์ถูกเพิกถอน โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าพนักงานที่ดิน จึงแสดงว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหลังจากที่โฉนดพิพาทถูกจำเลยที่ 1 เพิกถอน มิใช่ได้รับความเสียหายนับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดในที่ดินพิพาท
สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยได้อาศัยแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหารซึ่งมีมาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 แต่ขณะที่จำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ใช้ระวางแผนที่ภายถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ตรวจสอบ การออกโฉนดที่ดินแล้วเพิกถอนนั้น เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มีส่วนผิดอยู่ แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ยังไม่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในขณะนั้น เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและถูกจำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเพราะวันดังกล่าวโจทก์เพิ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 3 ครบองค์ประกอบฐานละเมิด เมื่อนับถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่ล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด หรือล่วงพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

สืบเนื่องจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้โอนคดีมายังศาลจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542
โจทก์ฟ้อง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 22904 ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์
ก่อนจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า เดิมโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 22904 ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยซื้อมาจากบริษัทสุวิทย์และเพื่อนการเกษตรแอนด์คันทรีคลับ จำกัด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 ในราคา 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 3 มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้โอนคดีมายังศาลจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554
คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 3 ได้ยกประเด็นเรื่องละเมิดขึ้นกล่าวอ้างโดยชอบในชั้นฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ศาลจังหวัดลำพูนพิพากษาว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ทำละเมิดต่อโจทก์ แต่พิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากคดีโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 จำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ แต่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลจังหวัดลำพูนที่วินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง กระทำละเมิดต่อโจทก์ ปัญหาว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงยุติตามคำพิพากษาศาลจังหวัดลำพูน การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาโดยยกปัญหาว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ขึ้นฎีกา ฎีกาข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง กระทำการโดยประมาทออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทสุวิทย์และเพื่อนการเกษตรแอนด์คันทรีคลับ จำกัด และโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต ต่อมาโฉนดที่ดินของโจทก์ถูกเพิกถอน โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยของจำเลยที่ 3 กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จะพิจารณาว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำละเมิดอย่างไรจึงต้องพิจารณาฟ้องของโจทก์ทั้งฉบับ มิใช่พิจารณาเฉพาะการออกโฉนดให้แก่ผู้ครอบครองในขณะนั้น หรือการเพิกถอนการออกโฉนดซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำฟ้องโจทก์เท่านั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง กระทำการโดยประมาทออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทสุวิทย์และเพื่อนการเกษตรแอนด์คันทรีคลับ จำกัด และโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต ต่อมาโฉนดที่ดินของโจทก์ถูกเพิกถอน โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าพนักงานที่ดิน จึงแสดงว่า โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงหลังจากที่โฉนดพิพาทถูกจำเลยที่ 1 เพิกถอน มิใช่โจทก์ได้รับความเสียหายนับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดในที่ดินพิพาท ซึ่งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายก็ฟังได้ว่า ในขณะที่สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ออกโฉนดที่ดินพิพาทนั้นได้อาศัยแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหารซึ่งมีมาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 แต่ขณะที่จำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 3 ใช้ระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ตรวจสอบ จึงฟังได้ว่า การออกโฉนดที่ดินแล้วเพิกถอนนั้นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มีส่วนผิดอยู่ หาใช่ว่าเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 3 ทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดในที่ดินพิพาทไม่ เพราะขณะนั้นเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ และโจทก์ก็ยังไม่ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ยังไม่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและถูกจำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยแล้วว่าเป็นวันทำละเมิดจึงชอบแล้ว เพราะวันดังกล่าวโจทก์เพิ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 3 ครบองค์ประกอบฐานละเมิด เมื่อนับถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่ล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดหรือล่วงพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดจำนวนค่าเสียหาย 500,000 บาท เท่ากับราคาที่โจทก์ซื้อมา นับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share