แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงงานที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1ก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตโดยมีสัญญาว่าจ้างพร้อมทั้งรายละเอียดข้อกำหนดการก่อสร้างคลองและรูปคลอง ซึ่งถือว่าแบบรูปและรายละเอียดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่คู่สัญญาถือไว้คนละฉบับ โจทก์ได้แนบสัญญาว่าจ้างมาท้ายฟ้องด้วย โดยเฉพาะโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยตรงว่า จำเลยที่ 1ผิดสัญญาในงวดที่ 3 และที่ 4 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วและได้ว่าจ้างผู้อื่นทำงานส่วนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าคำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 3 ย่อมทราบดีถึงขนาดของคลองส่งน้ำที่จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้าง โจทก์หาต้องบรรยายขนาด กว้าง ยาว ลึกของคลองส่งน้ำมาด้วยไม่ ส่วนงานที่โจทก์ว่าจ้าง พ. ให้ทำงานต่อจากจำเลยที่ 1 มีอะไรบ้างนั้นเป็นรายละเอียดที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบและโจทก์ได้รับมอบงานงวดที่ 2 หลังจากสิ้นสุดการต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 แล้วก็ตามแต่ในการรับมอบงานงวดที่ 2 นั้น เนื่องจากล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบงานตามที่ขอต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 โจทก์ได้สงวนสิทธิในการคิดเบี้ยปรับและได้หักเบี้ยปรับจากสินจ้างงวดที่ 2 ที่จ่ายให้จำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนี้หลังจากโจทก์ไม่รับมอบงานงวดที่ 3 และที่ 4 เพราะงานไม่เสร็จตามที่จำเลยที่ 1 ขอส่งมอบแล้ว โจทก์ก็ได้มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอีก แสดงว่าโจทก์ยังมีเจตนายึดถือระยะเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญอยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาการที่โจทก์มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำงานว่า ถ้าไม่ทำงานภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โจทก์จะบอกเลิกสัญญานั้น เป็นการให้โอกาส จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยังไม่บอกเลิกสัญญาทันทีเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใดโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องและทิ้งงานไป โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น สัญญาว่าจ้างได้กำหนดว่าจำเลยที่ 1 ต้องเสียเบี้ยปรับหากไม่ทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาเท่านั้น หาใช่กำหนดวันที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ไม่ ดังนั้น วันผิดนัดชำระเบี้ยปรับที่โจทก์จะพึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดทวงถาม โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดน้อยกว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 จึงควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามส่วนที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเท่ากับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2522 โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตและอาคารชลประทานที่สถานีสูบน้ำบ้านวังห้างอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ในราคา 1,999,000 บาทกำหนดให้งานแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2523 โดยแบ่งงานออกเป็น 4 งวด จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 และยอมรับผิดในวงเงิน 199,900 บาท จำเลยที่ 1ไม่สามารถทำงานแล้วเสร็จภายในกำหนด โจทก์ได้ต่ออายุสัญญาให้จำเลยที่ 1 สองครั้ง จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 และที่ 2 ซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าก่อสร้างทั้งสองงวดให้จำเลยที่ 1 แล้วส่วนงานงวดที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 คงก่อสร้างบางส่วนคิดเป็นเงิน 216,117 บาท และงานส่วนที่เหลือคิดเป็นเงิน 803,373 บาทโจทก์มีหนังสือเตือนจำเลยที่ 1 หลายครั้งให้ก่อสร้างตามสัญญาแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมและไม่สามารถทำงานก่อสร้างตามสัญญาได้โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพนมรุ้งการโยธาเป็นเงิน 1,019,845.18 บาท เพื่อให้ทำงานส่วนที่ยังไม่เสร็จและส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบตามสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าปรับวันละ 1,999 บาท นับแต่วันผิดสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 885,557 บาท และค่าจ้างก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 216,472.18 บาท และเมื่อคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินทั้งสองจำนวนถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 1,493,888.74 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์จำนวน 1,493,888.74 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 199,900 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพนมรุ้งการโยธาทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหาฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างต่อไปทั้งที่สัญญาสิ้นสุดแล้ว ถือว่าโจทก์ไม่ยึดถือกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับหรือค่าเสียหาย เบี้ยปรับที่โจทก์เรียกมาสูงเกินควรค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการว่าจ้างหุ้นส่วนจำกัดพนมรุ้งการโยธานั้นไม่มีส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำงานไม่เสร็จตามสัญญา แต่มีงานเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญา และงานส่วนที่เสร็จเรียบร้อยแล้วชำรุด งานงวดที่ 3 และที่ 4 ส่วนที่จำเลยที่ 1ก่อสร้างไม่เสร็จคิดเป็นเงินเพียง 110,000 บาท โจทก์เรียกดอกเบี้ยของเบี้ยปรับได้นับแต่วันฟ้องมิใช่วันบอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ได้ทำงานก่อสร้างงวดที่ 3 และที่ 4 แล้วคิดเป็นเงิน909,490 บาท ส่วนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จคงเหลือ 5 รายการเป็นเงิน216,160 บาท แต่จำเลยที่ 1 ได้นำอุปกรณ์ก่อสร้างบางส่วนไว้ ณสถานที่ก่อสร้างเป็นเงิน 106,160 บาท คงเหลือค่าแรงงานในงานงวดที่ 3 และที่ 4 เป็นเงิน 110,000 บาท เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาคู่สัญญาต้องคืนกลับสู่ฐานะเดิม โจทก์ต้องใช้ค่าแห่งงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไปแล้วเป็นเงิน 909,490 บาท เมื่อคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน358,092 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,267,582 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 1,267,582 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 909,490 บาทนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบงานงวดที่ 3 และที่ 4เรียบร้อยแล้วค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเกินความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1เคลือบคลุม งานในงวดที่ 3 และที่ 4 มิได้เหลือ 5 รายการเป็นจำนวนเงิน 216,160 บาท จำเลยที่ 1 มิได้นำอุปกรณ์ไว้ ณ ที่ก่อสร้างเป็นเงิน 106,160 บาท และไม่มีสิทธิที่จะนำอุปกรณ์มาเป็นค่าการงานในงวดที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำงานที่จ้างตามสัญญาเป็นเงิน 1,889,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวน 909,490 บาท พร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์จำนวน 643,453 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดเพียงจำนวน199,900 บาท ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
โจทก์ และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่างฎีกาโดยโจทก์ฎีกาเฉพาะค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะต้องชดใช้ให้โจทก์จึงจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เสียก่อนเป็นลำดับไป ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 มีว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตและอาคารชลประทานมีขนาด กว้าง ยาว ลึก และสูงเท่าใด ทั้งไม่ได้แนบเอกสารรายละเอียดการก่อสร้างมาท้ายฟ้องและงานที่โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพนมรุ้งการโยธาทำการก่อสร้างในส่วนที่จำเลยที่ 1 ยังทำไม่เสร็จตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างนั้นมีสิ่งใดบ้าง เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงงานที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตโดยมีสัญญาว่าจ้างพร้อมทั้งรายละเอียดข้อกำหนดการก่อสร้างคลองและแบบรูปคลองซึ่งถือว่าแบบรูปและรายละเอียดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่คู่สัญญาถือไว้คนละฉบับ โจทก์ได้แนบสัญญาว่าจ้างมาท้ายฟ้องด้วย โดยเฉพาะโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยตรงว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในงวดที่ 3 และที่ 4 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วและได้ว่าจ้างผู้อื่นทำงานส่วนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าคำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบดีถึงขนาดของคลองส่งน้ำที่จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้าง โจทก์หาต้องบรรยายขนาด กว้าง ยาว ลึกของคลองส่งน้ำมาด้วยไม่ ส่วนงานที่โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพนมรุ้งการโยธาให้ทำงานต่อจากจำเลยที่ 1มีอะไรบ้างนั้นเป็นรายละเอียดที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อที่ 2 ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่ โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1ทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไปบางส่วนแล้วไม่ทำงานต่อไป จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ยังไม่เสร็จจริง แต่ต่อสู้ว่าปริมาณงานที่เสร็จไปมากกว่าที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไปบางส่วนแล้วทิ้งงานไป ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 อ้างว่า โจทก์ไม่มีเจตนายึดถือเอากำหนดเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างหรือส่งมอบงานตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ในหนังสือบอกกล่าวตามเอกสารหมาย ป.จ.14 และ ป.จ.16 ที่โจทก์มีถึงจำเลยที่ 1 ก็เป็นแต่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำงานต่อไป ขัดข้องอย่างไรให้แจ้งโจทก์ภายใน 7 วัน แต่มิได้กำหนดวันทำงานเสร็จไว้จึงเป็นการขยายเวลาทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่มีเวลาสิ้นสุด ดังนั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ยังทำงานไม่แล้วเสร็จจนถึงวันบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ก็หาผิดสัญญาไม่ โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีหาได้ไม่ โจทก์ต้องกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ทำงานให้แล้วเสร็จมีกำหนดเวลาพอสมควรเสียก่อน นั้นเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบและโจทก์ได้รับมอบงานงวดที่ 2ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งเป็นวันหลังจากสิ้นสุดการต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม แต่โจทก์มีนายวรศักดิ์ ชีรานนท์นิติกรของโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า ในการรับมอบงานงวดที่ 2นั้น เนื่องจากล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบงานตามที่ขอต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 โจทก์ได้สงวนสิทธิในการคิดเบี้ยปรับ และได้หักเบี้ยปรับจากสินจ้างงวดที่ 2 ที่จ่ายให้ จำเลยที่ 1 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.25 และ จ.30 จำเลยที่ 2 ก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า ได้มีการสงวนสิทธิและหักเบี้ยปรับไว้จริง นอกจากนั้นหลังจากโจทก์ไม่รับมอบงานงวดที่ 3 และที่ 4เพราะงานไม่เสร็จตามที่จำเลยที่ 1 ขอส่งมอบแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างตามเอกสารหมายป.จ.14 และ ป.จ.16 เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อสงวนสิทธิที่จะปรับจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาและได้หักเบี้ยปรับไว้ดังกล่าวประกอบกับข้อความในหนังสือเร่งรัดไปยังจำเลยที่ 1 แล้วเห็นได้ว่า โจทก์ยังมีเจตนายึดถือระยะเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญอยู่เมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 5 การที่โจทก์มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำงานและระบุไว้ในเอกสารหมาย ป.จ.16 ว่าถ้าไม่ทำงานภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือโจทก์จะบอกเลิกสัญญานั้น เป็นการให้โอกาสจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยังไม่บอกเลิกสัญญาทันทีเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใดโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องและทิ้งงานไป โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว
ปัญหาข้อ 3 เรื่องค่าเสียหายของโจทก์ ในข้อนี้ทั้งสองฝ่ายต่างฎีกา โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มากกว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ไว้ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มากเกินไป เห็นว่าสำหรับเบี้ยปรับนั้นตามสัญญาข้อ 19(1) ได้กำหนดความรับผิดปรับเป็นเงินวันละ1,990 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามที่ต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย คือวันที่ 16กุมภาพันธ์ 2524 จนถึงวันบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 4 พฤษภาคม 2525ที่ศาลล่างทั้งสองให้หักเบี้ยปรับตามจำนวนที่โจทก์ได้ปรับจำเลยที่ 1 จากค่าจ้างของงานงวดที่ 2 โดยได้คำนึงถึงผลงานงวดที่ 3 และที่ 4 ที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างไปแล้วบางส่วนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ประกอบกับความผิดของโจทก์ที่บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ล่าช้าทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ทิ้งงานไปแล้ว กล่าวคือบอกเลิกสัญญาภายหลังวันล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จของงานเป็นเวลาเนิ่นช้าถึง 443 วัน อันถือว่าโจทก์มีส่วนบกพร่องอยู่ด้วยนั้นชอบแล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น สัญญาว่าจ้างตามเอกสารหมาย จ.5ได้กำหนดว่าจำเลยที่ 1 ต้องเสียเบี้ยปรับ หากไม่ทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาเท่านั้น หาใช่กำหนดวันที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ไม่ ดังนั้น วันผิดนัดชำระเบี้ยปรับที่โจทก์จะพึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดทวงถามซึ่งปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับโดยครบกำหนดในวันที่3 สิงหาคม 2528 ตามเอกสารหมาย ป.จ.33 และ ป.จ.34 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดวันที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยมานั้น ชอบแล้ว
สำหรับค่าจ้างที่โจทก์ฎีกาว่า เพิ่มขึ้นเนื่องจากโจทก์จ้างบุคคลอื่นทำงานต่อไปจนเสร็จบริบูรณ์นั้น โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไม่แล้วเสร็จตามรายการที่โจทก์ตรวจสอบและประเมินไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว คงค้างเพียง 5 รายการ เป็นงานเล็กน้อย ข้อนี้เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1ทิ้งงานไป โจทก์ได้ให้นายวัชรินทร์ สุนาโทกรรมการตรวจรับงานและนายอาทิตย์ จันทร์ลอย นายช่างผู้ควบคุมงานไปทำการตรวจสอบบุคคลทั้งสองทำรายงานต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 แล้วโจทก์ให้นายชลธี ไกรลิขิต และนายวันชัย ประพันธ์พจน์ซึ่งเป็นวิศวกรและนายช่างโยธาของโจทก์ร่วมกันคำนวณตามรายงานดังกล่าวได้ผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ และส่วนที่เสียหายตามเอกสารหมาย ป.จ.3 กล่าวคืองานก่อสร้างในงวดที่ 3และที่ 4 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้วบางส่วนคิดเป็นเงินได้216,000 บาทเศษ งานที่ค้างคิดเป็นเงิน 545,000 บาทเศษ พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันและเชื่อมโยงกับเอกสารดังกล่าวจำเลยที่ 1 คงนำสืบลอย ๆ ว่างานเสร็จส่งมอบแก่โจทก์แล้วคงค้างเพียงเล็กน้อย แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่าที่ได้ขอให้โจทก์รับมอบงานไปก่อนนั้นเพราะเกี่ยวกับงบประมาณเบิกจ่ายในปีถัดไปเพื่อมิให้เงินงบประมาณข้ามปี ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่างานงวดที่ 3 และที่ 4 ยังคงค้างตามหลักฐานที่โจทก์ตรวจสอบไว้จริงสำหรับสินจ้างที่โจทก์อ้างว่าเพิ่มขึ้นนั้น ปรากฏตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.11 ว่า โจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพนมรุ้งการโยธาทำการก่อสร้างต่อในราคา 1,019,845.18 บาทแต่ก็ปรากฏตามรายงานแยกรายการเอกสารหมาย ป.จ.3 และรายงานสรุปผลการประกวดราคาเอกสารหมาย ป.จ.19 ว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคาค่าก่อสร้างงานงวดที่ 3 และที่ 4 ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งงานปรับปรุงความเสียหายเนื่องจากสภาพใช้ประโยชน์จากคลองไปก่อนและงานปรับปรุงแบบเพิ่มเติมขึ้นจากสัญญาให้งานดีขึ้น ซึ่งงานปรับปรุงความเสียหายเนื่องจากสภาพใช้ประโยชน์จากคลองไปก่อนและงานปรับปรุงแบบเพิ่มเติมขึ้นจากสัญญาให้งานดีขึ้นเป็นราคาค่าก่อสร้างรวมกันไม่น้อยกว่า 198,805 บาท แสดงว่าเฉพาะราคาค่าก่อสร้างงานงวดที่ 3 และที่ 4 ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จเป็นจำนวนเงินต่ำกว่าจำนวนเงิน 1,019,490 บาท อันเป็นสินจ้างที่โจทก์ต้องชำระสำหรับงานงวดที่ 3 และที่ 4 นอกจากนี้ตามรายงานสรุปผลการประกวดราคาเอกสารหมาย ป.จ.19 ก็ระบุเหตุผลในการที่สมควรว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพนมรุ้งการโยธาไว้ข้อหนึ่งว่าเพราะเสนอราคาที่ไม่สูงกว่าราคาที่เคยว่าจ้างก่อสร้างดังนี้จึงฟังได้ว่าสินจ้างสำหรับงานงวดที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เพิ่มขึ้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้
สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าซ่อมแซมงานงวดที่ 1 และที่ 2ที่โจทก์อ้างว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างไว้ชำรุดเสียหายนั้น ตามรายงานแยกรายการเอกสารหมาย ป.จ.3 ข้อ 3 ระบุไว้เพียงว่าเป็นการปรับปรุงความเสียหายเนื่องจากสภาพการใช้ประโยชน์จากคลองไปก่อน ซึ่งไม่แจ้งชัดว่าความเสียหายเกิดจากการก่อสร้างบกพร่องและตามหนังสือทวงถามของโจทก์เอกสารหมาย ป.จ.33 ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเกี่ยวกับงานที่ชำรุดเสียหายแต่อย่างใด คงกล่าวสินจ้างที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับงานงวดที่ 3 และที่ 4 เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า ความเสียหายในส่วนนี้เกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เมื่อฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วกรณีจึงต้องบังคับตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 21 ว่าบรรดางานที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำมาไว้ ณสถานที่ทำงานจ้างนั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทั้งสิ้นโดยจำเลยที่ 1 หามีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใด ๆจากโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 จึงควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามส่วนที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเท่ากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 4ใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 4
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยที่ 4 รับผิดใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยคิดจากทุนทรัพย์ 199,000 บาท เท่าที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 4