คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14926/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กล่าวคือจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานซึ่งเป็นลูกจ้างต้องมีอยู่ครบจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด หาใช่มีอยู่ครบจำนวนเฉพาะในวันยื่นข้อเรียกร้องไม่
ลูกจ้างระดับบังคับบัญชาลาออกจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ คงเหลือลูกจ้างระดับบังคับบัญชาที่เป็นสมาชิกของโจทก์ไม่ถึง 1 ใน 5 ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์และบริษัท อ. ซึ่งเป็นนายจ้าง ข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวจึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่สมาชิกของโจทก์ไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสอง และให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดหรือให้บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนายจ้าง
จำเลยทั้งสิบสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เดิมโจทก์มีสมาชิกตามทะเบียนซึ่งเป็นลูกจ้างระดับบังคับบัญชาในบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนายจ้างจำนวน 72 คน จากจำนวนลูกจ้างระดับบังคับบัญชาทั้งหมด 202 คน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำนวน 7 ข้อ ต่อนายจ้างตามมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ นายจ้างได้รับข้อเรียกร้องแล้วไม่เข้าร่วมเจรจากับตัวแทนเจรจาของโจทก์ ทำให้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น โจทก์แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 22 แต่ไม่อาจตกลงกันได้ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการตรวจหลักฐานทั้งปวงว่าโจทก์มีลูกจ้างเป็นสมาชิกจำนวน 58 คน ครบจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างระดับบังคับบัญชาทั้งหมด โดยมีหนังสือรับรองยืนยันมอบให้นายจ้างผู้ยื่นคำร้องขอให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองแล้วตามหนังสือลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 เป็นกรรมการได้รับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ไว้พิจารณา ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2549 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้แทนเจรจาของโจทก์และกรรมการผู้จัดการของนายจ้างเข้าพบในวันที่ 18 และวันที่ 25 ธันวาคม 2549 ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกกันไว้ว่าไม่มีเอกสารหรือข้อเท็จจริงใดที่จะนำส่งและให้ข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อประกอบการพิจารณาอีก คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงแจ้งว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีการประชุมวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นี้ในวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ต่อมานายสันติ ผู้จัดการแรงงานสัมพันธ์ของนายจ้างส่งสำเนาหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ของลูกจ้างระดับบังคับบัญชาจำนวน 25 คน ให้คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ส่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ประกอบการวินิจฉัย เป็นหนังสือลาออกลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549 ให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 27 ธันวาคม 2549 และมีข้อแม้ว่าหากโจทก์ถอนข้อเรียกร้องภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2549 ก็ให้ยกเลิกการลาออกเหมือนกันทั้ง 25 ฉบับคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับเอกสารแล้วประชุมหารือกันในวันที่ 27 ธันวาคม 2549 เห็นสมควรเสนอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ดังกล่าว เพราะจำนวนสมาชิกของโจทก์เหลือเพียง 33 คน ไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างระดับบังคับบัญชาทั้งหมด ทำให้ข้อเรียกร้องของโจทก์และข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่โจทก์มีสมาชิกไม่ครบจำนวนตามเงื่อนไขของมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 กรรมการจึงมีคำวินิจฉัยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 3/2549 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ว่าข้อเรียกร้องของโจทก์และข้อพิพาทแรงงานสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่สมาชิกของโจทก์ไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ วันที่ 19 มกราคม 2550 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อจำเลยที่ 1 โดยมีข้ออุทธรณ์ด้วยว่าโจทก์ยังไม่ทราบและอนุมัติการลาออกของสมาชิก 25 คน จึงถือว่ายังคงเป็นสมาชิกของโจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 02/2550 ลงวันที่ 29 มกราคม 2550 ว่าตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ 10 (3) กำหนดแต่เพียงว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงด้วยเหตุคือลาออกโดยแจ้งเป็นหนังสือต่อสหภาพแรงงานและการแสดงเจตนาจะมีผลนับแต่วันที่หนังสือลาออกไปถึงสหภาพแรงงานแล้วเท่านั้น ไม่จำต้องมีการพิจารณาอนุมัติการลาออกของสมาชิก การลาออกของสมาชิก 25 คน มีผลแล้ว ทำให้โจทก์มีจำนวนสมาชิกเหลือเพียง 33 คน ไม่ถึง 1 ใน 5 ของลูกจ้างระดับบังคับบัญชาทั้งหมดที่มีจำนวน 202 คน ข้อเรียกร้องของโจทก์จึงสิ้นสภาพลง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ดังกล่าว แล้ววินิจฉัยว่า สภาพของหนังสือลาออกทั้ง 25 ฉบับ ที่นายสันติได้รับเป็นสำเนาทุกฉบับ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับหนังสือลาออกของสมาชิกของโจทก์ทั้ง 25 คน แล้ว การลาออกของสมาชิก 25 คน มีผลแล้วตามข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 10 (3) การที่สมาชิกของโจทก์มีจำนวนลดน้อยลงหลังจากวันที่โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องแทนสมาชิกแล้วแสดงว่าสมาชิกของโจทก์เปลี่ยนแปลงความคิดเห็น ไม่ยินยอมที่จะร่วมในการเรียกร้องของโจทก์อีกต่อไป กรณีต้องถือเอาจำนวนสมาชิกขณะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาข้อเรียกร้องเป็นสำคัญ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ข้อ 3 เฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิในการยื่นข้อเรียกร้องของโจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ว่าถือเอาจำนวนสมาชิกขณะยื่นข้อเรียกร้องหรือขณะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาข้อเรียกร้องเป็นสำคัญ เห็นว่า การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง โดยจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างจะต้องมีอยู่ครบจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด หาใช่มีอยู่ครบจำนวนเฉพาะในวันยื่นข้อเรียกร้องไม่ การที่ลูกจ้างระดับบังคับบัญชาลาออกจากการเป็นสมาชิกของโจทก์มีผลในวันที่ 27 ธันวาคม 2549 คงเหลือจำนวนลูกจ้างระดับบังคับบัญชาที่เป็นสมาชิกของโจทก์ไม่ถึง 1 ใน 5 ตามกฎหมายก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์และบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนายจ้างเสร็จสิ้นนั้น ข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวจึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่สมาชิกของโจทก์ไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่ากรณีนี้ต้องถือเอาจำนวนสมาชิกขณะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาข้อพิพาทแรงงานเป็นสำคัญมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share