คำวินิจฉัยที่ 76/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๖/๒๕๕๕

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๕)

ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นายชัยวัฒน์ พสกภักดี โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๑ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ ที่ ๒ นางต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ ที่ ๓ นางอุไร ร่มโพธิหยก ที่ ๔ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ที่ ๕ พลตำรวจเอก พิชิต ควรเดชะคุปต์ ที่ ๖ พันตำรวจโท ธรรมสาร เทสสิริ ที่ ๗ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่ ๘ นายฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล ที่ ๙ นายวันชัย สุระกุล ที่ ๑๐ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๙๓/๒๕๕๓ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็น นิติบุคคล จำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการและกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๐ เป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อปี ๒๕๔๑ ถึง ๒๕๔๖ โจทก์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๑ ได้ออกระเบียบสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนงานต่าง ๆ ในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๓๓ ข้อที่ ๔.๘ ถึง ๔.๘.๓.๕ กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนงานต่าง ๆ ในฝ่ายการพิมพ์ โดยโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑๐ รองผู้อำนวยการสั่งและทำการแทนผู้อำนวยการในส่วนงานฝ่ายการพิมพ์ ซึ่งฝ่ายการพิมพ์นอกจากพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกประจำงวดแล้วยังรับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ป้องกันการปลอมให้กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ พิมพ์คูปองน้ำมันเร่งด่วน เป็นกรณีพิเศษจำนวน ๓ งวด ฝ่ายการพิมพ์มีหนังสือแจ้งเรื่องรับพิมพ์และราคารับจ้างพิมพ์ แล้วนำไปให้บริษัท เอส.พี.เอ็น จำกัด จัดพิมพ์ โดยฝ่ายการพิมพ์และรองผู้อำนวยการที่ได้รับมอบหมายการทำงานของฝ่ายการพิมพ์ไม่รายงานหรือขออนุมัติการรับพิมพ์งานให้โจทก์ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อเสนอคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลอนุมัติ และในการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่าเป็นการพิมพ์คูปองน้ำมันเร่งด่วนเป็นพิเศษ และไม่ได้แนบเรื่องเดิมหรือชี้แจงถึงเรื่องที่ห้ามนำไปให้บุคคลภายนอกพิมพ์แนบมาด้วย ต่อมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขอให้ตรวจสอบคูปองน้ำมันที่จ้างพิมพ์เนื่องจากจำนวนคูปองที่ส่งไปเรียกเก็บเงินจากกรมการขนส่งทางบกมีหมายเลขกำกับไม่ตรงและเกินกว่าจำนวนคูปองที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดพิมพ์ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถรวบรวมใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินตามมูลค่าคูปองจากกรมการขนส่งทางบกและทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ตรวจสอบและแจ้งให้ทราบว่า คูปองน้ำมันที่ปลอมไม่ได้เกิดจากการพิมพ์ของจำเลยที่ ๑ และโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ทำการปลอมแปลง หรือทุจริต และได้มีคำสั่งร่วมระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ ๑ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าผิดสัญญาจ้างพิมพ์คูปองน้ำมันและละเมิดต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยถูกเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๖๓,๔๗๔,๗๐๐ บาท ผลการตรวจสอบคณะกรรมการมีมติว่าจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแต่ไม่ได้กระทำละเมิด และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมติให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบและให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้ว และได้แจ้งมติและคำสั่งของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามคำสั่งที่ ๑๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ ให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ ๓๐ ของความเสียหาย คิดเป็นเงิน ๔,๗๖๐,๖๐๒.๕๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ ภายใน ๓๐ วัน โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติยกอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ จึงมีหนังสือลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓ แจ้งให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว โจทก์เห็นว่า การพิจารณาของจำเลยทั้งหมดไม่ชอบและไม่ถูกต้องทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษายกเลิกคำสั่งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๑๒ /๒๕๕๒ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่สั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน ๔,๗๖๐,๖๐๒.๕๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑ ชะลอการบังคับคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และพิพากษาว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความ
จำเลยทั้งสิบให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๗ เพราะมิได้ร่วมมีมติในการประชุม สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานรัฐ ตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีอายุความ ๒ ปี การที่จำเลยที่ ๑ เรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงยังไม่ขาดอายุความ ขั้นตอนและกระบวนพิจารณาข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตลอดจนการมีคำสั่งเรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสิบยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การออกคำสั่งหรือการกระทำการอื่นใดโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ไม่มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ มิได้มีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอันจะมีอำนาจในการบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างแต่ประการใด ดังนั้นคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมิใช่คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อีกทั้งมิใช่การกระทำละเมิดตามมาตรา ๘ (๑) (๔) (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ตามลำดับ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ตามนัยมาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๑๙ ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการและกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๐ เป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ จึงเป็นคณะกรรมการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจดูแลครอบคลุมกิจการ วางนโยบายของจำเลยที่ ๑ ด้วย จึงเป็นคดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เนื้อหาตามฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสิบมีมติการประชุมตามคำสั่งที่ ๑๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เรื่อง เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยแจ้งว่าคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ ๓๐ ของความเสียหาย จำนวน ๑๕,๘๖๘,๖๗๕ บาท คิดเป็นเงิน ๔,๗๖๐,๖๐๒.๕๐ บาท โจทก์ฟ้องอ้างว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ มติ คำสั่ง และหนังสือออกมาโดยมิชอบ โจทก์ไม่ได้กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างแรงงานดังที่จำเลยทั้งสิบมีมติ คำสั่ง และหนังสือดังกล่าวซึ่งมีผลเป็นการปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้กระทำการละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างต่อจำเลยทั้งสิบคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบจึงมีลักษณะเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๕) เป็นคดีแรงงาน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ เป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครองดังกล่าวจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนัยมาตราเดียวกัน โดยขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ผู้บริหาร หมายความว่า …ผู้อำนวยการ…” มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจ” และมาตรา ๘ จัตวา วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการทำสัญญาจ้างให้ประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ…เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้าง และให้การจ้างตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน” ดังนั้น เมื่อโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ โดยในการทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ เป็นการว่าจ้างโจทก์ให้บริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบอันเนื่องมาจากกรณีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ได้มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ ๑ กรณีโจทก์กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ในการบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ ให้ความเห็นชอบไม่สั่งระงับการนำงานพิมพ์คูปองน้ำมันเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนไปว่าจ้างโรงพิมพ์ภายนอกพิมพ์อีกทอดหนึ่ง ทำให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและต้องชำระเงินให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พฤติกรรมของโจทก์ถือเป็นการจงใจกระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ จึงมีคำสั่งให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ ๓๐ ของความเสียหายจำนวน ๑๕,๘๖๘,๖๗๕ บาท คิดเป็นเงิน ๔,๗๖๐,๖๐๒.๕๐ บาท ตามนัยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ได้กระทำละเมิด ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ให้จำเลยที่ ๑ ชะลอการบังคับคดีตามคำสั่งที่ให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และพิพากษาว่าหนังสือจำเลยที่ ๒ ที่ สสร.๗๐๐/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓ ที่ให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขาดอายุความเรียกร้องแล้ว คดีนี้จึงมีรูปคดีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่นิติสัมพันธ์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ซึ่งเป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กับโจทก์ซึ่งมิใช่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเพื่อให้โจทก์เข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานในการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายมหาชน ประกอบกับมาตรา ๘ จัตวา วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้กำหนดให้การจ้างตามสัญญาจ้างดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โจทก์จึงมิได้มีฐานะเป็นลูกจ้างและจำเลยทั้งสิบมิได้มีฐานะเป็นนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน ดังนั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เป็นคดีพิพาทซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าโจทก์กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ ไม่สั่งระงับการนำงานพิมพ์คูปองน้ำมันเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนไปว่าจ้างโรงพิมพ์ภายนอกพิมพ์อีกทอดหนึ่ง ทำให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้าง การจะพิจารณาเรื่องอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องพิจารณาลักษณะของนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบเป็นสำคัญ เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ผู้บริหาร หมายความว่า …ผู้อำนวยการ…” มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจ” และมาตรา ๘ จัตวา วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการทำสัญญาจ้างให้ประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ…เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้าง และให้การจ้างตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน” ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานหรือเป็นสัญญาประเภทอื่น เพียงแต่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไปเท่านั้น มิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้และมีผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นการตอบแทนให้นั้นไม่เป็นการจ้างแรงงาน การจะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนเป็นสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ ๑๖๙/๒๕๔๑ เรื่องแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๑ ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพนักงานระดับ ๑๑ โดยให้ได้รับเงินเดือนขั้น ๕๒,๙๐๐ บาท นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเรื่องของการที่มีผู้ทำงานให้โดยได้รับค่าจ้างในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ทั้งการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของโจทก์ก็เป็นอยู่ก่อนที่จะบังคับใช้พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ โจทก์จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่กำหนดบทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ส่วนคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ภายใต้ข้อบังคับ และระเบียบที่กำหนดความสัมพันธ์หรือสภาพการจ้างระหว่างกันด้วย เมื่อเหตุแห่งการฟ้องสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ระมัดระวังทำให้จำเลยที่ ๑ เสียหาย คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบจึงมีลักษณะเป็นคดีอันเกิดจากการทำงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๕) เป็นคดีแรงงาน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแรงงานและเป็นข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายชัยวัฒน์ พสกภักดี โจทก์ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ ๑ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ ที่ ๒ นางต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ ที่ ๓ นางอุไร ร่มโพธิหยก ที่ ๔ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ที่ ๕ พลตำรวจเอก พิชิต ควรเดชะคุปต์ ที่ ๖ พันตำรวจโท ธรรมสาร เทสสิริ ที่ ๗ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่ ๘ นายฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล ที่ ๙ นายวันชัย สุระกุล ที่ ๑๐ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share