แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๑/๒๕๕๕
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดจันทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดจันทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ นาวาอากาศเอกหญิง ศศินภิส แจ่มถาวร ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวสมจิตต์ สุวรรณวงษ์ ผู้ตาย โจทก์ ยื่นฟ้องคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัดจันทบุรี ที่ ๑ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ ๒ สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๓ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๔ ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่ ๕ กรมธนารักษ์ ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๔๘/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์เป็นผู้รับและผู้จัดการมรดกของนางสาวสมจิตต์ สุวรรณวงษ์ ผู้ตาย ซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๐ และเลขที่ ๒๑ หมู่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน และ ๓ ไร่ ๘๐ ตารางวา ตามลำดับ โดยรับมรดกตกทอดมาจากบิดาซึ่งแจ้งการครอบครองมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๕ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๖ ยื่นคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี และเสนอจำเลยที่ ๑ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ อยู่ใต้บังคับของจำเลยที่ ๓ ที่อยู่ในสังกัดของจำเลยที่ ๔ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีมีหนังสือแจ้งคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบพร้อมคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี ที่ ๒๕/๒๕๕๓ และที่ ๒๖/๒๕๕๓ เรื่อง โต้แย้งสิทธิในที่ดินขอรังวัดออกโฉนด การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากสำนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันเพิกถอนการคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งทางราชการใช้เป็นสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า อันเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่มีสิทธินำมาขอรังวัดออกโฉนด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ในทางราชการว่า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดจันทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๕ คัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของฝ่ายปกครองก็ตาม แต่การที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทนางสาวสมจิตต์ สุวรรณวงษ์ ผู้ตาย เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ซึ่งจำเลยทั้งหกก็ให้การโต้แย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน นางสาวสมจิตต์ไม่มีสิทธิครอบครอง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งหกเพิกถอนการคัดค้านการรังวัดขอออก โฉนดที่ดินพิพาทตามคำขอได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า นางสาวสมจิตต์เป็นผู้มี สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งหกอ้างว่า จำเลยทั้งหกกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดต่อโจทก์ สืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐานตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๐ และเลขที่ ๒๑ หมู่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี แต่จำเลยที่ ๕ ได้คัดค้านการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี อ้างว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินที่ทางราชการใช้เป็นสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ และประธานอนุกรรมการของจำเลยที่ ๑ แจ้งมติที่ประชุมของจำเลยที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เกี่ยวกับการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีทราบและดำเนินการต่อไป จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันเพิกถอนการคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดิน และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทกันว่าการที่จำเลยที่ ๕ คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ราชพัสดุที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ประธานอนุกรรมการของจำเลยที่ ๑ แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดินในที่ราชพัสดุให้สำนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีทราบเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองและดูแลที่ราชพัสดุและการแก้ไขปัญหาและป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับโดยสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งหกกระทำการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนสิทธิครอบครองในที่ดินของโจทก์และให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) รวมถึงการสั่งให้จำเลยทั้งหกถือปฏิบัติต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งนี้ แม้ในการวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งหกดังกล่าว ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุตามมติของจำเลยที่ ๑ และตามคำคัดค้านของจำเลยที่ ๕ หรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงประเด็นหนึ่งและปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในข้อหาว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น ประเด็นข้อเท็จจริงที่ศาลต้องแสวงหาข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงหาได้มีผลทำให้ข้อพิพาทในคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามศาลปกครองดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน หรือห้ามนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีหรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใด ที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับจำเลยทั้งหก ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมิใช่เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่กฎหมายกำหนด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทระหว่างผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินด้วยกันเองดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ เป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับและผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน ส.ค. ๑ จำนวน ๒ แปลง ตั้งอยู่ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี โดยรับมรดกตกทอดมาจากบิดาซึ่งแจ้งการครอบครองมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ถูกจำเลยที่ ๕ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๖ ยื่นคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี และเสนอจำเลยที่ ๑ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ อยู่ใต้บังคับของจำเลยที่ ๓ ที่อยู่ในสังกัดของจำเลยที่ ๔ เป็นเหตุให้สำนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันเพิกถอนการคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยทั้งหกให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งทางราชการใช้เป็นสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า อันเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่มีสิทธินำมาขอรังวัดออกโฉนด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทนางสาวสมจิตต์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนาวาอากาศเอกหญิง ศศินภิส แจ่มถาวร ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวสมจิตต์ สุวรรณวงษ์ ผู้ตาย โจทก์ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัดจันทบุรี ที่ ๑ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ ๒ สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๓ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๔ ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่ ๕ กรมธนารักษ์ ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ