คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3808/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เสาไม้ของกลางเป็นไม้ที่มีการตกแต่ง ขัดมัน ทาแล็กเกอร์อย่างปราณีต มุ่งจะเอาไปใช้เป็นของโชว์เพื่อความสวยงามในห้องรับแขกตามประเพณีนิยมของชาวญี่ปุ่นหากจะนำไม้ของกลางไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ถือได้ว่าไม้ของกลางเป็นเครื่องใช้หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูป มิใช่อยู่ในลักษณะอำพรางว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสิ่งประดิษฐ์ ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดในบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม การมีไม้ของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่มีความผิดฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครอง และจำเลยสามารถนำส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรขาออก การที่จำเลยสำแดงใบขนส่งสินค้าขาออกว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ จึงไม่เป็นการสำแดงเท็จ แม้จำเลยจะสำแดงรายการและชนิดของไม้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช้ข้อสำคัญ เพราะจำเลยไม่ต้องเสียภาษีอากรขาออกสำหรับไม้ดังกล่าวอยู่แล้ว
จำเลยกระทำความผิดก่อนที่กฎหมายซึ่งให้แก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้น จะมีผลบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิดและมิได้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จะนำมาปรับบทลงโทษจำเลยหาได้ไม่ และที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยที่1 ก็เกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาศาลฎีกา ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม มีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการ จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสิ่งประดิษฐ์ซึ่งทำด้วยไม้หวงห้าม เคลื่อนที่จากสถานการค้าไปยังสถานีรถไฟ โดยจำเลยไม่ทำหนังสือกำกับสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้หวงหามประเภท ก.ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองร่วมกันยื่นใบขนสินค้าขาออก โดยสำแดงชนิดของของว่า เสาไม้จำนวน ๓๐๖ ท่อน เป็นของที่ได้รับการยกเว้นอากรและไม่ใช่ของต้องห้ามต้องจำกัด ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะเสาไม้ดังกล่าวจะต้องเสียอากรขาออกตามกฎหมาย เป็นการสำแดงเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรขาออกโดยมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีรัฐบาลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๕๑, ๕๘, ๕๓ ทวิ, ๗๒, ๗๓ ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๙๙ ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมาย และขอให้นับโทษต่อ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานนำสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามเคลื่อนที่ออกจากโรงงานโดยไม่มีหนังสือกำกับสิ่งประดิษฐ์ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๓, ๗๘ ทวิ จำเลยที่ ๑ ให้ลงโทษปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๖ เดือนและปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท กับมีความผิดฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในความครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ มาตรา ๔๘, ๕๑, ๗๒ ทวิ จำเลยที่ ๑ ให้ลงโทษปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ จำคุก ๖ เดือนและปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท มีผิดฐานสำแดงรายการในใบขนสินค้าขาออกเป็นความเท็จ และส่งไม้ที่ยังมิได้เสียภาษีออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ มาตรา ๒๗, ๙๙ ปรับจำเลยทั้งสองคนละ ๙๙๓,๑๙๕.๖๖ บาท ให้ปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน ๑,๙๘๖,๓๙๑.๓๒ บาท หรือปรับคนละ ๙๙๓,๑๙๕.๖๖บาท รวมโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑,๐๕๓,๑๙๕.๖๖ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด๑ ปี และปรับ ๑,๐๓๓,๑๙๕.๖๖ บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้รอไว้ ๒ ปี ริบไม้ของกลางและให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม้ของกลางเป็นสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปจำเลยมีไว้ในครอบครองไม่เป็นความผิดฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองและสามารถส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรขาออกและไม่เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานนำสิ่งประดิษฐ์ซึ่งทำด้วยไม้หวงห้ามเคลื่อนที่จากโรงงานของจำเลยโดยไม่มีหนังสือกำกับสิ่งประดิษฐ์ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๘, ๗๓ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๓, ๒๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ ปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ เดือนและปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี คำขออื่นให้ยก ของกลางให้คืนจำเลยที่ ๑
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ไม้ของกลางเป็นเสาไม้สี่เหลี่ยมด้านเท่า ส่วนหัวและท้ายเสายังเป็นสี่เหลี่ยมทุกด้าน ตรงกลางแกะสลักเป็นลวดลายมีลักษณะเป็นปุ่ม ๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง เซาะร่องกดไปกดมาตามความยาวของเสา แล้วทาแลกเกอร์ขัดมันด้านที่อยู่ตรงกันข้ามกับด้านที่แกะสลักมีการเซาะร่องตรงกึ่งกลางตลอดความยาวของเสาและทาแลกเกอร์ด้าน ส่วนไม้ของกลางอีกพวกหนึ่งเป็นเสาสี่เหลี่ยมด้านเท่ามีการลบเหลี่ยมลงไปเล็กน้อย ทุกด้านไสกบไว้เรียบไม่มีการแกะสลัก ทาแลกเกอร์มันไว้ ๓ ด้าน อีกด้านหนึ่งทาแลกเกอร์ด้าน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ไม้ของกลางในคดีนี้ทั้งหมดเป็นไม้ที่มีการตกแต่งขัดมัน ทาแลกเกอร์อย่างประณีต หาใช่ไม้ที่ไสอย่างหยาบ ๆ หรือทาน้ำมันพอเป็นพิธีและเป็นไม้ที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน ซึ่งจัดทำขึ้นตามความต้องการของลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นที่มุ่งจะเอาไปใช้เป็นของโชว์เพื่อความสวยงามในห้องรับแขกหากจะมีการนำไม้ของกลางชนิดนี้ไปแปรสภาพไปใช้ในกิจการอย่างอื่น ย่อมจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ฉะนั้นจึงถือได้ว่าไม้ของกลางเป็นเครื่องใช้หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูป หาใช่อยู่ในลักษณะอำพรางว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดในบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม การมีไม้ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงไม่มีความผิดฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองและจำเลยสามารถนำส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรขาออก การที่จำเลยสำแดงใบขนสินค้าขาออกว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์จึงไม่เป็นการสำแดงเท็จ แม้จำเลยสำแดงรายการชนิดของไม้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะถึงอย่างไร จำเลยก็ไม่ต้องเสียภาษีอากรขาออกอยู่ดี การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ มาตามคำขอของโจทก์นั้น ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดคดีนี้เมื่อระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ ถึงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ เวลากลางวัน อันเป็นวันเวลาก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา ๗๓ ทวิ ก่อนที่จะมีการแก้ไข มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท ส่วนพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ ได้มีการแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้น เป็นโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด และมิได้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองจะนำมาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองหาได้ไม่ และปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นการเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ และปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๘, ๗๓ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๓, ๒๗ ให้ปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ เดือน และปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share