คำวินิจฉัยที่ 72/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่ายื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง กรณีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งเจ็ดใช้สิทธิทางศาลเพื่อคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มิฉะนั้นจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครองทำประโยชน์อยู่เพิ่มเข้าไปเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนสีบูสาธารณประโยชน์” ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท แต่ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งนายอำเภอได้ยื่นขอรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนสีบูสาธารณประโยชน์” เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๒/๒๕๕๗

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอำนาจเจริญ
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอำนาจเจริญส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายสำลี จำปาตูม ที่ ๑ นายสมบูรณ์ ทานะขันธ์ ที่ ๒ นายบัวทอง ทานะขันธ์ ที่ ๓ นายสม บุญรุ่ง ที่ ๔ นางศรีแพร โพศาราช ที่ ๕ นายบุญมี ปรากฏ ที่ ๖ นายบัน ปรากฏ ที่ ๗ โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๐๕/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่าตั้งอยู่ตำบลแมด อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ แต่ประมาณปี ๒๕๕๕ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งเจ็ดใช้สิทธิทางศาลเพื่อคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มิฉะนั้น สำนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครองทำประโยชน์อยู่เพิ่มเข้าไปเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนสีบูสาธารณประโยชน์” อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ด ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ด และโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แต่ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งนายอำเภอได้ยื่นขอรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนสีบูสาธารณประโยชน์” โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดอำนาจเจริญพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าทับที่ดินของตนอันเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของจำเลย แต่การที่ศาลจะพิพากษาห้ามออกหนังสือ สำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อฝ่ายโจทก์ได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินมือเปล่าของโจทก์ทั้งเจ็ดหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งจำเลยโต้แย้งเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของสำนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองเพื่อนำไปสู่การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่ขั้นตอนดังกล่าวก็เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง และหากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญในการรังวัด ตลอดจนดำเนินการประกาศการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงส่งผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองดังกล่าวของสำนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยได้ และในกรณีที่มีผู้คัดค้านการรังวัดการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้น กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๑) กำหนดให้ผู้คัดค้านมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงก่อน กรณีตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งเจ็ดโดยสั่งให้จำเลยงดเว้นการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงพิพาท และผลของการออกคำบังคับดังกล่าวมีผลทำให้จำเลยไม่อาจเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนประเด็นปัญหาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาคดีที่แม้จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และไม่มีกฎหมายห้ามศาลปกครองมิให้นำบทกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่คดีหรือมีกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้บทบัญญัติมาตรา ๗๑ (๔) บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยกล่าวอ้างและโต้แย้งกันสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่า ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งเจ็ดใช้สิทธิทางศาลเพื่อคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มิฉะนั้น สำนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครองทำประโยชน์อยู่เพิ่มเข้าไปเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนสีบูสาธารณประโยชน์” ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท แต่ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งนายอำเภอได้ยื่นขอรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนสีบูสาธารณประโยชน์” เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสำลี จำปาตูม ที่ ๑ นายสมบูรณ์ ทานะขันธ์ ที่ ๒ นายบัวทอง ทานะขันธ์ ที่ ๓ นายสม บุญรุ่ง ที่ ๔ นางศรีแพร โพศาราช ที่ ๕ นายบุญมี ปรากฏ ที่ ๖ นายบัน ปรากฏ ที่ ๗ โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share