คำวินิจฉัยที่ 68/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๖๘/๒๕๕๕

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕

เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม

ศาลแขวงพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงพิษณุโลกส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ นางสาววชิรา ทับทองหลาง โจทก์ ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ที่ ๑ นายสมพง วรรณโส ที่ ๒ นายพุทธพงษ์ โฉมแดง ที่ ๓ นายรณชิต โฉมแดง ที่ ๔ นายวีระศักดิ์ เปลี่ยมทรัพย์ ที่ ๕ นายจรัญ ดีเหม็น ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลแขวงพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๒๓๙๙/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างจดทะเบียนพาณิชย์ชื่อ “ร้านรวยนิรันดร์วัสดุก่อสร้าง” ตั้งอยู่ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มีกองประปาเป็นหน่วยงานภายใน มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการกองการประปา และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นพนักงาน และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งกองการประปาดังกล่าวเป็นผู้เคยค้ากับโจทก์ โดยเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ กองการประปา โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ได้สั่งซื้อสินค้าและอุปกรณ์การก่อสร้างประเภทหิน ทราย ท่อประปา และอื่น ๆ หลายรายการไปจากโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๑๐,๙๒๗ บาท ตามวิธีการที่เคยปฏิบัติต่อกันมา การส่งสินค้ามีทั้งโจทก์นำไปส่งให้จำเลยที่ ๑ ที่กองการประปาที่ทำการของจำเลยที่ ๑ และบางครั้งจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ และตัวแทนจำเลยที่ ๑ มารับที่ร้านของโจทก์ หลังซื้อสินค้าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ทำการเบิกจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถาม จำเลยที่ ๑ แจ้งว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๔๑,๒๔๗.๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๑๐,๙๒๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๑ และวิธีปฏิบัติที่จำเลยที่ ๑ เคยสั่งซื้อจากโจทก์มีเพียงวิธีตกลงราคา ซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุทุกประการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และขาดอายุความ และการที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกนำสินค้าที่สั่งซื้อไปใช้ในวัตถุประสงค์กองการประปา จึงเป็นการฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เกี่ยวกับสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เพราะสินค้าที่จำเลยที่ ๑ นำไปใช้ในการทำการประปา ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ สั่งซื้อสินค้าในนามตัวแทนของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชำระราคาให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ทราบดี และปฏิบัติต่อกันเช่นนี้เรื่อยมา และเป็นสัญญาสัมปทาน คดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ไปตามหน้าที่ของตน จึงไม่ต้องรับผิดส่วนตัว คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๕ คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแขวงพิษณุโลกสั่งให้โจทก์ทำคำชี้แจงในประเด็นที่จำเลยที่ ๑ ได้ให้การว่า คดีนี้ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพิษณุโลก แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙
โจทก์ทำคำชี้แจงเรื่องเขตอำนาจศาลว่า ฟ้องโจทก์มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะเป็นการฟ้องว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาซื้อขายที่คู่สัญญามุ่งผูกพันกันบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน ไม่ใช่สัญญาจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่วัตถุประสงค์ของสัญญาก็เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ที่นำไปใช้ในหน่วยงานของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาเข้าดำเนินกิจการหรือเข้าร่วมบริการสาธารณะโดยตรง สัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาทางปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงพิษณุโลกที่จะรับไว้พิจารณาได้
โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ศาลแขวงพิษณุโลกอนุญาต
ศาลแขวงพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ จะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงคำฟ้องคำให้การของคู่ความแล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างไปจากโจทก์หลายรายการแล้วไม่ชำระราคา ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธว่า ไม่เคยซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ และจำเลยที่ ๒ จะสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หรือไม่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้ว่า สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดส่วนตัว ดังนี้ รูปแบบและวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นเพียงสัญญาที่คู่สัญญาในฐานะที่เท่าเทียมกัน แสดงเจตนาโดยสมัครใจซื้อขายระหว่างกัน จึงเป็นสัญญาในทางแพ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างเท่านั้น ไม่มีลักษณะว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายต้องเข้าดำเนินการติดตั้งและหรือก่อสร้างงานตามรายการวัสดุที่ขายให้ฝ่ายจำเลยด้วยไม่ จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา ๗๐ (๒) และมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบกับมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะในเขตเทศบาลให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการดำเนินการเกี่ยวกับการประปา เพื่อให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ประชาชนในเขตท้องถิ่น เป็นภารกิจบริการสาธารณะตามกฎหมายประการหนึ่งที่จำเลยที่ ๑ มีอำนาจและหน้าที่ต้องดำเนินการ ตามมาตรา ๕๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๔) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ทำการสั่งซื้อสินค้าวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างประเภทหิน ทราย ท่อประปาและอื่น ๆ จากโจทก์ เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคสำหรับจัดให้มีน้ำสะอาดหรือดำเนินการเกี่ยวกับการประปาเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในเขตเทศบาล สัญญาดังกล่าวมีจำเลยที่ ๑ เป็นคู่สัญญาที่เป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นสัญญาที่จำเลยที่ ๑ ได้ซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคสำหรับจัดให้มีน้ำสะอาดหรือดำเนินการเกี่ยวกับการประปาเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในเขตเทศบาล อันเป็นภารกิจการดำเนินกิจการทางปกครองตามกฎหมายที่จำเลยที่ ๑ ต้องดำเนินการตามมาตรา ๕๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๔) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งหากไม่มีวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวย่อมไม่อาจดำเนินกิจการทางปกครองให้บรรลุผลได้อย่างแน่แท้ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดหาหรือจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็นเพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง
อีกทั้งสัญญาดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นสัญญาที่จำเลยที่ ๑ ใช้เอกสิทธิ์ของรัฐในการกำหนดข้อตกลงของสัญญาโดยวิธีตกลงราคาซื้อขายแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยการอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ ออกคำสั่งทางปกครองหรือดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ที่เป็นข้อตกลงของสัญญา ไม่ว่าจะในเรื่องของการกำหนดคุณสมบัติคู่สัญญา วิธีการเลือกคู่สัญญา การมีคำสั่งรับคำเสนอราคาของคู่สัญญา การควบคุมการปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขสัญญาและการบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่อาจกำหนดเปลี่ยนแปลง หรือปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวในประการใดได้เลย อันแสดงให้เห็นถึงข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงเอกสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหน่วยงานทางปกครองที่มีเหนือโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองของจำเลยที่ ๑ การจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคสำหรับจัดให้มีน้ำสะอาดหรือดำเนินการเกี่ยวกับการประปาเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล อันเป็นลักษณะพิเศษของสัญญาทางปกครองที่ไม่อาจพบได้ในสัญญาทางแพ่ง ซึ่งจะยึดหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาในการกำหนดข้อตกลงของสัญญาเป็นสำคัญ สัญญาซื้อวัสดุและอุปกรณ์สำหรับจัดให้มีน้ำสะอาดหรือดำเนินการเกี่ยวกับการประปาเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในเขตเทศบาลดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคสำหรับจัดให้มีน้ำสะอาดหรือดำเนินการเกี่ยวกับการประปา เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในเขตเทศบาลระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารราคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
อย่างไรก็ดี ศาลปกครองพิษณุโลกมีข้อสังเกตเพิ่มเติมในคดีนี้ว่า จำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การโดยมิได้จัดทำคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ไม่ใช่เห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลตน เมื่อคดีนี้ศาลแขวงพิษณุโลกซึ่งเป็นศาลที่ส่งความเห็น เห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน กรณีจึงไม่อาจถือว่าเป็นการทำความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในกรณีที่ศาลเห็นเอง ตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่นกัน ทั้งนี้ ตาม คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (คำสั่ง) ที่ ๔๗/๒๕๕๓

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้าง กองการประปาโดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ได้สั่งซื้อสินค้าและอุปกรณ์การก่อสร้างประเภทหิน ทราย ท่อประปา และอื่น ๆ หลายรายการไปจากโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๑ ไม่ทำการเบิกจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ อ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การว่า เป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลแขวงพิษณุโลกจัดทำความเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของตนแล้วส่งให้ศาลปกครองจัดทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจศาลเช่นกัน เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม การโต้แย้งอำนาจศาลจึงต้องทำเป็นคำร้อง แต่การโต้แย้งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การซึ่งเป็นเพียงข้อต่อสู้คดีเท่านั้น โดยไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ จึงเป็นการโต้แย้งอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งการที่ศาลจะทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็นตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการที่คู่ความยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งเสียก่อน ส่วนในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้อนุโลมตามมาตรา ๑๐ ซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น มิใช่เห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของตนเอง เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมิใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น จึงถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ชอบที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องกรณีระหว่างศาลแขวงพิษณุโลกและศาลปกครองพิษณุโลก ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์และจำเลยทั้งหกในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share