คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเงินรายได้ของหน่วยราชการที่ตน สังกัด แต่มิได้นำเงินนั้นส่งคลังตามระเบียบซึ่งตามปกติจะต้องนำเงินส่งคลังในวันเดียวกันกับวันที่ได้รับเงินไว้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ให้นำส่งคลังในวันรุ่งขึ้นถัด ไปที่เป็นวันทำการทั้งจำเลยมิได้ลงบัญชีรับเงินไว้เป็นหลักฐาน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมเจ้าสังกัดตรวจพบการกระทำของจำเลยเป็นเวลาถึง5 เดือนเศษ จำเลยจึงได้นำเงินส่งครบถ้วนนั้น นับว่าคดีมีเหตุผลเชื่อ ได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงดทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 147,157
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ให้จำคุก 5 ปี จำเลยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด นำเงิน 17,773 บาท ส่งคืนคลังจึงลงโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกไว้ 3 ปี 4 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22เมษายน 2524 จำเลยได้รับเงินค่าขายทรัพย์สินของนิคมโรคเรื้อนแพร่งขาหยั่งซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของศูนย์โรคเรื้อน เขต 2จังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 17,773 บาท วันที่ 20 ตุลาคม 2524มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมเจ้าสังกัดมาตรวจสอบการเงินและบัญชีที่ศูนย์แห่งนี้ ต่อมาวันรุ่งขึ้น จำเลยนำเงินรายได้ส่งคลังครบถ้วน ปัญหาตามที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง นั้น เห็นว่า จำเลยยอมรับว่า จำเลยรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำอยู่ที่ศูนย์โรคเรื้อน เขต 2 จังหวัดชลบุรี กองโรคเรื้อนกรมควบคุมโรคติดต่อ คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฎิบัติหน้าที่รับเงินรายได้ต่าง ๆ ของศูนย์ดังกล่าว โจทก์มีนายเสถียร โยวะผุย พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ด้รับคำสั่งจากกรมเจ้าสังกัดให้ตรวจสอบเกี่ยวกับเงินรายได้ของศูนย์โรคเรื้อนแห่งนี้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2524พยานให้จำเลยนำหลักฐานเกี่ยวกับการนำเงินรายได้ส่งคลังมาให้ดูจำเลยนำมาให้ดูได้เพียงบางส่วนโดยจำเลยอ้างว่า ยังหาส่วนที่ขาดไปไม่พบ จึงเลิกตรวจสอบ แจ้งให้จำเลยรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ให้ครบแล้วชี้แจงให้ทราบ วันที่ 21 เดือนเดียวกัน พยานให้ตรวจสอบเรื่องเงินค่าขายทรัพย์สินของนิคมโรคเรื้อนแพร่งขาหยั่ง ปรากฏว่าทางนิคมแห่งนี้ ได้ส่งเงินรายได้ค่าขายทรัพย์สินของนิคมไปให้ศูนย์โรคเรื้อน เขต 2 จังหวัดชลบุรี ครบถ้วนแล้ว ต่อมากรมเจ้าสังกัดทราบเรื่องราวการตรวจสอบดังกล่าวก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำเลยทางวินัย นางมานิดา อุ่นจัตตุรพร พยานโจทก์ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่แห่งเดียวกับจำเลยและได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรักษาเงินของศูนย์แห่งนี้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20ตุลาคม 2524 มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมเจ้าสังกัดมาตรวจสอบการเงินของศูนย์ แต่พยานไม่ทราบผลการตรวจสอบ เพราะไปธุระนอกที่ทำงาน พยานได้ทราบในเวลาต่อมา เงินค่าขายทรัพย์สินขาดหายไปจากบัญชี 17,000 บาทเศษ ตามปกติเงินรายได้ของศูนย์นั้นหากไม่สามารถนำส่งคลังได้ทันในวันนั้น ก็ต้องนำมอบให้กรรมการรักษาเงินเก็บไว้ นายสาคร รายณะสุข พยานโจทก์ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นประธานกรรมการสอบสวนจำเลยในเรื่องที่ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับเงินรายได้ของศูนย์แห่งนี้เบิกความว่า นายเสถียรตรวจสอบ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2524พบว่าจำเลยได้รับเงินรายได้พิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2524จำเลยเพิ่งนำเงินส่งคลังเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2524 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีมีหน้าที่รับเงินรายได้แล้วต้องดำเนินการนำส่งคลังทันที เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเป็นวันหยุดราชการก็ให้นำส่งคลังในวันรุ่งขึ้นถัดไปซึ่งเป็นวันทำการ จำเลยให้การว่าเก็บเงินไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานแล้วหลงลืมนำส่งคลัง แต่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการปรากฏว่า จำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ส่วนจำเลยนำสืบพัวพันความข้อนี้เข้ามาว่าจำเลยไม่ได้นำเงินรายได้ตามฟ้องลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน จำเลยเพิ่งนึกได้ว่ายังมิได้นำเงินรายได้ส่งคลังในวันที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมมาตรวจสอบการเงินที่ศูนย์ จากข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานโจทก์จำเลยดังกล่าวทำให้เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยนำเงินส่งคลังภายหลังจากกรมเจ้าสังกัดตรวจสอบหลักฐานพบว่า จำเลยเป็นผู้รับเงินรายได้ตามฟ้องไว้ แต่มิได้นำเงินส่งคลังฉะนั้น เมื่อคำนึงถึงจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเงินรายได้ของหน่วยราชการที่ตนสังกัด แต่มิได้นำเงินนั้นส่งคลังตามระเบียบซึ่งตามปกติจะต้องนำส่งคลังในวันเดียวกันกับวันที่ได้รับเงินไว้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ให้นำส่งคลังในวันรุ่งขึ้นถัดไปที่เป็นวันทำการทั้งจำเลยมิได้ลงบัญชีรับเงินไว้เป็นหลักฐานจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมเจ้าสังกัดตรวจพบการกระทำของจำเลยเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษ จำเลยจึงได้นำเงินส่งครบถ้วนนั้น นับว่า คดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้ว ด้วยเหตุผลตามที่ได้วินิจฉัยมา เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยกระทำความผิดและใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยมาชอบด้วยรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share