แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๐/๒๕๕๔
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นายวุฒิวัฒน์ โชคธัญพิพัฒน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทลิงเค็น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ ๑ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ กรุงเทพมหานคร ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๓๘๕/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โจทก์ขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน ปลต ๒๒๘ กรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางถนนพระราม ๖ มุ่งหน้าสี่แยกตึกชัย โดยขับในช่องทางที่ ๑ จากด้านซ้ายและใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อถึงบริเวณด้านหน้าสถานที่ก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับขี่มาได้ตกหลุมที่จำเลยที่ ๑ ผู้รับจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ผู้ว่าจ้างหรือตัวการ และจำเลยที่ ๓ ผู้อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ขุดก่อสร้างวางท่อร้อยสายเคเบิลหรือสายใต้ดินโดยจำเลยที่ ๑ กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือเมื่อจำเลยที่ ๑ ทำการวางท่อร้อยสายเคเบิลหรือสายใต้ดินเสร็จ จำเลยที่ ๑ ต้องตรวจสอบว่าสภาพผิวจราจรในช่องทางเดินรถช่องที่ ๑ อยู่ในสภาพใช้งานได้เป็นปกติหรือไม่ แต่จำเลยที่ ๑ ก็ไม่ดำเนินการ ทำให้บริเวณพื้นผิวจราจรช่องทางเดินดังกล่าวชำรุดเป็นหลุม และเมื่อจำเลยที่ ๑ ได้ทำงานตามที่จำเลยที่ ๒ ว่าจ้างเสร็จสิ้น จำเลยที่ ๒ ผู้ว่าจ้างหรือตัวการก็ต้องไปตรวจผิวจราจรว่าจำเลยที่ ๑ ได้ปรับสภาพผิวจราจรให้เป็นปกติตามเดิมหรือไม่ และจำเลยที่ ๓ ผู้อนุญาตให้ขุดวางท่อร้อยสายเคเบิลหรือสายใต้ดินก็ต้องตรวจผิวจราจรว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ปรับสภาพพื้นผิวจราจรตรงบริเวณที่เกิดเหตุให้เป็นปกติตามเดิมหรือไม่เช่นกัน แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก็ไม่ดำเนินการ การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวทำให้โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ตกหลุมที่จำเลยที่ ๑ ขุดไว้ เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับขี่มาพลิกคว่ำและโจทก์ได้รับอันตรายแก่กาย บาดเจ็บสาหัสต้องเสียดวงตา ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพตามที่ได้ศึกษามา และป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา ใบหน้าเสียโฉม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน ๗,๒๑๙,๐๑๒.๑๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖,๗๑๖,๖๔๔ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ รับจ้างเหมางานปรับปรุงวางท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินกับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ ได้ทำงานเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบงานแล้วเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑ ก่อนส่งมอบงานเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ได้ซ่อมผิวจราจร อยู่ในสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ปรับปรุงวางท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดิน จำเลยที่ ๒ ตรวจพื้นผิวจราจรแล้วเห็นว่าจำเลยที่ ๑ ปรับสภาพผิวจราจรให้เป็นไปตามปกติเรียบร้อย รถทุกชนิดได้ใช้สัญจรไปมาอย่างสะดวกตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดทำให้เสียหลักล้มไปเอง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การที่โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตกหลุมตามฟ้องเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ถนนบริเวณที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นสถานที่เกิดเหตุและวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผิวจราจรอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ จำเลยที่ ๓ ได้ตรวจสอบการก่อสร้างร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แล้วก็ปรากฏว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาตครบถ้วน จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และคำฟ้องคดีนี้เป็นคำฟ้องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มูลคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำคู่ความแล้วคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๑ และจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคตามฟ้องและจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ค่าเสียหายโจทก์มีหรือไม่ เพียงใด การจะพิจารณาข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องพิจารณาไปตาม ลำดับว่า จำเลยที่ ๑ ผู้รับจ้างได้ขุดหลุมตรงที่เกิดเหตุตามฟ้องแล้วไม่ได้ปรับผิวจราจรให้ใช้งานได้ตามปกติอันเป็นการประมาทเลินเล่อหรือไม่ โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามเส้นทางตามฟ้องโดยประมาทเลินเล่อหรือมีส่วนประมาทเลินเล่อหรือไม่ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ใช้หรือตัวการของจำเลยที่ ๑ และจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หรือไม่ จึงต้องพิจารณาลักษณะ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และการกระทำของโจทก์เป็นหลักซึ่งลักษณะการกระทำของจำเลยที่ ๑ และการกระทำของโจทก์เป็นลักษณะการกระทำทางกายภาพ แม้การก่อสร้างวางท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินจะเป็นการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค แต่ก็เป็นการจ้างเพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง มิใช่ลักษณะการสัมปทาน ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์จะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า จำเลยที่ ๑ ได้กระทำขุดปรับปรุงท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินแล้วไม่ปรับผิวจราจรให้ใช้งานได้ตามปกติและเป็นการประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ หรือการที่โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์พลิกคว่ำเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ การพิจารณาประเด็นแห่งคดีที่พิพาทจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองก่อนเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อพิพาทที่เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองนั้น จะมีองค์ประกอบสำคัญ ๒ ประการ ประการแรกคู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประการที่สองการกระทำอันเป็นเหตุพิพาทต้องเป็นการกระทำอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินการทางปกครอง จำเลยที่ ๓ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๒ เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ มีชื่อเรียกว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน รวมทั้งดำเนินกิจการอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกัน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้รับสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ บรรดาที่กฎหมายให้ไว้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลขในส่วนที่ว่าด้วยการให้บริการและการปฏิบัติด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคมตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ และพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ให้คงใช้บังคับต่อไปเมื่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้แปรสภาพนิติบุคคลเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๖ และโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดไปเป็นของจำเลยที่ ๒ และมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจำกัดอำนาจ สิทธิ หรือประโยชน์ที่จำเลยที่ ๒ ได้รับโอนมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย อำนาจทางปกครองของการสื่อสารแห่งประเทศไทยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ จึงโอนมาเป็นอำนาจทางปกครองของจำเลยที่ ๒ ด้วย ดังนั้น แม้จำเลยที่ ๒ จะมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดก็ตาม แต่ในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน ซึ่งมีการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจกาทางปกครองเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผลแล้ว ถือว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยที่ ๑ แม้ว่าได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและดำเนินกิจการอย่างเอกชนทั่วไปก็ตาม แต่การดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ ๒ ทำการปรับปรุงวางท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินเส้นทางแยกราชวิถี-แยกอุรุพงษ์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ โดยผลของสัญญาให้ดำเนินการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันเป็นบริการสาธารณะแทนจำเลยที่ ๒ ทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ แทนจำเลยที่ ๒ ด้วย การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ ในกรณีนี้จึงเป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ มีสิทธิตามกฎหมายในการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล เมื่อพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามอันเป็น เหตุพิพาทในคดีนี้เห็นได้ว่า ผู้ที่จะสามารถดำเนินกิจการขุดเจาะถนนหรือทางสาธารณประโยชน์ได้ต้องมีอำนาจตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจให้ดำเนินการแทน การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่การกระทำในทางแพ่งหรือการกระทำทางกายภาพที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แต่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง นอกจากนี้เหตุพิพาทตามฟ้องของโจทก์ไม่ได้เกิดจากผลโดยตรงของการขุดเจาะถนน เพราะการที่จำเลยที่ ๑ ขุดเจาะถนนยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่โจทก์ ความเสียหายของโจทก์ตามฟ้องเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ไม่ฝังกลบหลุม ที่ขุดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ดังนั้น เหตุพิพาทตามฟ้องของโจทก์จึงเกิดจากผลโดยตรงของการที่ จำเลยที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการปรับสภาพถนนให้กลับสู่สภาพเดิม เมื่อการขุดเจาะถนนดังกล่าวเป็นกรณีที่ใช้อำนาจทางปกครองแล้ว หน้าที่ในการปรับสภาพถนนให้กลับสู่สภาพเดิมจึงเป็นหน้าที่ทางปกครองเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินการของจำเลยที่ ๑ อันเป็นเหตุพิพาทแห่งคดี จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง สำหรับจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้อนุญาตให้ก่อสร้างนั้น โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ ละเลยต่อหน้าที่มิได้ตรวจสอบดูแลการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้มีอำนาจในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ก่อสร้างสาธารณูปโภคในหรือบนทางบก และทางระบายน้ำ ซึ่งแม้จะได้อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ก่อสร้างสาธารณูปโภคแล้วก็ตาม แต่จำเลยที่ ๓ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำตามกฎหมายดังกล่าวอยู่เช่นเดิม ในเมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ ละเลยต่อหน้าที่เกี่ยวกับการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค และจำเลยที่ ๓ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติในการดูแลรักษาทางสาธารณประโยชน์โดยมิได้ฝังกลบหลุมที่จำเลยที่ ๑ ขุดให้เรียบร้อย เหตุพิพาทจึงเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือจากการดำเนินกิจการทางปกครองเช่นกัน
เมื่อพิจารณาข้อพิพาทนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว คดีมีคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเหตุพิพาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดจากการที่จำเลยทั้งสามใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในเมื่อไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า หากคดีมีประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการในทางแพ่งที่ต้องวินิจฉัยก่อนแล้วส่งผลให้คดีทั้งคดีซึ่งมีลักษณะเป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น จึงไม่สามารถนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นย่อมขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจเฉพาะคดีปกครองและบัญญัติให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลใด เมื่อคดีมีลักษณะเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว จึงไม่สามารถกำหนดเกณฑ์ใด ๆ เพื่อให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมได้ นอกจากนี้ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่มีการหยิบยกว่าต้องวินิจฉัยก่อนเป็นเพียงข้อเท็จจริงหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เกณฑ์การพิจารณาเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลและไม่มีกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เมื่อ ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาททางปกครองและไม่มีบทกฎหมายใดยกเว้นอำนาจของศาลปกครองไว้ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
นอกจากนั้นแล้วคดีพิพาทที่หน่วยงานทางปกครองมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองแทน เช่นมอบหมายให้ก่อสร้างถนนหรือก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคอื่นเช่นในคดีนี้ หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลที่สามและบุคคลผู้ได้รับความเสียหายฟ้องคดีต่อศาลขอให้พิพากษาหรือคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครองและบุคคลผู้ได้รับมอบหมายรับผิดชดใช้ค่าเสียหายร่วมกันนั้น การที่ศาลจะวินิจฉัยให้หน่วยงานทางปกครองผู้มอบหมายและบุคคลผู้ได้รับมอบหมายรับผิดต่อผู้เสียหายหรือไม่ เพียงใดนั้น ศาลจำต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานผู้มอบหมาย (ผู้ว่าจ้าง) ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่จำเลยที่ ๒ และบุคคลผู้ได้รับมอบหมาย (ผู้รับจ้าง) ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่จำเลยที่ ๑ ด้วยว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นความสัมพันธ์ตามสัญญา ซึ่งสัญญาดังกล่าวนี้เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองมอบหมายให้บุคคลจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใดจำต้องวินิจฉัยตามหลักกฎหมาย แนวคิด และทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งมีหลักเกณฑ์บางประการแตกต่างไปจากที่บังคับใช้ในสัญญาทางแพ่งด้วยกัน เช่น หลักดุลยภาพทางการเงินในสัญญา เป็นต้น
เมื่อสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสัญญาทางปกครอง หากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามสัญญานำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลเพื่อให้วินิจฉัยความรับผิดของคู่สัญญา คดีพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และหากจำเลยที่ ๓ ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับอนุญาตให้รับผิดต่อจำเลยที่ ๓ ก็เป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองด้วยกันและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกิจการทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน การที่จะให้คดีนี้ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม และให้ข้อพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ หรือข้อพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ อยู่ในอำนาจของศาลปกครองย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องการให้คดีเรื่องเดียวกันได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักเกณฑ์ในการแก้ไขปัญหาในกรณีมีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลไว้ และเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คดีพิพาททั้งหมดตามที่กล่าวแล้วควรได้รับการพิจารณาโดยศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า จำเลยที่ ๒ ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ทำการขุดถนนก่อสร้างวางท่อร้อยสายเคเบิลหรือสายใต้ดินโดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้อนุญาต จำเลยที่ ๑ ทำการขุดก่อสร้างวางท่อร้อยสายเคเบิลหรือสายใต้ดินแล้วไม่ตรวจสอบว่าสภาพผิวจราจรอยู่ในสภาพใช้งานได้เป็นปกติหรือไม่ ทำให้บริเวณพื้นผิวจราจรชำรุดเป็นหลุม และจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ตรวจผิวจราจรว่าจำเลยที่ ๑ ปรับสภาพผิวจราจรให้เป็นปกติตามเดิมหรือไม่ และจำเลยที่ ๓ ก็ไม่ตรวจผิวจราจรว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปรับสภาพพื้นผิวจราจรให้เป็นปกติตามเดิมหรือไม่เช่นกัน ทำให้โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ตกหลุมที่จำเลยที่ ๑ ขุดไว้ ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสต้องเสียดวงตา สูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำงานเสร็จเรียบร้อยและก่อนส่งมอบงานได้ซ่อมผิวจราจรให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ตรวจพื้นผิวจราจรแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ปรับสภาพผิวจราจรให้เป็นไปตามปกติเรียบร้อย รถทุกชนิดได้ใช้สัญจรไปมาอย่างสะดวก โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดทำให้เสียหลักล้มไปเอง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ ถนนมีผิวจราจรอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ จำเลยที่ ๓ ได้ตรวจสอบการก่อสร้างร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แล้วพบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาตครบถ้วน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนผู้รับจ้างกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังกระทำการขุดถนนวางท่อร้อยสายเคเบิลหรือสายใต้ดินแล้วไม่ปรับผิวจราจรให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เป็นเหตุให้โจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ตกหลุมที่จำเลยที่ ๑ ขุดไว้ ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพียงเพราะในฐานะผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างและผู้อนุญาตให้ขุดถนนเท่านั้น เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวุฒิวัฒน์ โชคธัญพิพัฒน์ โจทก์ บริษัทลิงเค็น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ ๑ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ กรุงเทพมหานคร ที่ ๓ จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ