แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ในสังกัดเป็นจำเลยให้รับผิดทางละเมิด โดยอ้างว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนำเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาของทางราชการออกนอกสถานที่ราชการแล้วเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาดังกล่าวไว้ในรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ริมถนนสาธารณะเป็นเหตุให้ถูกโจรกรรม เห็นว่า ความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่จะต้องเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของโจทก์และจำเลยจะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยต้องรับผิดทางละเมิดที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และขอให้จำเลยรับผิดชดใช้เป็นการเฉพาะตัว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ เหตุละเมิดคดีนี้จึงไม่ใช่คดีที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นคดีละเมิดทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีละเมิดทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๔/๒๕๕๗
วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแขวงพระนครเหนือ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงพระนครเหนือส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โจทก์ ยื่นฟ้องพันตำรวจโท หรือนายวรชัย อารักษ์รัฐ จำเลย ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๒๐๐๔/๒๕๕๕ ความว่า จำเลยเป็นข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ จำเลยเบิก เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ยี่ห้อฮิวเลตต์แพ็คการ์ด ราคา ๔๖,๙๙๔.๔๔ บาท เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวน เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ หลังเวลาปฏิบัติราชการ จำเลยนำเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาออกจากสถานที่ราชการเพื่อนำไปใช้งานต่อที่บ้านพักอาศัยอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยไม่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ระหว่างเดินทางจำเลยแวะจอดรถยนต์ที่หน้าบ้านพักอีกหลังที่ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ในกระเป๋าวางไว้ที่พื้นรถยนต์บริเวณเบาะหลังด้านคนขับแล้วลงไปเอาทรัพย์สินส่วนตัวในบ้านพัก เมื่อกลับมาที่รถยนต์พบว่ากระจกประตูหลังด้านขวาถูกทุบแตกและเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมทรัพย์สินส่วนตัวสูญหาย โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแก่จำเลย คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปใช้นอกสถานที่ราชการโดยไม่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการ เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และการที่จำเลยเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์ในรถยนต์จอดไว้ริมถนนสาธารณะเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการดูแลทรัพย์สินของทางราชการ เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้จำเลยรับผิดเป็นการเฉพาะตัวชดใช้ราคาหลังหักค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน ๑๒,๔๐๕.๕๐ บาท โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยนำคอมพิวเตอร์พกพาไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการสืบสวนสอบสวนเนื่องจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายไม่แล้วเสร็จ จำเลยนำคอมพิวเตอร์พกพาวางไว้ที่พื้นรถยนต์ด้านหลังคนขับเนื่องจากน้ำท่วม หากนำคอมพิวเตอร์ลงจากรถอาจเกิดความเสียหายได้ จำเลยปิดล็อคประตูรถยนต์เข้าไปในบ้านพักนาน ๓๐ นาที จุดเกิดเหตุมีรถสัญจรไปมาและมีฝนตกตลอดเวลา เมื่อพบว่ากระจกรถยนต์ประตูหลังด้านขวาถูกทุบแตกและคอมพิวเตอร์พกพาสูญหาย จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ จำเลยเก็บรักษาทรัพย์สินของโจทก์ตามสมควรที่บุคคลทั่วไปพึงกระทำในการดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองมิใช่กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องกล่าวหาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการละเมิดต่อโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการดูแลทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร พฤติการณ์การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์อ้างว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาของทางราชการออกนอกสถานที่ราชการแล้วเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาดังกล่าวไว้ในรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ริมถนนสาธารณะเป็นเหตุให้ถูกโจรกรรมนั้น เหตุแห่งการกระทำละเมิดคือการไม่ใช้ความระมัดระวังในการดูแลทรัพย์สินของทางราชการ หาใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลย ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดหน่วยงานของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๓/๑ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เบิกเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาสำหรับใช้ปฏิบัติงานสอบสวนทั้งในและนอกสถานที่ราชการมาใช้ในลักษณะพกพาประจำตัวตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จนถึงวันก่อนหน้าที่จะสูญหายโดยไม่เคยขอรับอนุญาตนำออกไปใช้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ราชการจากผู้มีอำนาจอนุญาตตามข้อ ๑๔๗ (๒) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาก่อนจนเป็นปกติธุระ ถือได้ว่ากรณีเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาสำหรับเป็นเครื่องมือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จำเลยจึงมีหน้าที่ตามข้อ ๑๔๘ ของระเบียบเดียวกัน ที่จะต้องดูแลรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่จำเลยใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกสถานที่ราชการ และจะต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาดังกล่าวคืนให้แก่ทางราชการในสภาพที่ใช้การได้เรียบร้อยด้วย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาประจำตัวดังกล่าวสูญหายไปในระหว่างอยู่ในความครอบครองของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์จากการละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาพัสดุและคืนพัสดุให้แก่โจทก์ตามข้อ ๑๔๘ ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น ความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่จะต้องเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังที่ระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๓ ส่วนจำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ดังนั้น การพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของโจทก์และจำเลยจะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยต้องรับผิดทางละเมิดที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และขอให้จำเลยรับผิดชดใช้เป็นการเฉพาะตัว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ เห็นว่า เหตุละเมิดคดีนี้ จึงไม่ใช่คดีที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นคดีละเมิดทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีละเมิดทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ โจทก์ พันตำรวจโท หรือนายวรชัย อารักษ์รัฐ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ