คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่า ในกรณีที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานผู้ใดตามกฎหมายแรงงานก็ให้จ่ายเงินค่าชดเชยจากกองทุนบำเหน็จ และผู้ปฏิบัติงานไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้อีก เว้นแต่เงินบำเหน็จที่คำนวณตามข้อบังคับนี้มากกว่าเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่มากกว่านั้นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานผู้นั้น ข้อบังคับดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายและใช้บังคับได้แม้จะเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ปฏิบัติงานอยู่บ้าง แต่ความในมาตรา 28 แห่ง พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2520 ก็หาได้บัญญัติห้ามจำเลยที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่
แม้โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยมาก่อนวันที่ประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าว แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก่อนวันใช้ข้อบังคับดังกล่าวจำเลยได้เคยมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จไว้อันพึงนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์เคยมีสิทธิอย่างไร และข้อบังคับของจำเลยฉบับนี้ตัดสิทธิของโจทก์ประการใด ดังนั้นเมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างหลังจากวันประกาศใช้ข้อบังคับสิทธิของโจทก์จะได้รับเงินบำเหน็จหรือไม่เพียงใด ก็ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้าง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 67,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ออกจากงานเนื่องจากการเกษียณอายุ มิใช่การเลิกจ้างและการจ้างโจทก์เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จข้อ 21 ต้องถือว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยซ้ำอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและมิใช่เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแต่ตามข้อ 21 แห่งข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วยโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ตามข้อ 21 ของข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จดังกล่าวได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานผู้ใดตามกฎหมายแรงงานก็ให้จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานจากกองทุนบำเหน็จ และผู้ปฏิบัติงานผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้อีก เว้นแต่เงินบำเหน็จที่คำนวณตามข้อบังคับนี้มากกว่าเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่มากกว่านั้นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานผู้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าความในข้อ 21 ดังกล่าวนั้น มุ่งประสงค์ที่จะให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างของจำเลยโดยมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างของจำเลยได้รับเงินเต็มจำนวนทั้งสองประเภทเท่านั้นโดยกำหนดหลักเกณฑ์ว่า การจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยก็ให้จ่ายจากกองทุนบำเหน็จโดยไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีก แต่ถ้าเงินบำเหน็จมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยแล้ว ก็ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จในส่วนที่มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยนั้นให้ด้วย ข้อบังคับของจำเลยฉบับนี้จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและใช้บังคับได้ กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างอิงมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อบังคับของนายจ้างไม่ตรงกับคดีนี้ จะนำมาเทียบเคียงเพื่อวินิจฉัยคดีนี้มิได้
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จนี้ จำเลยได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) และมาตรา 28แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2520 ซึ่งบทมาตราดังกล่าวหาได้ให้อำนาจกำหนดให้เงินตามข้อบังคับนี้เป็นค่าชดเชย จึงไม่มีผลให้เงินบำเหน็จเป็นค่าชดเชยได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มาตรา 19 (11)ได้บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยวางข้อบังคับเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยและครอบครัว ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และมาตรา 28 บัญญัติว่าให้องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยและครอบครัว ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง เจ็บป่วย ตาย ประสบอุบัติเหตุ หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์ เมื่อพิจารณาข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยได้ออกข้อบังคับฉบับนี้โดยอาศัยอำนาจที่คณะกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยมีอยู่และตามหลักการของบทกฎหมายดังกล่าวโดยได้กำหนดให้มีกองทุนบำเหน็จและให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จในกรณี ตาย ลาออก ครบเกษียณอายุหรือได้รับคำสั่งให้ออกจากงานโดยไม่มีความผิดและได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานหรือลูกจ้างของจำเลยในกรณีที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จไว้ด้วยจึงเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานของจำเลยและครอบครัวแล้ว การที่ข้อ 21 แห่งข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดว่าในกรณีที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานผู้ใดตามกฎหมายแรงงาน ก็ให้จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานจากกองทุนบำเหน็จและผู้ปฏิบัติงานผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้อีก เว้นแต่เงินบำเหน็จที่คำนวณตามข้อบังคับนี้มากกว่าเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่มากกว่านั้นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานผู้นั้น อันเป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์อยู่บ้างก็ตามความในมาตรา 28 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520ก็หาได้บัญญัติห้ามจำเลยที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่ จำเลยจึงมีอำนาจออกข้อบังคับนี้ และมีผลใช้บังคับได้
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยมาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้ข้อบังคับขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จข้อบังคับฉบับนี้จึงไม่มีผลย้อนหลังเป็นการตัดสิทธิของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก่อนวันที่ 1ตุลาคม 2525 จำเลยได้เคยมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จไว้อันพึงนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์เคยมีสิทธิอย่างไร และข้อบังคับของจำเลยฉบับนี้ได้ตัดสิทธิของโจทก์ประการใดดังนั้น เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2525 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินบำเหน็จหรือไม่เพียงใด ก็ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้างที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share