คำวินิจฉัยที่ 63/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ และ ที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. คนละแปลง แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ซึ่งต่อมาผู้ร้องสอดได้ซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยกเลิกสิทธิในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ที่ออกทับซ้อนกับเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า จากการตรวจสอบบัญชีต่อเลขที่ดินเพื่อออก น.ส. ๓ ก. ระวางรูปถ่ายอากาศพบว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ได้ออกสืบเนื่องมาจาก ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ยื่นคำให้การ และผู้ร้องสอดให้การว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ได้ออกสืบเนื่องมาจาก ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๑ การออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมาย มีการครอบครองที่ดินก่อนการจัดสรรที่ดินที่ทำกิน เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ว่าการออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔ -๐๑ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๓/๒๕๕๘

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ นางปิ่น ศิริปรุ ที่ ๑ นายสมเกลี้ยง ศิริปรุ ที่ ๒ นางประภาวัลย์หรือปทุมมาศ หรือนางสาวทองมี กาญจนวัฒนาวงศ์หรือศิริปรุ ที่ ๓ นายนพอนันต์ หรือฐิติศักดิ์ กาญจนวัฒนาวงศ์ ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายอำเภอเมืองนครราชสีมา ที่ ๑ นายโชคชัยหรือวัลลภ ธีรนรเศรษฐ์ ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๓๖/๒๕๕๔ ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งให้บริษัทวรรณศิลป์ ซัพพลาย จำกัด เข้ามาเป็นผู้ร้องสอด ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. ระวาง ส.ป.ก. ที่ ๕๔๓๘ IV ๘๒๔๘ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงเลขที่ ๔๘ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงเลขที่ ๓๘ ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงเลขที่ ๓๗ และผู้ฟ้องคดีที่ ๔ เป็นบุตรของนายอภิณัฐ หรือพูนศักดิ์ กาญจนวัฒนาวงศ์ หรือเฮงตั้งสิริกุล ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน แปลงเลขที่ ๓๖ แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ซึ่งต่อมาบริษัทวรรณศิลป์ ซัพพลาย จำกัด ผู้ร้องสอด ได้ซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการยกเลิกสิทธิในที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ที่ออกทับซ้อนกับเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ มีชื่อผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำขอออกโฉนดโดยอาศัยหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ คัดค้านการรังวัด แต่ไม่ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดิน จึงสั่งให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๓ แต่ยังไม่ได้ออกโฉนดให้แก่ผู้ร้องสอด เนื่องจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาขอให้ระงับการออกโฉนดไว้ก่อน จากการตรวจสอบบัญชีต่อเลขที่ดินเพื่อออก น.ส. ๓ ก. ระวางรูปถ่ายอากาศชื่อจังหวัดนครราชสีมา หมายเลข ๕๔๓๘ IV แผ่นที่ ๗๓ พบว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ได้ออกสืบเนื่องมาจาก ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขายที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ให้แก่ผู้มีชื่อ โดยผู้มีชื่อนำไปจำนองกับธนาคาร ต่อมามีการบังคับจำนอง ซึ่งธนาคารผู้รับจำนองเป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดและ ขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด แต่เข้าครอบครองไม่ได้เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ ๓ และบริวารอาศัยอยู่ บริษัทจึงฟ้องขับไล่ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งศาลจังหวัดนครราชสีมาได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ๒๓๙๑/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ๘๘๓/๒๕๕๒ ให้ขับไล่ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ และบริวาร ผู้ร้องสอดได้ซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ จากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด เมื่อปี ๒๕๕๓ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ได้ออกสืบเนื่องมาจาก ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๑ การออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมาย มีการครอบครองที่ดินก่อนการจัดสรรที่ดินที่ทำกินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับซ้อนกับที่ดินตามหลักฐาน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยกเลิกสิทธิในที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ที่ออกทับซ้อนกับเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

สำหรับประเด็นปัญหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่ง ในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จะบรรยายว่าการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม เมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๓๙๑/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ๘๘๓/๒๕๕๒ ของศาลจังหวัดนครราชสีมาแนบท้ายคำให้การของผู้ร้องสอด ประกอบสำนวนคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครราชสีมาดังกล่าว ปรากฏว่าที่ดินพิพาทในคดีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ฟ้องขับไล่ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ เป็นจำเลยให้ออกไปจากที่ดินนั้นเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินในคดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่นำมาฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีนี้ ตามทางนำสืบของผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นจำเลยคดีดังกล่าวปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๓ เป็นภรรยานายอภิณัฐ กาญจนวัฒนาวงศ์ เบิกความรับว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ฟ้องบังคับจำนองและนำยึดที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างในคดีแพ่งดังกล่าวได้ถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาขับไล่ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ และบริวารออกไปจากที่ดิน โดยในการต่อสู้คดีผู้ฟ้องคดีที่ ๓ มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทดีกว่า รวมถึงมิได้ยกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ หรือการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าในส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ตอบคำถามค้านโจทก์ในคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ มีความประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา การที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ภรรยานายอภิณัฐ และผู้ฟ้องคดีที่ ๔ บุตรชายนายอภิณัฐ นำคดีมาฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นคดีนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และในการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องว่าการออก น.ส. ๓ ก. ในคดีนี้ โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎหมายได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ และที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. ระวาง ส.ป.ก. ที่ ๕๔๓๘ IV ๘๒๔๘ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา คนละหนึ่งแปลง แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ซึ่งต่อมาบริษัทวรรณศิลป์ ซัพพลาย จำกัด ผู้ร้องสอด ได้ซื้อที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการยกเลิกสิทธิในที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ที่ออกทับซ้อนกับเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า จากการตรวจสอบบัญชีต่อเลขที่ดินเพื่อออก น.ส. ๓ ก. ระวางรูปถ่ายอากาศชื่อจังหวัดนครราชสีมา หมายเลข ๕๔๓๘ IV แผ่นที่ ๗๓ พบว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ได้ออกสืบเนื่องมาจาก ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ยื่นคำให้การ และผู้ร้องสอดให้การว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ได้ออกสืบเนื่องมาจาก ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๑ การออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมาย มีการครอบครองที่ดินก่อนการจัดสรรที่ดินที่ทำกินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔ -๐๑ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางปิ่น ศิริปรุ ที่ ๑ นายสมเกลี้ยง ศิริปรุ ที่ ๒ นางประภาวัลย์หรือปทุมมาศ หรือนางสาวทองมี กาญจนวัฒนาวงศ์หรือศิริปรุ ที่ ๓ นายนพอนันต์ หรือฐิติศักดิ์ กาญจนวัฒนาวงศ์ ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี นายอำเภอเมืองนครราชสีมา ที่ ๑ นายโชคชัยหรือวัลลภ ธีรนรเศรษฐ์ ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี บริษัทวรรณศิลป์ ซัพพลาย จำกัด ผู้ร้องสอด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share