คำวินิจฉัยที่ 60/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเอาชื่อไปจดทะเบียนเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท จึงขอให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการดังกล่าว แต่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทมีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอ โดยอ้างว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแล้ว และถูกผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ รวมทั้งเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๐/๒๕๕๖

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายธนวัฒน์ หนูวัน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนธุรกิจ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๕๕/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทของบริษัทพี.ไพรส์ ซัพพลายส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จากนายกิตติพันธ์ หิรัญชัยสกุล เป็นผู้ฟ้องคดี ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จดทะเบียนให้ เนื่องจากมีการนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านและลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดีไปจดทะเบียนโดยผู้ฟ้องคดีไม่ทราบเรื่อง มิได้ยินยอมหรือมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทและไม่เคยเข้าร่วมประชุมหรือดำเนินกิจการของบริษัทแต่อย่างใด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่า ไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียน เนื่องจากได้จดทะเบียนโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายแล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ ขอให้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทตามคำขอของผู้ฟ้องคดี เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี และเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า บริษัทพี.ไพรส์ ซัพพลายส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทมาเป็นผู้ฟ้องคดี โดยอาศัยมติที่ประชุมวิสามัญ ผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบจึงจดทะเบียนให้ และไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีที่อ้างว่ามิได้ตกลงยินยอมด้วยและไม่เคยเข้าร่วมประชุมหรือดำเนินกิจการใด ๆ ของบริษัท เนื่องจากได้จดทะเบียน โดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้ว และอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไม่มีเหตุผลพอที่จะรับฟังได้
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ซึ่งเรื่องการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๒๒ หมวด ๔ การตั้งกรรมการใหม่จะต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่เท่านั้น ดังนั้น การที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนหรือไม่ จึงต้องตรวจสอบถึงการประชุมใหญ่ว่าได้ดำเนินการถูกต้องและชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการจะต้องจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง แก้ไข อย่างใดจะต้องเป็นผลมาจากการประชุมใหญ่ที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลต้องตรวจสอบตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมในการตรวจสอบ ไม่ใช่การตรวจสอบการใช้อำนาจในทางปกครองของฝ่ายปกครองแต่อย่างใด การจะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง แก้ไข อย่างใดเป็นเพียงความสมบูรณ์ในส่วนรูปแบบเท่านั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัท แต่ได้มอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านกับลงลายมือชื่อในเอกสารให้นายจ้าง และมีการนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง กรรมการให้ผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทโดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่รู้เห็นยินยอม ซึ่งในการจดทะเบียนดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะต้องพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องข้อพิพาทของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว แต่เป็นการโต้แย้งคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ถูกบริษัทยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการบริษัทนำชื่อผู้ฟ้องคดีเข้าเป็นกรรมการบริษัทโดยอ้างมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยรู้จักหรือเกี่ยวข้องกับบริษัทและไม่เคยเข้าร่วมประชุมหรือดำเนินการใด ๆ ของบริษัทและไม่เคยตกลงหรือรู้เห็นยินยอมที่จะเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งเท่ากับผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการประชุมและมติที่ประชุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งรับจดทะเบียนจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่มีคำสั่งปฏิเสธการเพิกถอนการรับจดทะเบียน เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่รับจดทะเบียนและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและอำนาจกรรมการบริษัททำให้ผู้ฟ้องคดีเข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท และการที่อ้างว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทได้ เมื่อบริษัทเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไรและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงบัญญัติว่า ในการก่อตั้ง การดำเนินการ ตลอดจนการเลิกกิจการของนิติบุคคลต้องเป็นไปตามขั้นตอนและจดทะเบียน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ต้องนำความไปแจ้งต่อนายทะเบียน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับรองสิทธิของนิติบุคคลนั้นว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีความสามารถทำนิติกรรมได้และเพื่อเปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ถึงสถานะอำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้น ๆ ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องทางปกครอง สถานภาพของผู้ฟ้องคดีจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่ใช่อยู่ที่การรับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อศาลต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทพี.ไพรส์ ซัพพลายส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จากผู้มีชื่อเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัทฯ แต่ได้มอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านกับลงลายมือชื่อในเอกสารให้นายจ้าง และ มีการนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการให้ผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่รู้เห็นยินยอม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอ โดยอ้างว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้ว ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายธนวัฒน์ หนูวัน ผู้ฟ้องคดี นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนธุรกิจ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share