คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน น. ในหนี้รายเดียวกันจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทน น.ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ย เอา แก่ จำเลยได้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 229(3) และ 296 และยังมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ น.เพื่อให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 693 วรรคแรกอีกด้วย เมื่อปรากฏต่อมาว่าโจทก์ตกลงกับ น. ทำหนังสือสัญญากู้เงินมีข้อความว่า น.เป็นลูกหนี้กู้เงินโจทก์ ถือได้ว่ามีหนี้ใหม่เกิดขึ้น ตามสัญญากู้เงิน เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลทำให้หนี้ตามสิทธิไล่เบี้ยแก่ น. นั้นระงับไป โจทก์ขอ ที่จะฟ้องบังคับตาม มูลหนี้ ใหม่ในสัญญากู้เงิน กรณีดังกล่าว ความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเดิม ของ น. และในฐานะลูกหนี้ร่วมกับโจทก์ย่อมระงับไปด้วยโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2524นายเนตร กลิ่นสิงห์ ทำสัญญากู้เงินสหกรณ์เมืองนครปฐม จำกัดจำนวน 20,000 บาท โดยโจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ค้ำประกันเมื่อถึงกำหนดชำระเงินคืนนายเนตร ผิดนักชำระ สหกรณ์เมืองนครปฐมจำกัด จึงทวงถามโจทก์ ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2531โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นเงิน 40,700 บาท แทนนายเนตรจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมจึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวกึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 20,350 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องจำนวน 1,270 บาท ขอให้จำเลยใช้เงินจำนวน 21,620 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินจำนวน 20,350 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ที่นายเนตร กู้เงินสหกรณ์เมืองนครปฐม จำกัดแต่ต่างคนต่างค้ำประกัน มิได้มีข้อตกลงเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแต่อย่างใด หากผู้ค้ำประกันคนใดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้วก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้เท่านั้น หามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ค้ำประกันคนอื่นไม่ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2531โจทก์ได้ทวงถามหนี้สินรายนี้จากนายเนตร นายเนตร ตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยทำสัญญากู้เงินให้จำนวน 40,700 บาทจริงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ดังนั้นโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยอีก และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,350 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาค้ำประกันในการที่นายเนตร กลิ่นสิงห์ ทำสัญญากู้เงินจากสหกรณ์เมืองนครปฐม จำกัด โจทก์ได้ชำระหนี้แก่สหกรณ์เมืองนครปฐม จำกัด แทนนายเนตร ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 40,700 บาท หลังจากโจทก์ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ให้นายเนตร ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่า เอกสารหมาย ล.1ที่โจทก์กับนายเนตร ทำไว้ต่อกันเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ให้สหกรณ์เมืองนครปฐม จำกัด แทนนายเนตรไปจำนวน 40,700 บาท ตามจำนวนเงินที่นายเนตร เป็นหนี้อยู่โจทก์และจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายเดียวกัน จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนนายเนตรไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229(3)และมาตรา 296 นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่นายเนตร ลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคแรก อีกด้วยข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ตกลงกับนายเนตรทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้ต่อกัน มีข้อความสรุปว่านายเนตร กลิ่นสิงห์ เป็นหนี้เงินกู้โจทก์เป็นเงิน 40,700 บาทกรณีดังกล่าวถือได้ว่ามีหนี้ใหม่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนึ่ง จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่มีผลทำให้หนี้ตามสิทธิไล่เบี้ยนั้นระงับไป โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับตามมูลหนี้ใหม่ในสัญญากู้เงิน กรณีดังกล่าวความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้เดิมของนายเนตร และในฐานะลูกหนี้ร่วมกับโจทก์ย่อมระงับไปด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้อีก ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share