แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง)
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๖ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้อง กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๗๖/๒๕๔๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดี เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ คันหมายเลขทะเบียน บร-๙๑๕๖ นครราชสีมา จากนายสมคิด ตุ้ยแคน ผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ นาฬิกา ขณะที่ผู้เอาประกันภัย ขับรถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับประกันภัยไว้มาตามถนนมิตรภาพจากทางด้านอำเภอปากช่องมุ่งหน้าไปทางอำเภอสีคิ้ว ผ่านมาถึงหน้าแผนก ๕ กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อผู้ถูกฟ้องคดี ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอย่างแรง เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ละเลยไม่กำกับดูแลให้หน่วยงานที่ขึ้นตรงทำการจัดเก็บรักษาและป้องกันวัตถุระเบิดให้ได้มาตรฐานในเรื่องของการจัดเก็บรักษาและมาตรการป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ จนเป็นเหตุทำให้เกิดระเบิดและแรงอัดจากการระเบิดของคลังแสง และลูกระเบิดซึ่งถูกแรงอัดกระแทกของระเบิดได้อัดกระแทกและตกกระเด็นใส่รถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับประกันภัยไว้ ได้รับความเสียหายหลายรายการ ผู้ฟ้องคดีได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วจึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๖/๒๕๔๕ ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ ให้ผู้ฟ้องคดีไปฟ้องต่อศาลปกครอง จึงนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๘๖,๘๑๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๘๑,๗๐๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การขนย้ายวัตถุระเบิดไปทำลายเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เหตุแห่งการระเบิดสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา เจ้าหน้าที่ชุดทำลายระเบิดจำนวน ๘ นาย นำรถยนต์บรรทุกขนาด ๒ ๑/๒ ตัน ไปทำการขนย้ายลูกระเบิดยิงจากปืนเล็กยาวขนาด ๗๐ มิลลิเมตร ชนิดระเบิดต่อสู้รถถังแบบ ๖๗ (ลย./ปล. ๗๐ มม.รบ.ตก. Type ๖๗) เพื่อนำไปทำลายและได้มีการยกขนหีบลูกระเบิดดังกล่าวจำนวนหนึ่งขึ้นไปบนรถแล้วได้ระเบิดขึ้นเมื่อเวลา ๐๙.๒๐ นาฬิกา เนื่องมาจากระเบิดดังกล่าว บางนัดมีความบกพร่องเสื่อมสภาพและเกิดจากการรั่วไหลของวัตถุระเบิดออกจากหัวรบ บางนัดอาจถูกจ่ายให้กับหน่วยปฏิบัติการนำไปใช้ในงานสนามแล้ว แต่ผู้ใช้ยังไม่ได้ใช้งานเมื่อเสร็จภารกิจก็นำมาคืนให้ฝ่ายสนับสนุนเพื่อเก็บไว้จ่ายให้กับการปฏิบัติการครั้งต่อไป ลูกระเบิดอาจได้รับการกระทบกระแทกอีก จึงอาจทำให้ระบบนิรภัยบกพร่องและทำให้ชนวนจุดระเบิดอยู่ในสภาพพร้อมทำงานซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่าเกือบอุบัติเหตุ เมื่อมีการกระแทกจากการหยิบยกเคลื่อนย้ายการระเบิดจึงเกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องสุดวิสัยและไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี สำหรับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับช่วงสิทธิมานั้นมิใช่จำนวน ๘๑,๑๐๗ บาทเนื่องจากภายหลังเกิดเหตุรถยนต์กระบะคันดังกล่าว ได้ถูกรถลากไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลหนองสาหร่ายแล้วนั้น ผู้เอาประกันภัยได้ไปตรวจสอบสภาพรถแล้วปรากฏว่ารถยนต์ได้รับความเสียหายและวิทยุเทปซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วได้หายไป โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดจากการระเบิด ดังนั้นจึงต้องหักจำนวนเงินค่าวิทยุจำนวน ๗,๒๒๐ บาท ออกจากค่าซ่อมรถยนต์จำนวน ๘๑,๑๐๗ บาท คงเหลือเพียงค่าซ่อมรถยนต์จำนวน ๗๓,๘๘๗ บาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยลดลงไปด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีขณะเป็นโจทก์ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งปรากฏว่าทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเสียหายเกิดจากการระเบิดจริง แต่ค่าเสียหายไม่เต็มตามจำนวนที่ฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดของเจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานของรัฐอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพบกและป้องกันราชอาณาจักร อันทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจตามกฎหมายในการมีเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นทรัพย์อันตรายไว้ในครอบครองและมีอำนาจทำลายเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดที่เสื่อมสภาพแล้ว ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่สามารถจะดำเนินการดังเช่นผู้ถูกฟ้องคดีได้หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ เมื่อเหตุดังกล่าวได้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ระบบนิรภัยของชนวนลูกระเบิดยิงจากปืนเล็กขนาด ๗๐ มิลลิเมตร ชนิดต่อสู้รถถังแบบ ๖๗ บางนัดบกพร่องและเกิดจากการรั่วไหลของวัตถุระเบิดออกจากหัวรบ เมื่อมีการหยิบยกขนย้ายเพื่อไปทำลายจึงเกิดการกระทบกระเทือนทำให้เกิดระเบิด แม้จะเป็นการกระทำทางกายภาพก็ตาม แต่การกระทำทางกายภาพดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อเกิดการระเบิดและผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การระเบิดดังกล่าวทำให้รถยนต์ของผู้เอาประกันภัย ได้รับความเสียหายโดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับประกันภัย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากการเก็บและการหยิบยกขนย้ายเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดเพื่อไปทำลายนั้นเป็นการดำเนินการโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการครอบครองและทำลายวัตถุระเบิดดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์อันตรายแม้ว่าเหตุระเบิดอาจจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยและผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการกระทำดังกล่าว ทำให้รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยเสียหาย กรณีดังกล่าวก็เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีให้การอ้างถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการมีอาวุธและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และการทำลายเครื่องกระสุนปืนที่เสื่อมสภาพ อันทำให้รับฟังได้ว่าการหยิบยกขนย้ายเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดในคราวเกิดเหตุเป็นการนำออกไปทำลายตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจตามกฎหมายก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวก็เป็นเพียงการปฏิบัติทางกายภาพเพื่อให้เกิดผลสำเร็จของงานเท่านั้น มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมิใช่เรื่องการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ หรือคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) การปรากฏถึงข้อเท็จจริงว่ากองทัพบกมีอำนาจตามกฎหมายในการครอบครองเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดรวมทั้งอำนาจในการทำลายเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดที่เสื่อมสภาพไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงเรื่องการปฏิบัติทางกายภาพในคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องในคดีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๘/๒๕๔๕ คดีหมายเลขแดงที่ ๘/๒๕๔๖ ระหว่างบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด(มหาชน) โจทก์ กรมสรรพาวุธทหารบก ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ จำเลย ของศาลนี้ กับคดีหมายดำที่ ๙๖/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๔๓๘/๒๕๔๖ ระหว่าง บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กรมสรรพาวุธทหารบก ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ของศาลปกครองนครราชสีมา ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล มีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ปรากฏตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๔/๒๕๔๖ ดังนั้นคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองกลาง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๖ มาตรา ๑๗ ประกอบพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๔ (๒๔) และมาตรา ๕ (๒๔) กำหนดให้กองทัพบกมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีกรมสรรพาวุธทหารบกเป็นส่วนราชการในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ประเด็นที่ต้องพิจารณาถัดไปมีว่า คดีเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของ ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยประมาททำให้เกิดเหตุระเบิดและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย เมื่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในการเตรียมกำลังกองทัพบกและการป้องกันราชอาณาจักรของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อเกิดความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น แต่การดำเนินการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกไปทำลาย ณ สถานที่ทำลายวัตถุระเบิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในคดีนี้ เป็นเพียงปฏิบัติการทางปกครองที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาเพื่อให้กิจการของฝ่ายปกครองเกิดผลสำเร็จเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย และแม้คดีเป็นกรณีพิพาทในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ก็เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ผู้ฟ้องคดี กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๒