คำวินิจฉัยที่ 5/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายอุทัย คล่องหัดพล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตพระนคร ที่ ๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ร้องสอด) ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๖๘/๒๕๔๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระราม ๘ ซอยวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้านหลังติดกับที่ดินของนางหยะ นิลพานิช โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๔๗ ด้านซ้ายติดกับที่ดินของหม่อมราชวงศ์ พฤติสาณ ชุมพล โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๐ ส่วนด้านขวาติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๗ ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยและครอบครองที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวซึ่งตื้นเขินมาแล้วประมาณ ๒๐ ปี ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือที่ กท ๙๐๐๑/๓๔๔๔ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกปักอาคารออกจากที่ดินที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีบุคคลอื่นได้ทำการปลูกสร้างอาคารในลักษณะเดียวกับผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้มีคำสั่งให้ดำเนินการรื้อถอนอาคารแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งนี้ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ และยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ แต่จนกระทั่งยื่นฟ้องคดีนี้ก็ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดียังเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีเจตนากลั่นแกล้งละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่จัดส่งคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาตามขั้นตอนโดยเร็ว ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
อนึ่ง นางรุจิรา ดำรงผล บุตรของนางหยะ นิลพานิช เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๔๗ ได้เคยยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิด ขับไล่ และครอบครองปรปักษ์ ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำพิพากษายกฟ้อง (คดีหมายเลขแดงที่ ม. ๔๖๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๕)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติราชการแทน ได้มีคำสั่งแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกปักอาคารออกจากที่อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เนื่องจากตรวจสอบพบว่าผู้ฟ้องคดีปลูกสร้างอาคารเพิงพักอาศัยจำนวนห้าหลังรุกล้ำแนวเขตแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่เขตพระนครซึ่งเป็นที่สาธารณะและอยู่ในความดูแลความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยปลูกสร้างขึ้นบริเวณด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๔๗ เลขที่ ๒๓๔ ตำบลบางขุนพรหม อำเภอบางขุนพรหม (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนางหยะ นิลพานิช เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยอยู่นอกเขตที่ดินแปลงดังกล่าวด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๐๒ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่าอาคารทั้งห้าหลังของผู้ฟ้องคดีปลูกอยู่บนที่งอกริมตลิ่งที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองอยู่ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งมีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๕ วินิจฉัยว่า ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง กรุงเทพมหานครจึงส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๕ ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๒ (๑๑) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในเรื่องนี้จึงเป็นการออกคำสั่งโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งโดยพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายที่ให้อำนาจโดยชอบ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ และไม่มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่แต่ประการใด การที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๔๔ และผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีกำลังวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๕ ยังไม่ได้มีการสั่งการอย่างใดเกี่ยวกับการอุทธรณ์ดังกล่าว การฟ้องคดีเรื่องนี้จึงไม่อาจกระทำได้ตามเงื่อนไขในมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินที่มีการก่อสร้างอันเป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งที่ขอเพิกถอนในคดีนี้ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง เนื่องจากเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่ว่าความจะเป็นประการใด ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่อยู่ด้านหน้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๔๗ ซึ่งเป็นของนางหยะ นิลพานิช ไม่ได้อยู่ด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ ฉ.๑๕๗ ซึ่งเป็นของผู้ฟ้องคดี จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งหรือที่งอกออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่านางรุจิรา ดำรงผล ซึ่งเป็นบุตรของนางหยะ นิลพานิช ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิดสิทธิ ขับไล่ ครอบครองปรปักษ์นั้น แม้ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว แต่ในคำพิพากษาของศาลแพ่งก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี และตามข้อความในคำพิพากษา ก็ปรากฏเพียงคำให้การของผู้ฟ้องคดีซึ่งให้การว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ได้เป็นทายาท ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินตามฟ้องเท่านั้น ไม่ปรากฏข้ออ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ยกขึ้นอ้างเป็นเหตุฟ้องคดีนี้ ไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ระหว่างพิจารณา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างฯ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่ประเด็นหลักที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นเหตุโต้แย้งคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทอันเป็นที่ที่มีการปลูกสร้างอาคารว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี ไม่ใช่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนคำสั่งในคดีนี้ต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลัก อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๐/๒๕๔๕ และ ๓๒/๒๕๔๕
ผู้ฟ้องคดีชี้แจงว่า คดีนี้ มูลความแห่งคดีที่ผู้ฟ้องคดีนำมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง สืบเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นประเด็นหลัก ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินเป็นประเด็นรอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นกรณีที่คู่กรณีโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการพิจารณาพิพากษาคดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ได้ความว่า คำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ กท ๙๐๐๑/๓๔๔๔ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ศาลแพ่งเห็นว่า คดีนี้คู่กรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ และจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณีและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินส่วนข้อหาที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เลือกปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาลำดับรองเมื่อคดีมีประเด็นหลักเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่ง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยและครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกปักอาคารออกจากที่ดินดังกล่าวอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์แต่ประการใด ทั้งผู้ฟ้องคดียังเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีเจตนากลั่นแกล้งละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่จัดส่งคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาตามขั้นตอนโดยเร็ว ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้าง การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้เลือกปฏิบัติและไม่มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่แต่ประการใด ส่วนอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีนั้นกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีที่ยังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินกันอยู่ การที่ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือไม่แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายอุทัย คล่องหัดพล ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการเขตพระนคร ที่ ๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ร้องสอด) ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share