แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดขอนแก่นส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๗ นายสุนี โคตรโสภา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๑ นายบุญมี วิจิตรมาลา ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ ๖๕๖/๒๕๔๗ ข้อหาละเมิด ความว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสาขาพรรคความหวังใหม่ ลำดับที่ ๔๖ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยจดทะเบียนเป็นสาขาพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นหน่วยงานของรัฐและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้มีอำนาจในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาสวนกวางดำเนินคดีกับโจทก์ในข้อหาว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ เนื่องจากพรรคความหวังใหม่ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทยแล้ว เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๕ โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการสาขาพรรคความหวังใหม่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลจังหวัดขอนแก่น และต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด การกระทำของจำเลยทั้งสองที่แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวเป็นการแจ้งความเท็จและเป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงิน ๑๐,๐๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ในระหว่างศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีอย่างอนาถา จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์หาว่าโจทก์กระทำความผิดฐานเป็นกรรมการสาขาพรรคการเมืองไม่ยื่นแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้โจทก์ถูกจับกุมและถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นการละเมิดต่อโจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเจตนาให้โจทก์ต้องถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยวด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิด คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินของกรรมการสาขาพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔๒ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน การดำเนินคดีสำหรับความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายหรือคำกล่าวโทษ แต่ในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนมักจะจัดให้มีการร้องทุกข์หรือให้มีการกล่าวโทษ อันเป็นขั้นตอนของการเริ่มคดี ส่วนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๖ บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็เพื่อกำหนดกลไกการดำเนินคดีอาญาให้บรรลุผล โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเมือง จึงเป็นการใช้อำนาจธรรมดาทั่วไป มิใช่อำนาจที่ระบุไว้โดยเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับโจทก์โดยกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นการแจ้งต่อพนักงานสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๖ ให้อำนาจไว้ เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปดำเนินการแจ้งต่อพนักงานสอบสวนอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจตามกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำทางปกครองโดยแท้ มิใช่การกระทำทางปกครองที่เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาท ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจาณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาสวนกวางดำเนินคดีกับโจทก์ในข้อหาว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ เนื่องจากพรรคความหวังใหม่ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการสาขาพรรคความหวังใหม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เป็นเหตุให้โจทก์ ถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลจังหวัดขอนแก่น และศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งความเท็จ จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ดังนั้น จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓ กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืน มาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งมีโทษอาญาตามมาตรา ๘๔ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทและปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๓ บัญญัติให้ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าผู้ใดกระทำความผิดตาม…กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง…ให้มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวน และให้มีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องในทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางปกครอง โดยให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” จำเลยทั้งสองในฐานะผู้เสียหาย จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ ซึ่งกรณีนี้ได้มีการดำเนินคดีอาญาฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นจนศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่ากระทำละเมิดโดยการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา นั้น การดำเนินคดีอาญาเป็นขั้นตอนดำเนินการเพื่อนำสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง อยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม คดีละเมิดนี้โจทก์ประสงค์จะเรียกค่าเสียหายจากการที่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นการเฉพาะโดยตรง ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายสุนี โคตรโสภา โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๑ นายบุญมี วิจิตรมาลา ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ