คำวินิจฉัยที่ 58/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทตามฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดเชียงรายตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งรับฟ้อง แสดงว่าทั้งโจทก์และศาลจังหวัดเชียงรายต่างเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงราย เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ และผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดขอเข้ามาในคดี จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดไม่ได้ให้การหรือยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องอำนาจศาล ต่อมาเมื่อศาลจังหวัดเชียงรายดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสามและพยานจำเลยทั้งสองจนเสร็จการพิจารณา ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างไม่โต้แย้งคัดค้านเรื่องอำนาจศาลแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวและยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงรายแล้ว กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ ประกอบกับการที่ศาลจังหวัดเชียงรายรับคำฟ้องไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายจนเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว กรณีไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจังหวัดเชียงรายจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้าง และส่งสำนวนมาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 จึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามที่ศาลจังหวัดเชียงรายเสนอมาให้วินิจฉัย และส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อพิพากษาคดีนี้ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาย ห. เจ้ามรดกกับจำเลยที่ 2 ซึ่งสมรสกันเมื่อปี 2521 ก่อนสมรสนาย ห. เคยมีภริยามาก่อนชื่อนาง ซ. มีบุตรด้วยกัน 6 คน คือจำเลยที่ 1 กับน้องอีก 5 คน นาย ห. ถึงแก่ความตายวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกนาย ห. ร่วมกัน ภายหลังที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยทั้งสองนำทรัพย์มรดกของนาย ห. ได้แก่ หุ้นในบริษัท ห. บริษัท จ. บริษัท ค. บริษัท ช. บริษัท ส. และเงินในบัญชีธนาคารแบ่งปันแก่ทายาท โดยจำเลยทั้งสองและทายาททุกคนตกลงแบ่งให้แก่จำเลยที่ 2 ครึ่งหนึ่งก่อนในฐานะเป็นสินสมรส ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง แบ่งให้แก่ทายาท 10 คน ได้คนละ 1 ส่วน การแบ่งเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่นำทรัพย์มรดกของนาย ห. ออกแบ่งให้แก่ทายาทอีก โดยแยกเป็นทรัพย์สินส่วนที่นาย ห. ได้มาภายหลังสมรสกับจำเลยที่ 2 ได้แก่ เงินฝากธนาคาร 8 บัญชี พันธบัตร 2 ฉบับ หุ้นในบริษัทต่าง ๆ 5 บริษัท ที่ดิน 92 แปลง และทรัพย์สินอื่น ๆ อีก 8 รายการ ตามฟ้อง โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 20 ส่วน และทรัพย์สินส่วนที่นาย ห. ได้มาก่อนสมรสกับจำเลยที่ 2 ได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 1216 ตำบลเวียง อำเภอเชียงราย จังหวัดเชียงราย และที่ดินโฉนดเลขที่ 5385 ตำบลสันทราย อำเภอเชียงราย จังหวัดเชียงราย ทายาททั้ง 10 คน ทำบันทึกตกลงกันแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตกลงแบ่งให้ทายาท 10 คน คนละ 1 ใน 20 ส่วนตามบันทึกการจัดการมรดกและรับโอนที่ดินมรดก แต่จำเลยทั้งสองละเลยไม่นำทรัพย์มรดกออกแบ่งแก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสามตามส่วนท้ายคำขอท้ายฟ้อง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า บันทึกการจัดการมรดกและรับหุ้นของบริษัท บันทึกการจัดการมรดกและรับเงินมรดก และบันทึกการจัดการมรดกและรับโอนมรดกเป็นโมฆะ เนื่องจากจำเลยที่ 1 และน้อง 5 คน สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมว่า ทรัพย์สินที่มีชื่อนาย ห. เป็นกองมรดกของนาย ห. ทั้งหมดต้องแบ่งแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อน ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตกแก่ทายาท 10 คน คนละส่วนเท่า ๆ กัน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะทรัพย์สินที่มีชื่อนาย ห. ทั้งหมด รวมทั้งที่นาย ห. ได้ใส่ชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือใส่แต่เพียงชื่อจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อนาง ซ. ถึงแก่ความตายและยังไม่ได้มีการแบ่งทรัพย์มรดก ทรัพย์มรดกทั้งหมดของนาง ซ. ที่ตกได้แก่นาย ห. จำเลยที่ 1 และน้อง 5 คน ย่อมรวมอยู่กับทรัพย์สินในส่วนของนาย ห. ซึ่งนาย ห. ยังคงใช้เป็นทุนในการดำเนินกิจการในครอบครัวต่อไป ดังนั้น ทรัพย์ที่งอกเงยขึ้นจากการประกอบกิจการหลังจากที่นาง ซ. ถึงแก่ความตายจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างนาย ห. กับบุตรนาง ซ. ทั้ง 6 คน ซึ่งจะต้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างนาย ห. กับจำเลยที่ 1 และน้อง 5 คน ออกเป็น 6 ส่วนใน 14 ส่วนเสียก่อน ส่วนที่เหลืออีก 8 ส่วนใน 14 ส่วน จึงจะเป็นกองมรดกของนาย ห. กองมรดกของนาย ห. ดังกล่าวกึ่งหนึ่งเป็นสินสมรสระหว่างนาย ห. กับจำเลยที่ 2 ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมทั้ง 10 คน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามไปบางส่วนตามฟ้องจึงเป็นการแบ่งที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นโมฆะซึ่งทายาททุกคนที่ได้รับทรัพย์มรดกไปต้องคืนทรัพย์มรดกทั้งหมดและนำมาจัดแบ่งสรรกันใหม่ตามสัดส่วนที่ระบุในคำให้การของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การแต่ระหว่างพิจารณาขอถอนคำให้การ ศาลอนุญาต
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดี
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษา ศาลจังหวัดเชียงราย เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทตามฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดเชียงรายตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งรับฟ้อง แสดงว่าทั้งโจทก์และศาลจังหวัดเชียงรายต่างเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงราย เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ และผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดขอเข้ามาในคดี จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดไม่ได้ให้การหรือยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องอำนาจศาล ต่อมาเมื่อศาลจังหวัดเชียงรายดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสามและพยานจำเลยทั้งสองจนเสร็จการพิจารณา โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองต่างไม่โต้แย้งคัดค้านเรื่องอำนาจศาลแต่อย่างใด แสดงว่ายอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวและยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงรายแล้ว กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ ประกอบกับการที่ศาลจังหวัดเชียงรายรับคำฟ้องไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายจนเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว กรณีไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจังหวัดเชียงรายจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้าง และส่งสำนวนมาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 จึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามที่ศาลจังหวัดเชียงรายเสนอมาให้วินิจฉัย และส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อพิพากษาคดีนี้ต่อไป
วินิจฉัย ณ วันที่ 14 เดือน กันยายน พุทธศักราช 2559

วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา

Share