คำวินิจฉัยที่ 58/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเป็นโจทก์ ยื่นฟ้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำเลย โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยกระทำการโดยประมาทเลินเล่อโดยละเลยไม่ดูแลเด็กเล็กตามหน้าที่ ปล่อยให้บุตรของโจทก์ เดินในห้องเรียนโดยลำพังและลื่นหกล้มในขณะเดินในห้องเรียนเป็นเหตุให้เลือดออกในสมองและพิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้จำเลยมีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ใน การจัดระบบการบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่โจทก์อ้างเป็นการกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนของครูผู้ดูแลเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเวฬุวนารามสังกัดจำเลยซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่โดยทั่วไปของครูผู้ดูแลเพื่อให้การจัดการศึกษาของจำเลยบรรลุผลเท่านั้น มิใช่การกล่าวอ้างถึงการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๘/๒๕๕๗

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดนางรอง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนางรองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ เด็กชายกิตติธัช รักสุทธี โดยนางสาวผาณิต สมใจ มารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี ที่ ๑ นางอติมาน ทองอินทร์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนางรอง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๐๖/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง กรณีจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กเล็กภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเวฬุวนาราม กระทำการโดยประมาทเลินเล่อโดยละเลยไม่ดูแลเด็กเล็กตามหน้าที่ ปล่อยให้เด็กชายกิตติธัชเดินในห้องเรียนโดยลำพังและลื่นหกล้มในขณะเดินในห้องเรียนเป็นเหตุให้เลือดออกในสมองและพิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายกิตติธัชได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีหนังสือขอให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเวฬุวนาราม ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
ต่อมาศาลจังหวัดนางรองมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ เนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ รับผิดกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ฟ้องหน่วยงานของรัฐ จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อบุตรของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดโจทก์อย่างเพียงพอแล้ว การที่บุตรของโจทก์ลื่นหกล้มเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำละเมิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่อศาลปกครองนครราชสีมาในมูลเหตุเดียวกันและศาลปกครองนครราชสีมารับคดีไว้พิจารณาแล้ว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนางรองพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่อำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) มุ่งหมายเฉพาะการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำทางกายภาพของเจ้าหน้าที่ เมื่อการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการดูแลเด็กซึ่งเข้ารับการอบรมและให้ความรู้จากการจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเวฬุวนาราม ถือได้ว่าเป็นการกระทำทางกายภาพ มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ จัดการศึกษาปฐมวัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด ไม่ได้มาตรฐานและระบบการศึกษาของชาติและเป็นภยันตรายต่อชีวิตและร่างกายของโจทก์ ซึ่งย่อมไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่เด็กเล็กซึ่งยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดที่เข้าอบรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเวฬุวนารามตามหน้าที่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเรียกค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายและจากการดำเนินกิจการทางปกครองตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อโดยละเลยไม่ดูแลเด็กเล็กตามหน้าที่ ปล่อยให้เด็กชายกิตติธัช รักสุทธี บุตรของโจทก์ เดินในห้องเรียนโดยลำพังและลื่นหกล้มในขณะเดินในห้องเรียนเป็นเหตุให้เลือดออกในสมองและพิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่โจทก์อ้างเป็นการกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนของครูผู้ดูแลเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเวฬุวนารามสังกัดจำเลยที่ ๑ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่โดยทั่วไปของครูผู้ดูแลเพื่อให้การจัดการศึกษาของจำเลยที่ ๑ บรรลุผลเท่านั้น มิใช่การกล่าวอ้างถึงการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างเด็กชายกิตติธัช รักสุทธี โดยนางสาวผาณิต สมใจ โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี ที่ ๑ นางอติมาน ทองอินทร์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share