คำวินิจฉัยที่ 5/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่โจทก์อ้างว่า ได้ขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๓ โดยมีหลักฐานเป็น ส.ค. ๑ จำเลยที่ ๑ คัดค้านแนวเขตและไม่ยอมลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต และคัดค้านการรังวัดที่ดินโดยอ้างว่า โจทก์นำรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขอออกโฉนดที่ดินโดยมีหลักฐานเป็น น.ส. ๓ ต่อจำเลยที่ ๓ และนำรังวัด รุกล้ำที่ดินของโจทก์ โจทก์และองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์คัดค้านแนวเขตโดยอ้างว่า จำเลยที่ ๑ นำชี้รุกล้ำทับทางสาธารณประโยชน์ (ทางเกวียน) จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์โดยกันพื้นที่ส่วนที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านออกไป และมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ ทั้งแปลงซึ่งทับที่ดินของโจทก์บางส่วน ขอให้พิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งแปลง จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์นำรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ และได้คัดค้านแนวเขตที่ดิน โดยทราบดีว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ และคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๗

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดบุรีรัมย์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๕ นางสายบัว นิพิฐกุล โจทก์ ยื่นฟ้อง นางตุ๊ จันทร์ดอน ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายเอกนรินทร์ เทิ่งขุนทด ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๒๒/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๘๖/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๓ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาลำปลายมาศ โดยมีหลักฐานประกอบการยื่นคำขอเป็น ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๘๑ หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ในการรังวัดชี้แนวเขต เพื่อออกโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินโจทก์ได้คัดค้านแนวเขตและไม่ยอมลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต และยื่นคำคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อจำเลยที่ ๓ อ้างว่า โจทก์นำรังวัดรุกล้ำแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยมี น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘๗/๙๕ หมู่ที่ ๙ ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อจำเลยที่ ๓ และนำรังวัดชี้แนวเขตรุกล้ำที่ดินของโจทก์จำนวนเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา โจทก์และองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์คัดค้านแนวเขต โดยองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ นำชี้รุกล้ำทับทางสาธารณประโยชน์ (ทางเกวียน) จำเลยที่ ๓ สอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งที่ ๔/๒๕๕๕ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์ โดยกันพื้นที่ส่วนที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านออกไป และมีคำสั่งที่ ๕/๒๕๕๕ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ ทั้งแปลงซึ่งทับที่ดินของโจทก์เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินที่พิพาทเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ ๑ และบริวารคัดค้านแนวเขตในการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๔/๒๕๕๕ และ ๕/๒๕๕๕ ของจำเลยที่ ๓ กับให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งแปลง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์และไม่ได้อยู่ในที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๘๑ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยได้รับการยกให้จากบิดามารดา ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ โดยครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน และนายอำเภอได้ออก น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘๗/๙๕ ให้จำเลยที่ ๑ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ โดยโจทก์และสามีโจทก์ไม่ได้โต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินและนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ และได้คัดค้านแนวเขตที่ดินที่จำเลยที่ ๑ นำรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน โดยทราบดีว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาท ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๘๕/๒๕๓๕ หมายเลขแดงที่ ๑๒๓๔/๒๕๓๕ ระหว่าง นายแจ่ม นิพิฐกุล โจทก์ นางตุ๊ จันทร์ดอน จำเลย ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืนและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว ที่ดิน น.ส. ๓ ของจำเลยที่ ๑ มีอาณาเขตกำหนดแน่นอนและไม่มีทางสาธารณะตัดผ่าน ทั้งยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า จำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดีกว่าโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ ๓ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกคำสั่งไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ แต่การพิจารณาว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่เป็นจริง และสามารถนำสืบข้อเท็จจริงเพื่อแสดงสิทธิในที่ดินต่างจากที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนได้ ดังนั้น การที่จะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยกันพื้นที่ส่วนที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านออกไป และมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทั้งแปลง ซึ่งมีผลทำให้ที่ดินของจำเลยที่ ๑ ทับที่ดินของโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เต็มทั้งแปลง กรณีเป็นการฟ้องว่า คำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ ๓ ในการสอบสวนเปรียบเทียบ ตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๓ เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อมีผลทำให้โจทก์ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ทั้งแปลง จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีมาจากการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองโดยมีประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งที่ ๔/๒๕๕๕ และ ๕/๒๕๕๕ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยที่ ๓ จะต้องออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งแปลงหรือไม่ แม้คดีนี้จะมีปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ประเด็นปัญหาดังกล่าวรับฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๘๕/๒๕๓๕ หมายเลขแดงที่ ๑๒๓๔/๒๕๓๕ และศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืนและคดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้จึงไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ส่วนข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ก็เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดิน โดยมีหลักฐานเป็น ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๘๑ ในการรังวัดชี้แนวเขตที่ดิน จำเลยที่ ๑ คัดค้านแนวเขตและไม่ยอมลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต และคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่า โจทก์นำรังวัดรุกล้ำ แนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขอออกโฉนดที่ดินโดยมีหลักฐานเป็น น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘๗/๙๕ ต่อจำเลยที่ ๓ และนำรังวัดชี้แนวเขตรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โจทก์และองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์คัดค้านแนวเขต โดยองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ นำชี้รุกล้ำทับทางสาธารณประโยชน์ (ทางเกวียน) จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งที่ ๔/๒๕๕๕ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์ โดยกันพื้นที่ส่วนที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านออกไป และมีคำสั่งที่ ๕/๒๕๕๕ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ ทั้งแปลงซึ่งทับที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ ๑ และบริวารคัดค้านแนวเขตในการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๔/๒๕๕๕ และ ๕/๒๕๕๕ ของจำเลยที่ ๓ กับให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งแปลง จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์และไม่ได้อยู่ในที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๘๑ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินและนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ และได้คัดค้านแนวเขตที่ดินที่จำเลยที่ ๑ นำรังวัดออกโฉนดที่ดิน โดยทราบดีว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืนและคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่พิพาท เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสายบัว นิพิฐกุล โจทก์ นางตุ๊ จันทร์ดอน ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายเอกนรินทร์ เทิ่งขุนทด ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share