แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน น.ส. ๓ ข. เนื้อที่ประมาณ ๓๕ – ๑ – ๘๓ ไร่ โดยที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางหลวงและมีการแบ่งขายอีก ๒ ครั้ง คงเหลือที่ดินเนื้อที่ ๑ – ๑ – ๕๒ ไร่ ผู้ฟ้องคดีขอให้ออกโฉนดที่ดิน แต่เจ้าพนักงาน ที่ดินได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ เนื้อที่ ๙ – ๐ – ๒๘ ไร่ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีและทางสาธารณประโยชน์ ขอให้เพิกถอนทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ เห็นว่า แม้คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทของหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๗/๒๕๕๘
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดขอนแก่น
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายบุญมา จังภูเขียว ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๗/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของนางตุ้ม จังภูเขียว และเป็นน้องของนายเขียม จังภูเขียว กับนางเจียม จังภูเขียว ซึ่งร่วมกันครอบครองและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๗๐๘ หมู่ที่ ๑๙ (๑) ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ ๓๕ – ๑ – ๘๓ ไร่ โดยที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางหลวง และได้มีการแบ่งขายอีก ๒ ครั้ง คงเหลือที่ดินเนื้อที่ ๑ – ๑ – ๕๒ ไร่ ต่อมานางตุ้ม นายเขียม และนางเจียม ได้เสียชีวิตลงที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อปี ๒๕๕๕ แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ ๙ – ๐ – ๒๘ ไร่ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีและทางสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดียังได้ออกหนังสืออนุญาตฉบับลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวสร้างสำนักงานอัยการจังหวัดชุมแพและบ้านพักข้าราชการ ขอให้เพิกถอนทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ และเพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ ที่พิพาท เดิมเป็นที่ดินของโรงเรียนบ้านกุดเข้ห้วยบง (โรงเรียนบ้านห้วยบง) ได้มาโดยการจับจองเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๘๔ ตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๖๒ ทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินของโรงเรียนบ้านกุดเข้ห้วยบงหรือโรงเรียนชุมแพ ๗ มีเนื้อที่ ๓๕ – ๐ – ๕๐ ไร่ เมื่อปี ๒๕๓๓ ได้ทำการรังวัดตรวจสอบและขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ มีเนื้อที่ ๙ – ๐ – ๒๘ ไร่ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๗๐๘ ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่ เพราะผู้ครอบครองเดิมรวมทั้งนางตุ้ม จังภูเขียว ได้โอนที่ดินไปให้บุคคลอื่นหมดแล้ว การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและอนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าว เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อต้นปี ๒๕๕๕ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๗๐๘ หมู่ที่ ๑๙ (๑) ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินแต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ทั้งได้มีการอนุญาตให้สำนักงานอัยการสูงสุดใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวในการก่อสร้างสำนักงานอัยการจังหวัดชุมแพและบ้านพักข้าราชการ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลเพิกถอนการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ ซึ่งออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีและทางสาธารณประโยชน์ และขอให้เพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่อนุญาตให้มีการใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนั้น เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้แล้ว เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๒ ข.) เลขที่ ๗๐๘ หมู่ที่ ๑๙ (๑) ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถขอออกโฉนดในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีไปกระทบสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามศาลปกครองดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน หรือห้ามนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอกอันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการรังวัดปักหลักเขตที่ราชพัสดุแปลงโรงเรียนบ้านกุดเข้ห้วยบง ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ ๑ – ๑ – ๕๒ ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเนื้อที่ ๙ – ๐ – ๒๘ ไร่ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำส่งขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลข ขก. ๒๐๙๓ โดยที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวนี้เป็นที่ดินส่วนที่เหลือหลังจากที่นายเขียม นางเจียม (หรือนางเกียม) นางตุ้ม แบ่งขายให้แก่นายจำปา สุขพัว และนางองุ่น สัธนะกุล ตามลำดับ บุคคลทั้งสามเสียชีวิตแล้วผู้ฟ้องคดีเป็นทายาทโดยธรรมของบุคคลทั้งสามที่ได้รับมรดกที่ดินในส่วนที่เหลือนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวอันเป็นการกล่าวอ้างในเรื่องสิทธิในที่ดินตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในข้อนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านกุดเข้ห้วยบงที่นายเขียน สุนทรพิทักษ์ เคยแจ้งการครอบครองไว้ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๘๙ มีเนื้อที่ประมาณ ๓๕ – ๒ – ๕๐ ไร่ และในที่ดินแปลงนี้ไม่มีทางสาธารณประโยชน์มีเพียงทางในที่ราชพัสดุเท่านั้น โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นมีหนังสือแจ้งยืนยันว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๗๐๘ ซึ่งเคยเป็นของนางตุ้ม นายเขียม และนางเจียม (หรือนางเกียม) นั้น บุคคลทั้งสามได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือ เนื้อที่ ๑๖ – ๑ – ๑๖ ไร่ ให้แก่นางองุ่น สัธนะกุล ไปหมดแล้ว จึงไม่มีที่ดินในบริเวณดังกล่าวเหลืออยู่อีก กรณีเป็นเรื่องที่ศาลต้องพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ราชพัสดุ จึงเป็นคดีพิพาทในทางแพ่งเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๗๐๘ หมู่ที่ ๑๙ (๑) ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ ๓๕ – ๑ – ๘๓ ไร่ โดยที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางหลวง และได้มีการแบ่งขายอีก ๒ ครั้ง คงเหลือที่ดินเนื้อที่ ๑ – ๑ – ๕๒ ไร่ ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินแต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้เนื่องจากขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ เนื้อที่ ๙ – ๐ – ๒๘ ไร่ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีและทางสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดียังได้ออกหนังสืออนุญาตให้สำนักงานอัยการสูงสุดใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว ขอให้เพิกถอนทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ และเพิกถอนหนังสือที่อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ขก. ๒๐๙๓ ที่พิพาท ได้มาโดยการจับจองตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๖๒ ทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินของโรงเรียนบ้านกุดเข้ห้วยบงหรือโรงเรียนชุมแพ ๗ และขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและอนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าว เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีจะมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทของหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะอันเป็นที่ราชพัสดุ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายบุญมา จังภูเขียว ผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ