คำวินิจฉัยที่ 46/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ แต่ถูกจำเลย ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันออกโฉนดที่ดินให้แก่บิดาจำเลยที่ ๑ รุกล้ำทับที่ดินของโจทก์บางส่วน และเมื่อโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ก็ถูกจำเลยที่ ๑ ซึ่งรับโอนที่ดินมาจากบิดาคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินอ้างว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ ประมาณ ๒๖ เมตร ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเพิกถอนโฉนดที่ดินส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ให้จำเลยที่ ๑ รื้อรั้วหรือสิ่งกีดขวางออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อรั้วหรือสิ่งกีดขวางเสร็จสิ้น ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทราบการรังวัดและระวางแนวเขตแต่ไม่มาคัดค้านการรังวัด การออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้แก่บิดาจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเพื่อให้โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องเพิกถอนโฉนด เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการออกโฉนดที่ดินให้แก่บิดาจำเลยที่ ๑ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ และจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินอ้างว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๖/๒๕๕๘

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุดรธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุดรธานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๗ นายทองมนัส เจริญสวามิภักดิ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นางปิยะวรรณ์ พงศ์วิโรจน์ ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๑๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๒๔๑ ตำบลขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๕๖ ตารางวา โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๕๒๔๖ ตำบลบ้านจั่น อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยรับโอนมรดกมาจากนายสำราญ ทับจันทร์ เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๕๒๔๖ เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๓๖๔ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเจ้าของเดิมได้ขายให้แก่นายสำราญ และนายสำราญได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ จากนั้นจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกันออกโฉนดที่ดินให้แก่นายสำราญรุกล้ำทับที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน ๒๒.๓ ตารางวา ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๒๔๑ แต่ถูกจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินอ้างว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ ประมาณ ๒๖ เมตร ทั้งที่เป็นที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการรบกวนสิทธิในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๕๒๔๖ ส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ รื้อรั้วหรือสิ่งกีดขวางออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อรั้วหรือสิ่งกีดขวางเสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทราบการรังวัดและระวางแนวเขตแต่ไม่มาคัดค้านการรังวัด เจ้าพนักงานรังวัดจึงดำเนินการสอบสวนและประกาศให้มาคัดค้านภายใน ๓๐ วัน เมื่อครบกำหนดเจ้าพนักงานที่ดินจึงออกโฉนดให้นายสำราญ การออกโฉนดที่ดินเป็นไปตามระเบียบและวิธีปฏิบัติของกรมที่ดินทุกประการ การออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้แก่นายสำราญชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ รุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกคืนภายใน ๑ ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาททางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของปกครอง การออกโฉนดที่ดินได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเพื่อให้โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๕๒๔๖ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำให้การ
ศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเป็นกรณีโจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๕๒๔๖ ซึ่งเป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการออกโฉนดที่ดินเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการด้วยการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน
ส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีซึ่งมิได้มีผลให้คดีที่เป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งแต่อย่างใด และแม้การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไปหรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครอง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๒๔๑ ตำบลขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๕๖ ตารางวา โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ แต่ถูกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๕๒๔๖ ให้แก่นายสำราญ บิดาจำเลยที่ ๑ รุกล้ำทับที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน ๒๒.๓ ตารางวา และเมื่อโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๒๔๑ ก็ถูกจำเลยที่ ๑ ซึ่งรับโอนที่ดินมาจากบิดาคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินอ้างว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ ประมาณ ๒๖ เมตร ทั้งที่เป็นที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการรบกวนสิทธิในที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๕๒๔๖ ส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ รื้อรั้วหรือสิ่งกีดขวางออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อรั้วหรือสิ่งกีดขวางเสร็จสิ้น ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทราบการรังวัดและระวางแนวเขตแต่ไม่มาคัดค้านการรังวัด การออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้แก่นายสำราญชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ รุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกคืนภายใน ๑ ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเพื่อให้โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๕๒๔๖ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการออกโฉนดที่ดินให้แก่บิดาจำเลยที่ ๑ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๒๔๑ ของโจทก์ และจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินอ้างว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ ๑ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายทองมนัส เจริญสวามิภักดิ์ โจทก์ นางปิยะวรรณ์ พงศ์วิโรจน์ ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share