คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2491/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญา 30,000 บาทผู้ค้ำประกันรับผิดเพียง 30,000 บาท กับดอกเบี้ยในจำนวนนั้น แต่ไม่ต้องรับผิดในจำนวนต้นเงินที่เกิน 30,000 บาท
ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้ตามจำนวนที่ต้องรับผิด แต่เจ้าหนี้ไม่รับชำระ เจ้าหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย หลังจากที่เจ้าหนี้ผิดนัด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 76,707.16บาท กับดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงิน 30,000 บาท โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 จริง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เกินวงเงิน 30,000 บาท หรือไม่ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 มีข้อความว่า “เนื่องในการที่ธนาคารยอมให้นายภักดี สิทธิพานิช ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามสัญญาลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2515 เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท(สามหมื่นบาทถ้วน) ผู้ค้ำประกันยอมเข้าประกันการชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้ว จนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิง” และข้อ 2 มีข้อความว่า”ถ้าแม้ว่าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆก็ตาม อันกระทำให้ธนาคารไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วเต็มจำนวนและตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาก็ดี ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวนั้นทันที” เห็นได้ว่าตามข้อสัญญานั้นจำเลยที่ 2 ยอมเข้าประกันการชำระหนี้จำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาทเท่านั้น ข้อความที่ว่า “จนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิง” ก็ดี และข้อความที่ว่าผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวนั้นทันทีก็ดี หมายความถึงรับผิดชำระหนี้จำนวน 30,000 บาทตามที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกัน มิใช่หนี้เกินจำนวนดังกล่าว

ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ย ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มีหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ 76,707 บาท 16 สตางค์แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 รับหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.7หลังจากรับหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยที่ 2 ได้เอาเงินจำนวน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยไปชำระแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระโดยจะเอาเต็มตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้เสนอชำระหนี้แก่โจทก์เต็มตามจำนวนที่ต้องรับผิด แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระเองโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 นับแต่วันที่ถือว่าโจทก์ผิด (วันที่ 23 กันยายน 2519) แต่ดอกเบี้ยของวงเงินค้ำประกัน 30,000 บาท ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีโดยวิธีทบต้นตั้งแต่วันทำสัญญาค้ำประกัน (วันที่ 8 พฤศจิกายน 2515) ถึงวันเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด (วันที่ 26 กรกฎาคม 2519) กับดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นของต้นเงินที่คำนวณได้ดังกล่าวข้างต้นตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2519 ถึงวันที่ 22กันยายน 2519 ซึ่งจำเลยที่ 2 ค้างชำระอยู่ก่อนโจทก์ผิดนัดนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีโดยวิธีทบต้นนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2515 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2519ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นถึงวันที่ 22 กันยายน 2519 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share