แหล่งที่มา : หนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ 2 ชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสกึ่งหนึ่ง และจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่ง โดยให้สัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ครอบติดไปด้วยนั้น เป็นกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา การสิ้นสุดแห่งการสมรส และสิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474, 1532, 1533 และ 1564 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว จึงเป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีความสัมพันธ์ในครอบครัวกับโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินของทรัพย์พิพาท ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้เก็บรักษาไว้ในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นกรณีที่มูลคดีเกี่ยวเนื่องกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์ที่ 2 อัตราเดือนละ 30,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 120,000 บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 2 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป อัตราเดือนละ 30,000 บาท จนกว่าโจทก์ที่ 2 อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 จนเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าการศึกษาอบรมให้แก่โจทก์ที่ 2 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนจบชั้นปริญญาตรีโดยชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงปีที่ 6 อัตราปีการศึกษาละ 80,000 บาท ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 อัตราปีการศึกษาละ 100,000 บาท ชั้นอุดมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 อัตราปีการศึกษาละ 200,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ 1 หลังจดทะเบียนหย่า อัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันจดทะเบียนหย่าถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน รวมเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 และจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะสมรสใหม่หรือถึงแก่ความตาย ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินของทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองชั่วคราวเพื่อนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้ใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงดังกล่าวจำนวนกึ่งหนึ่งและให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทรวมกันอีกจำนวนกึ่งหนึ่งโดยมีภาระจำนองครอบติดไปด้วยตามสัญญาจำนองเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ คิดคำนวณ ณ วันที่ 5 มกราคม 2556 เป็นจำนวนเงิน 3,995,867.39 บาท และหากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตาม โจทก์ทั้งสองขอถือเอาคำพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินทดรองจ่ายค่าผ่อนทรัพย์พิพาทนับแต่วันจดทะเบียนหย่าถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2555 ถึงปัจจุบันตามความเป็นจริงรวมเป็นจำนวนเงิน 449,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 จนเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คดีของจำเลยที่ 2 จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ 2 ชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสกึ่งหนึ่ง และจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่ง โดยให้สัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ครอบติดไปด้วยนั้น เป็นกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา การสิ้นสุดแห่งการสมรส และสิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474, 1532, 1533 และ 1564 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว จึงเป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินของทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อไปดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อของโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องนั้น แม้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีความสัมพันธ์ในครอบครัวกับโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทตามข้อตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่มูลคดีเกี่ยวเนื่องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ด้วย
วินิจฉัยว่า คดีของจำเลยที่ 2 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 4 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2557
ดิเรก อิงคนินันท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์)
ประธานศาลฎีกา
อโนชา ชีวิตโสภณ – ย่อ/ตรวจ