คำวินิจฉัยที่ 5/2557

แหล่งที่มา : หนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจเอก อ. ผู้ตาย ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่า จำเลยทั้งสองไม่แบ่งแยกสินสมรสของโจทก์ซึ่งรวมอยู่ในกองมรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งทั้งในส่วนที่เป็นที่ดินและทรัพย์สินอื่นไม่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายอีก ส่วนผู้ร้องสอดอ้างว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในอสังหาริมทรัพย์ รายการที่ 58 ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ได้ ดังนี้ แม้คดีจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. บรรพ 6 แต่เมื่อประเด็นหลักในคดีเป็นเรื่องที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามคำฟ้องกึ่งหนึ่งในฐานะที่เป็นสินสมรสหรือไม่ รวมทั้งทรัพย์สินที่ผู้ร้องสอดอ้างในคำร้องสอดนั้นเป็นของผู้ร้องสอดหรือเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายหรือเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย จึงเป็นคดีโต้เถียงกันเกี่ยวด้วยสินสมรส ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัวซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจเอก อ. ผู้ตาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2500 แต่ไม่มีบุตรด้วยกันจึงรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 และทำพินัยกรรมไว้โดยระบุในพินัยกรรมว่า ทรัพย์สินในส่วนของผู้ตายยกให้แก่จำเลยทั้งสองและบุตรของจำเลยทั้งสอง คือ เด็กหญิง ท. และเด็กหญิง ส. และให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวบรวมรายการทรัพย์สินของผู้ตาย รวมเป็นมูลค่า 638,374.26 บาท โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ระบุว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จึงถือว่าเป็นสินสมรสเนื่องจากก่อนและระหว่างสมรสกันนั้นโจทก์กับผู้ตายต่างมีสินส่วนตัวและสินเดิมมาก่อน และมีทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสซึ่งตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 มาตรา 1468 ให้สามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ผู้ตายจึงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์เพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด ดังนั้น ทรัพย์สินที่เป็นกองมรดกของผู้ตายแม้จะมีชื่อของผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์มีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่มีความสำคัญอื่น ๆ จำเลยทั้งสองจึงต้องแบ่งส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายออกจากส่วนที่เป็นมรดกก่อนแล้วจึงนำส่วนที่เหลือแบ่งให้แก่ทายาทอื่นตามพินัยกรรม แต่จำเลยทั้งสองอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย คงมีรายการทรัพย์สิน รวม 32 รายการ เท่านั้นที่เป็นสินสมรส การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้ถูกต้องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินที่เป็นส่วนแบ่งของสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่คำนวณได้ ณ วันฟ้อง จำนวน 275,863,209.70 บาท ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมตามส่วนแบ่งของสินสมรสกึ่งหนึ่งในโฉนดที่ดินเลขที่ 220 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร (ซอยไชยยศ) โฉนดที่ดินเลขที่ 107640-107641 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอประเวศ (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร (ซอยอ่อนนุช) โฉนดที่ดินเลขที่ 48396-48397 ตำบลดอกไม้ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร (ซอยอุดมสุข) โฉนดที่ดินเลขที่ 62454 ตำบลดอกไม้ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร (ซอยอุดมสุข) และโฉนดตราจองเลขที่ 1036 เล่ม 11 หน้า 36 เนื้อที่ 3 งาน 86 ตารางวา อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาต่อเจ้าพนักงานที่ดินในเขตท้องที่เพื่อจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์แทน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากกองมรดก ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งส่วนของสินสมรสในบัญชีทรัพย์มรดกส่วนที่ขาดหายไป 62 รายการ คือ รายการที่ 6, 15, 22-28, 31, 43, 57 และรายการ 64-113 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คำนวณดอกผลตามรายการทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้คำนวณ ณ วันฟ้อง และส่วนที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสจนถึงวันสิ้นสุดแห่งการสมรส (8 พฤศจิกายน 2553) ที่เป็นส่วนของสินสมรสให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวน 319,187,597.13 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมโจทก์กับผู้ตายมีบุตรชายด้วยกัน 2 คน แต่ถึงแก่ความตายไปตั้งแต่เป็นผู้เยาว์ ต่อมาผู้ตายกับโจทก์จึงจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรม ภายหลังผู้ตายกับโจทก์ยังจดทะเบียนรับนาง อ. กับนาย ก. หลานสาวหลานเขยของโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมด้วย ก่อนโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันมีข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินและการจัดการทรัพย์สินกันไว้ โดยต่างตกลงแบ่งแยกสินส่วนตัวออกจากกันและต่างครอบครองและจัดการทรัพย์สินของคู่สมรสแต่ละฝ่ายมาโดยตลอด หากมีทรัพย์สินของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีขึ้นภายหลังแล้วให้ใส่ชื่อของผู้ตายและโจทก์แยกออกจากกันและต่างไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายโดยทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งทั้งในส่วนที่เป็นที่ดินและทรัพย์สินอื่นไม่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย คงมีเพียงทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสซึ่งจำเลยทั้งสองแจ้งให้แก่โจทก์ทราบแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายอีก ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ทรัพย์สินรายการที่ 58 ซึ่งเป็นอาคาร 7 ชั้น ที่ปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 75553 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างนาง ส. จำเลยที่ 1 ผู้ร้องสอดและนาง ศ. ไม่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องสอด ผู้ร้องสอดอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 75553 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นของนาง ส. ที่แบ่งให้แก่บุตรซึ่งรวมถึงผู้ร้องสอดและจำเลยที่ 1 โดยในหนังสือสัญญาให้ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ข้อ 3 ระบุว่า การให้ที่ดินดังกล่าวไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าอาคาร 6 ชั้น และ 7 ชั้น ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวผู้ตายเป็นผู้ว่าจ้างให้ก่อสร้าง ประกอบกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายระบุไว้ในรายการทรัพย์สินของผู้ตาย รายการที่ 58 ว่าอาคารดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ซึ่งได้มาระหว่างสมรส โจทก์จึงมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง ส่วนผู้ร้องสอดซึ่งมีกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะในส่วนของที่ดินไม่อาจมายื่นคำร้องสอดในคดีนี้ ขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดและแก้ไขคำให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ตายใช้ดอกผลจากสินส่วนตัวของผู้ตายสร้างอาคาร 6 ชั้น และ 7 ชั้น ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 75553 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร อาคารดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ต่อมาขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ได้มอบกรรมสิทธิ์ในอาคารแต่ละชั้นให้แก่ทายาทของผู้ตายโดยโจทก์ทราบการกระทำดังกล่าวมาโดยตลอดและไม่ได้คัดค้านประการใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งอาคารดังกล่าว
ในวันนัดพร้อมหรือนัดชี้สองสถาน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจเอก อ. ผู้ตาย ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่า จำเลยทั้งสองไม่แบ่งแยกสินสมรสของโจทก์ซึ่งรวมอยู่ในกองมรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์โดยชอบ จำเลยทั้งสองให้การว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งทั้งในส่วนที่เป็นที่ดินและทรัพย์สินอื่นไม่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย คงมีเพียงทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสซึ่งจำเลยทั้งสองได้แจ้งให้แก่โจทก์ทราบแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายอีก ส่วนผู้ร้องสอดอ้างว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในอสังหาริมทรัพย์ รายการที่ 58 ซึ่งเป็นอาคาร 7 ชั้น ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ได้ ดังนี้ แม้คดีจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 แต่เมื่อประเด็นหลักในคดีเป็นเรื่องที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามคำฟ้องกึ่งหนึ่งในฐานะที่เป็นสินสมรสหรือไม่ รวมทั้งทรัพย์สินที่ผู้ร้องสอดอ้างในคำร้องสอดนั้นเป็นของผู้ร้องสอดหรือเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายหรือเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย จึงเป็นคดีโต้แย้งเถียงกันเกี่ยวด้วยสินสมรส ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัวซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

วินิจฉัย ณ วันที่ 4 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2557

ดิเรก อิงคนินันท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์)
ประธานศาลฎีกา

อโนชา ชีวิตโสภณ – ย่อ/ตรวจ

Share