คำวินิจฉัยที่ 3/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตนเองว่าร่วมกับนาย ว. และนาย ช. ปลอม น.ส. ๓ ก และนำมาจดทะเบียนจำนองกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า เมื่อคดีสืบเนื่องมาจาก นาย ว. ซึ่งเป็นเอกชนกู้ยืมเงินโจทก์โดยใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นนิติกรรมทางแพ่ง และศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า นาย ว. ร่วมกับจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์ยังได้ฟ้องนาย ว. กับนาย ช. เป็นคดีล้มละลายและคดีอาญาต่อศาลยุติธรรม จนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว มูลความแห่งคดีนี้ จึงเกี่ยวเนื่องกันกับคดีเดิม กรณีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลระบบเดียวกันคือ ศาลยุติธรรม เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โจทก์ ยื่นฟ้อง นายอิ่นคำ แสงใส ที่ ๑ นายกวี วีระสมิทธ์ ที่ ๒ นายสมบัติ ชื่นชม ที่ ๓ นายประสิทธิ์ ใจตรงกล้า ที่ ๔ นายสุวิทย์ จันทร์แสนตอ ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.๘๔๖/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ นายชาติชาย ศรีชนบท อดีตเจ้าพนักงานที่ดิน ได้ปลอมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ระบุชื่อนายวิสุทธิ์ บุรุษภักดี เป็นเจ้าของที่ดิน รวม ๒๘ ฉบับ โดยขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่ง ปลัดอำเภอขุนยวม และจำเลยที่ ๒ นายอำเภอขุนยวม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และลงนามออก น.ส. ๓ ก. ได้ลงนามออก น.ส. ๓ ก. ปลอมดังกล่าว ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และรู้เห็นการกระทำของนายชาติชาย ต่อมานายวิสุทธิ์ได้ขอกู้เงินจากโจทก์โดยยื่น น.ส. ๓ ก. ปลอมดังกล่าวเป็นหลักประกัน จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและประเมินราคาที่ดินที่เสนอเพื่อจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงิน จงใจไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติ ข้อบังคับของโจทก์ รู้อยู่แล้วว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและรู้เห็นการกระทำของนายชาติชาย กลับร่วมกันตรวจสอบประเมินราคาที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว แล้วเสนอเอกสารการตรวจสอบและประเมินราคาที่ดิน อันเป็นเอกสารอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการสาขา มีอำนาจหน้าที่บริหารงานโดยทั่วไปในกิจการของโจทก์ รวมทั้งมีอำนาจเกี่ยวกับการอนุมัติเงินกู้และอนุมัติราคาประเมินที่ดินที่จำนอง จงใจไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติ ข้อบังคับของโจทก์ อนุมัติการประเมินราคาที่ดินและเงินกู้ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับจำนองแทนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้รับจดทะเบียนจำนองและบันทึกในทะเบียนการจำนอง นายวิสุทธิ์ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์รวมจำนวน ๕ ฉบับ เป็นต้นเงินจำนวน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยยื่น น.ส. ๓ ก. ปลอมดังกล่าวจำนองเป็นประกันรวมวงเงินจำนองทั้งสิ้น ๒๒,๒๗๓,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่า น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว เป็นเอกสารสิทธิปลอมเนื่องจากที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์จึงเรียกให้นายวิสุทธิ์ชำระหนี้เงินกู้คืนแก่โจทก์ และแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับนายชาติชายและนายวิสุทธิ์ ฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และฐานฉ้อโกง ซึ่งศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนพิพากษาว่านายชาติชายมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและฐานฉ้อโกงให้ลงโทษจำคุก (คำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๔๑๑/๒๕๓๕ และ อ.๑๖๕๘/๒๕๔๖) และโจทก์ได้ฟ้องนายวิสุทธิ์ต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้นายวิสุทธิ์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว (คำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ล.๙๗๙/๒๕๔๓) เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ โจทก์ได้ขอให้กรมที่ดินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของนายชาติชาย ตามนัยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนและโจทก์ได้ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและได้ส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางพิจารณา ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๒ กรมบัญชีกลางได้แจ้งผลการพิจารณาว่าพฤติการณ์และการกระทำของนายชาติชายและจำเลยทั้งห้า เป็นการอาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ของตนดำเนินการในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้นายวิสุทธิ์ได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์โดยไม่มีหลักประกันการกู้ยืมอันแท้จริง เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยให้นายวิสุทธิ์กู้ยืมเงินโดยไม่มีหลักประกัน จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย การกระทำดังกล่าวของนายชาติชาย นายวิสุทธิ์ และจำเลยทั้งห้าเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน ๑๗,๓๐๙,๐๔๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ หากแต่ผู้แทนของโจทก์เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีขาดอายุความ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ประเมินราคาที่ดินในเบื้องต้นด้วยความระมัดระวังและรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ตามวิธีปฏิบัติ คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๕ ได้พิจารณาบันทึกการตรวจสอบที่ดินและให้ประเมินราคาตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ กระทำการด้วยความรอบคอบตามมาตรฐานงานที่โจทก์กำหนด ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับนายวิสุทธิ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๕ คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดทางอาญา โดยจำเลยทั้งห้าอาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามปกติทั่วไปของการปฏิบัติหน้าที่ โดยแบ่งหน้าที่กันดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามอำนาจหน้าที่ของตนโดยทุจริต เพื่อทำให้โจทก์หลงเชื่อว่านายวิสุทธิ์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ทั้ง ๒๘ ฉบับ ทำให้โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่นายวิสุทธิ์โดยไม่มีหลักประกันการกู้ยืม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ มูลคดีที่เป็นเหตุวินิจฉัยการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงมิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมิใช่คดีพิพาทในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า ธนาคารโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ประกอบธุรกิจอื่น อันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบการเกษตรกรรม ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงิน เพื่อการพัฒนาชนบท และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ ตามที่บัญญัติในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในขณะเกิดเหตุนั้น จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอขุนยวม รักษาราชการแทนนายอำเภอขุนยวม จำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอขุนยวม ทั้งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และลงนามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) อันเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ นั้น เป็นพนักงานที่ปฏิบัติงานในธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยที่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเป็นผู้มีอำนาจในการลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามมาตรา ๕๗ และมาตรา ๗๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกอบกับมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าวที่บัญญัติให้การปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวปฏิบัติต่อไปพลางก่อนจนกว่ารัฐมนตรีจะได้ประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาเป็นท้องที่ไป ซึ่งในมาตรา ๗๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนคู่กรณีและเรียกให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น หากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่านิติกรรมที่คู่กรณีนำมาขอจดทะเบียนนั้นเป็นโมฆะกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่คู่กรณีได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน ดังนั้น กรณีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามประมวลกฎหมายที่ดินที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินด้วยการใช้อำนาจลงนามออก น.ส. ๓ ก. และดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวระหว่างนายวิสุทธิ์ในฐานะผู้จำนองกับธนาคารโจทก์ในฐานะผู้รับจำนอง ซึ่งทำให้การกู้เงินของนายวิสุทธิ์เป็นการกู้เงินโดยไม่มีหลักประกัน การกระทำดังกล่าวของนายชาติชาย และของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หาใช่เป็นการกระทำในทางส่วนตัวไม่ เมื่อต่อมาภายหลังธนาคารโจทก์ทราบว่าเอกสารสิทธิในที่ดินที่นายวิสุทธิ์นำมาจำนองไว้กับธนาคารโจทก์เป็นเอกสารปลอมแล้ว ธนาคารโจทก์ไม่อาจบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินที่เป็นหลักประกันได้ เป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการกระทำละเมิดของนายชาติชาย และของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท ดังนั้น กรณีจึงมีลักษณะเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สำหรับการกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลงนามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งโจทก์มุ่งประสงค์จะขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระเงินค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ มูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จึงเป็นกรณีที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับมูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กรณีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาโดยศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้นายวิสุทธิ์ บุรุษภักดี ซึ่งเป็นเอกชนกู้ยืมเงินไป ๕ ครั้ง รวมเป็นเงิน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท การกู้ยืมเงินดังกล่าว นายวิสุทธิ์นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินปลอมรวม ๒๘ ฉบับ ซึ่งมีชื่อของตนเองเป็นผู้ครอบครอง และมีนายชาติชาย ศรีชนบท ลงนามในฐานะเจ้าพนักงาน มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันกับโจทก์ โดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบเพื่อตรวจสอบและประเมินราคาที่ดินให้รัดกุม แต่กลับเสนอเอกสารการตรวจสอบที่ดินแก่จำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ และจำเลยที่ ๕ ก็อนุมัติเงินกู้ให้แก่นายวิสุทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเอกสารปลอม ต่อมาโจทก์ทราบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์อยู่ในที่ป่าสงวน จึงดำเนินคดีอาญากับนายชาติชาย ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารสิทธิ และฐานฉ้อโกง จนศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายชาติชายไปแล้ว และโจทก์ดำเนินคดีกับนายวิสุทธิ์ เป็นคดีล้มละลายและศาลล้มละลายกลาง มีคำพิพากษาให้นายวิสุทธิ์ล้มละลายไปแล้วเช่นกัน โจทก์จึงเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมที่ดิน ซึ่งเป็นต้นสังกัดของนายชาติชาย ต่อมากรมบัญชีกลางพิจารณาว่า นายชาติชายกับจำเลยทั้งห้าอาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ของตนดำเนินการแต่ละขั้นตอนเพื่อให้นายวิสุทธิ์กู้ยืมเงินโจทก์โดยไม่มีหลักประกันมูลความแห่งคดีนี้ จึงสืบเนื่องมาจากการที่นายวิสุทธิ์ซึ่งเป็นเอกชนทำนิติกรรมกู้ยืมเงินโจทก์โดยใช้เอกสารปลอม นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายวิสุทธิ์ จึงเป็นนิติกรรมทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในบังคับของกฎหมายเอกชน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกับนายวิสุทธิ์ทำละเมิดต่อโจทก์ แม้จะไม่ได้ฟ้องนายวิสุทธิ์มาในคดีนี้ด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ก็ให้การไว้ด้วยว่า ไม่เคยรู้จักและไม่เคยร่วมมือกับนายวิสุทธิ์ทำละเมิดโจทก์ ดังนี้ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความด้วยว่า นายวิสุทธิ์ร่วมกับจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์ยังได้ฟ้องนายวิสุทธิ์กับนายชาติชาย เป็นคดีล้มละลายและคดีอาญาต่อศาลยุติธรรม จนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว มูลความแห่งคดีนี้จึงเกี่ยวเนื่องกันกับคดีเดิม กรณีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลระบบเดียวกันคือศาลยุติธรรม เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โจทก์ นายอิ่นคำ แสงใส ที่ ๑ นายกวี วีระสมิทธ์ ที่ ๒ นายสมบัติ ชื่นชม ที่ ๓ นายประสิทธิ์ ใจตรงกล้า ที่ ๔ นายสุวิทย์ จันทร์แสนตอ ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share