คำวินิจฉัยที่ 3/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง(๓)ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๑ นายไพฑูรย์ สุนทรพันธุ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ นายชาญณัฎฐ์ แก้วมณี ที่ ๓ สหกรณ์เคหสถานชุมชนรณชัย จำกัด ที่ ๔ นางน้ำทิพย์ สีนาคที่ ๕ นางวรรณี เพิกขุนทด ที่ ๖ นางสาวเพ็ญประภา ดวงกุศล ที่ ๗ นางศุภลักษณ์ เดชใกล้ ที่ ๘ นางสมหมายหรือนางสาวสมหมาย ศรีสังข์ ที่ ๙ นางสาหร่ายหรือนางสาวสาหร่าย ดวงกุศล ที่ ๑๐ นางลักขณา จิตประวัติ ที่ ๑๑ นางสำราญ คงสุวรรณ ที่ ๑๒ นายวัชระ พรหมโพธิ์ศรี ที่ ๑๓ นางสุฑาทิพย์เรือนงาม ที่ ๑๔ นางเย็นใจหรือนางสาวเย็นใจ อนุรักษ์ ที่ ๑๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๙๗/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเหน่ง สุนทรพันธุ์ มีที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๕๖๓, ๒๕๗๙๕ และ ๒๕๗๙๙ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์เป็นทรัพย์มรดก ในระหว่างที่นายเหน่งมีชีวิตอยู่ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเกิดที่งอกริมตลิ่งออกไปในแม่น้ำเจ้าพระยา นายเหน่งได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวและมีกรณีพิพาทกับ บุคคลอื่นซึ่งในปี ๒๕๓๖ ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำพากษารับรองว่าที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวเป็นของ นายเหน่งในช่วงก่อนมีกรณีพิพาทดังกล่าวจนถึงปัจจุบันที่งอกริมตลิ่งได้งอกออกไปในแม่น้ำเจ้าพระยาอีก เมื่อนายเหน่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกดังกล่าวย่อมตกเป็นของนายเหน่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๘ และเป็นทรัพย์มรดกของนายเหน่งด้วย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒เป็นนิติบุคคลประเภทหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลบริหารจัดการ จัดเก็บผลประโยชน์ที่ดินและหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมถึงที่ดินราชพัสดุในจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ ๓ ดำรงตำแหน่งธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์ และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๔ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีจำเลยที่ ๕ เป็นประธานกรรมการดำเนินการ จำเลยที่ ๖ ถึงที่ ๑๕ เป็นกรรมการดำเนินการ ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๔ ด้วย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ นำที่งอกริมตลิ่งของโจทก์บางส่วนออกให้จำเลยที่ ๔ เช่า และจดทะเบียนการเช่าเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ โดยสมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๕ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการโต้แย้งสิทธิ ละเมิดและบุกรุกที่ดินของโจทก์ ต่อมาเมื่อต้นปี ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๑๕ และสมาชิกของ จำเลยที่ ๔ พร้อมบริวารบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์ รื้อรั้วคอนกรีต ลวดหนาม เข้ามาถมดินและปรับพื้นดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดประโยชน์ซึ่งโจทก์สามารถนำที่ดินออกให้เช่าได้ในอัตราเดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่ารั้วคอนกรีตและลวดหนามเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้าและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่งอกริมตลิ่งของโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องอีก หากไม่ดำเนินการให้โจทก์ดำเนินการได้โดยจำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสิบห้าชำระค่าเช่าแก่โจทก์เดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบห้าและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่งอกริมตลิ่งของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินพิพาทไม่ใช่ ที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินทั้งสามแปลงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่เป็นทางน้ำที่ตื้นเขินในฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมถึงทุกปี จึงเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) คำพิพากษาของศาลจังหวัดนครสวรรค์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๗๐๑/๒๕๓๖ เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุก และจำเลยในคดีดังกล่าวขาดนัดยื่นคำให้การและ ขาดนัดพิจารณาเป็นการพิจารณาฝ่ายเดียว ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ต่อมามีการสร้างเขื่อนยื่นเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านหน้าที่ดินพิพาท จึงเกิดพื้นที่ว่างระหว่างหลังเขื่อนกับที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ซึ่งพื้นที่ว่างดังกล่าวมิใช่ที่งอกริมตลิ่งที่เกิดจากน้ำพัดพาเอาดินจากที่อื่นมาทับถมกันที่ริมตลิ่ง แต่เป็นชายตลิ่งที่น้ำท่วมไม่ถึงเนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ จึงถือว่าที่ดินที่ว่างหน้าที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีจำเลยที่ ๑ เป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ได้งอกออกจากที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์แต่งอกออกจากที่ดินที่เป็น ที่ราชพัสดุ เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าและอยู่ในเขตประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ลงวันที่๒๑สิงหาคม ๒๔๗๒ ที่หวงห้ามมิให้ผู้ใดจับจองถือกรรมสิทธิ์ ต่อเนื่องกับเขต พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่หวงห้ามไว้สำหรับใช้ในราชการกองทัพ ห้ามมิให้ผู้ใดจับจอง จึงเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.๒๕๑๘ จำเลยที่ ๑ มอบหมายให้จำเลยที่ ๒ มีอำนาจปกครอง ดูแล ใช้ จัดหาผลประโยชน์และบำรุงรักษาและพัฒนา ดังนั้น จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ จึงมีอำนาจทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลยที่๔ ถึงที่ ๑๕ ได้ และโจทก์ไม่เคยปักรั้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาของศาลจังหวัดนครสวรรค์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๗๐๑/๒๕๓๖ เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและเป็นคดีที่พิจารณาฝ่ายเดียว ยังไม่เป็นข้อยุติว่าที่ดินตามที่โจทก์อ้างเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ น้ำท่วมถึงทุกปี จึงไม่เป็นที่งอกริมตลิ่ง สมาชิกชุมชนรณชัยปลูกบ้านพักอาศัยในที่ดินพิพาทมาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี และไม่ได้รื้อรั้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินของตนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง และในส่วนที่ น้ำท่วมไม่ถึงเกิดจากการสร้างเขื่อนทำให้ดินที่อื่นเข้ามาทับถม จึงเป็นที่ริมตลิ่งและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีอำนาจนำที่ดินออกให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๕ เช่าได้ จำเลยที่๔ ถึงที่ ๑๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นที่ราชพัสดุ บางส่วนน้ำท่วมถึง ทุกปี จึงไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าและบริวารแล้วให้จำเลยทั้งสิบห้าชำระค่าเสียหายตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ถึงที่ ๓ นำที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๕ เช่า โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแล บำรุงรักษา และจัดให้เช่าที่ราชพัสดุตามมาตรา ๕ และมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ. ๒๕๑๘ ประกอบกับข้อ ๑๑ และข้อ ๒๔ ของกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครองดูแลบำรุงรักษา ใช้ และจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ และในการจัดให้เช่า ที่ราชพัสดุดังกล่าว ก็จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๗ อีกด้วย ดังนั้น การที่จำเลย ทั้งสามนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ราชพัสดุออกให้เช่า จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปกครองดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ประกอบกับกฎกระทรวงดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนำที่ดินพิพาทออกให้ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๕ เช่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย และขอให้จำเลยทั้งสิบห้าและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีก กับให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งจ่ายค่าเช่าให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการที่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเหน่ง สุนทรพันธุ์ ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินมีโฉนดทั้งสามแปลงของนายเหน่ง แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ นำที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวบางส่วนออกให้จำเลยที่ ๔ เช่า โดยสมรู้ร่วมคิดกับ จำเลยที่๔ ถึงที่ ๑๕ และจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๑๕ และสมาชิกของจำเลยที่ ๔ พร้อมบริวารกระทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง จึงเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ จึงเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมไม่ถึง เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่ดินซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ ของแผ่นดินโดยเฉพาะด้วย จึงเป็นที่ราชพัสดุ ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๕ ก็ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็น ที่ราชพัสดุ น้ำท่วมถึงทุกปี จึงไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่ง คดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสิบห้าโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่โจทก์ขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของนายเหน่งหรือเป็นที่ชายตลิ่งหรือที่ดินรกร้าง ว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายไพฑูรย์ สุนทรพันธุ์ โจทก์ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๕ คน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share