คำวินิจฉัยที่ 26/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๕๒

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลจังหวัดมีนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดมีนบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ นายเฮม เนื่องบุญมา โจทก์ ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๑ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.๑๓๙/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ ๑ โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิดนาซีรุดดีน ตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๐ แต่เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ ได้มีกลุ่มบุคคลยื่นหนังสือร้องเรียนใส่ความโจทก์ต่อจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์ขาดคุณสมบัติในการเป็นบิหลั่นของมัสยิด โดยกล่าวหาว่าโจทก์ถูกลงโทษจำคุกมาก่อนและมีพฤติกรรมทุจริตดำเนินการของมัสยิดไปในทางไม่สงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดความแตกแยกและเสียประโยชน์ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ มีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง โจทก์จึงยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๒ รวม ๒ ฉบับ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยว่าไม่รับคำร้องคัดค้านของโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่ทราบคำสั่ง จึงไม่มีสิทธิยื่น ส่วนคำร้องคัดค้านครั้งหลังโจทก์ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาให้ยื่นคำร้องคัดค้านแล้ว โจทก์เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ และระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการสอบสวน การพิจารณา การยื่นคำร้องคัดค้าน และการวินิจฉัยคำร้องคัดค้านกรณีให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๗ (๕) โดยประกาศของจำเลยที่ ๑ ที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งไม่ปรากฏรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริง และหลักศาสนาโดยชัดแจ้ง ไม่มีการสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าโจทก์เคยต้องโทษจำคุกจริงหรือไม่ ทุจริตอย่างไรหรือดำเนินกิจการของมัสยิดไปในทางไม่สงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดความแตกแยกและเสียผลประโยชน์อย่างไร ส่วนจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยสำนวนการสอบสวนของจำเลยที่ ๑ ตามระเบียบดังกล่าว ข้อ ๑๐ วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าสำนวนการสอบสวนของจำเลยที่ ๑ มีความบกพร่อง ขัดต่อระเบียบและกฎหมาย จำเลยที่ ๒ จึงมีหน้าที่ต้องรับคำร้องคัดค้านของโจทก์ไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้ถูกต้องต่อไป แต่จำเลยที่ ๒ กลับมีคำสั่งไม่รับคำร้องคัดค้านของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ที่ไม่รับคำร้องคัดค้านของโจทก์ กับขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิดนาซีรุดดีนต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อจำเลยที่ ๒ภายในกำหนด และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ถือเป็นที่สุด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ พิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโจทก์อย่างรอบคอบและเป็นธรรม โดยพยานหลักฐานปรากฏว่าโจทก์เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเรื่องร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จึงขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๑ ประกอบมาตรา ๑๗ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ. ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ โดยมติที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจปกครองถอดถอนผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง ข้อโต้แย้งการใช้อำนาจดังกล่าวจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่มีคำสั่งและโจทก์ยังไม่ได้รับทราบคำสั่งที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง และเป็นการยื่นต่อจุฬาราชมนตรี ไม่ใช่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนคำร้องคัดค้านครั้งหลังโจทก์ยื่นเกินกำหนด การที่จำเลยที่ ๒ มีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องคัดค้านของโจทก์ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ถือเป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ต้องฟ้องคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ทั้งคณะ ไม่ใช่ฟ้องจำเลยที่ ๒
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดให้มีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เป็นองค์กรทางศาสนา และมาตรา ๓๑ วรรคท้ายให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยออกระเบียบใช้บังคับแก่อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ภายใต้อำนาจกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยที่ตำแหน่งดังกล่าวมีการประกาศแต่งตั้งในราชกิจจานุเบกษา มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ประจำตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ก็อยู่ภายใต้อำนาจกำกับดูแลของรัฐและได้รับเงินค่าตอบแทนจากรัฐตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม คอเต็บและบิหลั่น (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงถือว่าสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานทางปกครองที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ โจทก์เคยได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ ๑ ให้ดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิดนาซีรุดดีน มีหน้าที่ในการประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา การที่จำเลยที่ ๑ วินิจฉัยว่าโจทก์เคยต้องโทษจำคุก ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทำให้เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๑ (๑) ประกอบระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของอิหม่าม คอเต็บและบิหลั่น พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๖ และมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งบิหลั่น และการที่จำเลยที่ ๒ มีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องคัดค้านของโจทก์ เนื่องจากยื่นพ้นกำหนดเวลา ตามระเบียบดังกล่าว ข้อ ๗ คำสั่งของจำเลยทั้งสองจึงออกโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับผู้อยู่ในบังคับบัญชา อันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นคดีปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓)คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนา ให้ดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิดนาซีรุดดีน เพื่อให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา อันเป็นการดำเนินการตามศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลามที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรสูงสุดทางศาสนา การที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้แทนจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งบิหลั่น ซึ่งเป็นการดำเนินการทางศาสนาขององค์กรทางศาสนา ซึ่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้จัดระบบความสัมพันธ์ของบุคคลและระบบการปกครองเพื่อควบคุมดูแลกิจการทางศาสนาอิสลามตามศาสนบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะตามการนับถือศาสนา และการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาแล้ว ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลามและการดำเนินการต่างๆ ขององค์กรทางศาสนาอิสลาม จึงเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่กิจการทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองเป็นองค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลามที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้จัดระบบความสัมพันธ์ของบุคคลและระบบการปกครองเพื่อควบคุมดูแลกิจการทางศาสนาไว้เป็นการเฉพาะตามความเชื่อในศาสนา รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลามและการดำเนินการต่างๆ ขององค์กรทางศาสนาอิสลาม ดังนั้น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่กิจการทางปกครอง ย่อมไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้โจทก์เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิดนาซีรุดดีน โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ และระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการสอบสวน การพิจารณา การยื่นคำร้องคัดค้าน และการวินิจฉัยคำร้องคัดค้านกรณีให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๒ และจากการที่จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งไม่รับคำร้องคัดค้านของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยระเบียบดังกล่าว ข้อ ๑๐ วรรคสอง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ที่ไม่รับคำร้องคัดค้านของโจทก์ กับขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิดนาซีรุดดีนต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกิจการทางศาสนาขององค์กรทางศาสนามิใช่กิจการทางปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเฮม เนื่องบุญมา โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๑ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ ๒จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share