แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. จากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง เมื่อนำ น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวไปขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนได้คัดค้านการรังวัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงสอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งงดออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี หากศาลเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เมื่อทำการรังวัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยื่นคำคัดค้านการรังวัดอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สอบสวนเปรียบเทียบและพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควร โดยผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๓ เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า จึงมีคำสั่งให้งดออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แม้จะเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อการวินิจฉัยสั่งการตามบทบัญญัตินี้ เป็นกรณีการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดิน โดยวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ฝ่ายที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๓ ที่งดออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และมีคำขอประการสำคัญ คือให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ย่อมกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินของเอกชน ทั้งสองฝ่าย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน โดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ เนื้อหาตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่การขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง แต่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาคุ้มครองและรับรองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามการบังคับคดีของศาลยุติธรรม จึงเป็นคดีที่ต่อเนื่องมาจากการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม