แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๕๔
วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๒ บริษัทวงศ์ภัทระ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องกรมทางหลวง และการประปานครหลวง ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๒๘/๒๕๕๒ และ ๒๐๒๙/๒๕๕๒ และเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๒ โจทก์ได้ยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวง ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๗๑/๒๕๕๒ ต่อมาได้โอนมารวมกับคดีของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๐๒๘/๒๕๕๒ โดยตั้งคดีใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๒๐๖/๒๕๕๒ ศาลแพ่งอนุญาตให้รวมคดีทั้งสามสำนวนเข้าด้วยกัน และให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๒๘/๒๕๕๒, ๒๐๒๙/๒๕๕๒ และ ๕๒๐๖/๒๕๕๒ ว่า จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ตามลำดับ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๘๒๔ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ปรับปรุงขยายถนนเทพารักษ์หรือทางหลวงจังหวัดสายสำโรง-บางพลี-บางบ่อ (๓๒๖๘) ด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ โจทก์ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือกว้างประมาณ ๑.๒๕ เมตร ยาวประมาณ ๕๕ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๗ ตารางวา และก่อสร้างบันไดทางเท้าขึ้นลงสะพานในที่ดินดังกล่าวด้วย ส่วนจำเลยที่ ๒ ได้วางท่อส่งน้ำประปาพร้อมอุปกรณ์เปิดปิดน้ำรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ประมาณ ๒.๘๕ เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินประมาณ ๖๐.๒๙ เมตร และจำเลยที่ ๓ ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ประมาณ ๑.๖๕ เมตร และพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินโจทก์ยาวตลอดแนวประมาณ ๖๐.๒๙ เมตร การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้รื้อถอนท่อส่งน้ำประปาพร้อมอุปกรณ์ กับเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า และทำที่ดินให้มีสภาพเรียบร้อยตามเดิม พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๓ รับรองแนวเขตที่ดินตามแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๘๒๔ ด้านติดถนนเทพารักษ์ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๓ ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งหักที่ดินพิพาทให้เป็นถนนเทพารักษ์อันเป็นทางสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ และแบ่งหักเพิ่มเติมให้อีกในปี ๒๕๑๕ การก่อสร้างทางหลวงและบันได ขึ้นลงเป็นการก่อสร้างในพื้นที่เขตทางหลวงมิได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ จึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิได้วางท่อประปาและอุปกรณ์การจ่ายน้ำรุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่วางในเขตแนวถนนเทพารักษ์หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๖๘ ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ มิได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่ได้กระทำไปตามที่จำเลยที่ ๑ ขยายถนนเทพารักษ์และแจ้งให้จำเลยที่ ๓ รื้อถอนเสาไฟฟ้าต้นเดิมและกำหนดตำแหน่งให้ปักเสาต้นใหม่และพาดสายไฟฟ้าลงในตำแหน่งที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๓ เข้าใจโดยสุจริตว่าปักเสาในแนวเขตที่ดินของกรมทางหลวงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๓ มิได้กระทำละเมิด ขอให้ ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ทำละเมิดวางท่อประปารุกล้ำที่ดินของโจทก์ และจำเลยที่ ๓ ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย มูลคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๘๒๔ แต่ถูกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ วางท่อประปาพร้อมอุปกรณ์กับเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์รังวัดตรวจสอบพบการกระทำดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิด ดังนี้ศาลจำต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายกันเพียงใด เมื่อจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองก่อนเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง นอกจากนั้นยังจำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดี รวมทั้งคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องประกอบด้วยซึ่งในแต่ละคดีจะมีความแตกต่างกันและไม่อาจเทียบเคียงกันได้ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ ๘๙๘๒๔ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา ทิศเหนือจดทางหลวงจังหวัดสายสำโรง-บางพลี-บางบ่อ (๓๒๖๘) หรือถนนเทพารักษ์ เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ได้ทำการปรับปรุงถนนสายดังกล่าวโดยได้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองบางเรือนให้สูงและกว้างขึ้น เพื่อก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กใช้เป็นทางกลับรถ และได้ก่อสร้างบันไดทางเดินเท้าขึ้นลงสะพาน โจทก์ได้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วพบว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ใช้เป็นทางกลับรถและบันไดทางเดินเท้าขึ้นสะพานดังกล่าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โดยทางเดินเท้าขึ้นลงสะพานรุกล้ำที่ดินโจทก์กว้างประมาณ ๑.๒๐ เมตร ส่วนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำที่ดินโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๑๗ ตารางวา และพบว่าจำเลยที่ ๒ ได้วางท่อประปาพร้อมอุปกรณ์ประตูเปิดปิดน้ำรุกล้ำที่ดินโจทก์ประมาณ ๒.๘๕ เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดินประมาณ ๖๐.๒๙ เมตร นอกจากนั้นจำเลยที่ ๓ ยังได้ปักเสาไฟฟ้าจำนวน ๑ ต้น รุกล้ำที่ดินโจทก์ประมาณ ๑.๖๕ เมตร และได้พาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินโจทก์ตลอดแนวยาวประมาณ ๖๐.๒๙ เมตร โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ และพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินกิจการทางปกครองเพื่อจัดให้มีถนน ประปา และไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศ แต่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีพิพาทดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่โจทก์ได้มีคำขอท้ายคำฟ้องรวม ๓ ข้อดังกล่าวนั้น เป็นคำขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามทำการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยห้ามมิให้ใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นถนนสาธารณประโยชน์ เป็นที่วางท่อประปา และเป็นที่ปักเสาพาดสายไฟฟ้าสาธารณะ กับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นกรณีที่มีคำขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามกระทำการทั้งหมดในที่ดินพิพาท และสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำการละเมิด ศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) ประกอบมาตรา ๗๑ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ ศาลแพ่งมีความเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลจึงต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นละเมิดหรือไม่และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายกันเพียงใด คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม นั้น ศาลปกครองกลางไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากที่ดินของโจทก์ตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๙๘๒๔ เป็นที่ดินที่มีอาณาเขตชัดเจนแน่นอน มีเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา การที่โจทก์ได้ขอรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงดังกล่าว โดยผลการรังวัดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ โจทก์ได้นำชี้ว่าเป็นที่ดินโจทก์จำนวนเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนเนื้อที่และรูปแผนที่ท้ายโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๙๘๒๔ ของโจทก์ และเมื่อโจทก์พบว่าจำเลยทั้งสามได้ทำการปรับปรุงถนนทางหลวงจังหวัด วางท่อประปา และปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ กรณีย่อมเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้โดยชอบหรือไม่ และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตทางหลวง การดำเนินการของจำเลยทั้งสามจึงมิได้รุกล้ำที่ดินโจทก์และมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเพียงการยกประเด็นเกี่ยวกับสถานะของที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นข้อต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นเขตทางหลวงซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมิได้เป็นผู้กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หาใช่กรณีพิพาทที่มีการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด และในการวินิจฉัยกรณีพิพาทคดีนี้ แม้ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือไม่เพื่อนำข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณาในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ก็เป็นเพียงการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามมิให้ศาลปกครองดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลหรือสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองย่อมมิอาจ ถือได้ว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เป็นแต่เพียงผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรักษา หรือวางท่อประปาพร้อมอุปกรณ์ หรือปักเสาพาดสายไฟฟ้าในเขตทางหลวงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น กรณีพิพาทในลักษณะเช่นนี้จึงไม่อาจเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งสามจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๘๒๔ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา โจทก์รังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวพบว่า จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือกว้างประมาณ ๑.๒๕ เมตร ยาวประมาณ ๕๕ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๗ ตารางวา และก่อสร้างบันไดทางเท้าขึ้นลงสะพานในที่ดินดังกล่าวด้วย ส่วนจำเลยที่ ๒ ได้วางท่อส่งน้ำประปาพร้อมอุปกรณ์เปิดปิดน้ำรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ประมาณ ๒.๘๕ เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินประมาณ ๖๐.๒๙ เมตร และจำเลยที่ ๓ ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ประมาณ ๑.๖๕ เมตร และพาดสายไฟฟ้าผ่านที่ดินโจทก์ยาวตลอดแนวประมาณ ๖๐.๒๙ เมตร การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้รื้อถอนท่อส่งน้ำประปาพร้อมอุปกรณ์ กับเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า และทำที่ดินให้มีสภาพเรียบร้อยตามเดิม พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๓ รับรองแนวเขตที่ดินตามแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๘๒๔ ด้านติดถนนเทพารักษ์ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๓ ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๓ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งหักให้เป็นถนนเทพารักษ์อันเป็นทางสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ และแบ่งหักเพิ่มเติมให้อีกในปี ๒๕๑๕ การก่อสร้างทางหลวงและบันไดขึ้นลงเป็นการก่อสร้างในพื้นที่เขตทางหลวงมิได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ จึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิได้วางท่อประปาและอุปกรณ์การจ่ายน้ำรุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่วางในเขตแนวถนนเทพารักษ์หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๖๘ ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ มิได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่ได้กระทำไปตามที่จำเลยที่ ๑ ขยายถนนเทพารักษ์และแจ้งให้จำเลยที่ ๓ รื้อถอนเสาไฟฟ้าต้นเดิมและกำหนดตำแหน่งให้ปักเสาต้นใหม่และพาดสายไฟฟ้าลงในตำแหน่งที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๓ เข้าใจโดยสุจริตว่าปักเสาในแนวเขตที่ดินของกรมทางหลวงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๓ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นถนนสาธารณะเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทวงศ์ภัทระ จำกัด โจทก์ กรมทางหลวง ที่ ๑ การประปานครหลวง ที่ ๒ การไฟฟ้านครหลวง ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ