คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ยานอนหลับผสมลงในเครื่องดื่มเบียร์ให้ผู้เสียหายดื่ม จนไม่รู้สึกตัวหลับไป แล้วปลดเอาเครื่องประดับของผู้เสียหายไป ดังนั้นจึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 5,6, 62, 106 และสั่งริบยาของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหามีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ แต่ปฏิเสธข้อหาปล้นทรัพย์
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62วรรคแรก, 106 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี และฐานปล้นทรัพย์จำคุก 12 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ13 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3มีกำหนดคนละ 8 ปี 8 เดือน ริบยาของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด9 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีมิดาโซแลม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้ยานอนหลับผสมลงในเครื่องดื่มเบียร์ให้ผู้เสียหายดื่มจนไม่รู้สึกตัวหลับไป แล้วปลดเอาสร้อยคอทองคำและพระเครื่องเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไป คงมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายด้วยหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวประกอบกันฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ยานอนหลับผสมลงในเครื่องดื่มเบียร์ให้ผู้เสียหายดื่มจนหมดสติ แล้วทำการปลดเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป อันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 เข้าไปทักทายผู้เสียหายภายหลังเกิดเหตุในขณะที่ผู้เสียหายกำลังตามหาจำเลยทั้งสามนั้น ยังไม่เพียงพอจะฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดพยานจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share