แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชน ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๓ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด ซึ่งอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้รับความเสียหายจากการที่คณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและไม่จ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีลักษณะเป็นทางสาธารณประโยชน์ คือ ซอยลาดพร้าว ๑๐๑/๑ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้อุทิศที่ดินแปลงดังกล่าวให้ทางราชการและยังสงวนสิทธิในการใช้ที่ดินตลอดมา จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีโอกาสอุทธรณ์หรือฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จึงได้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน เพื่อประโยชน์ในการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่กำหนดและไม่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒