แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๕๑
วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดเชียงราย
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงรายโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลจังหวัดเชียงรายและศาลปกครองเชียงใหม่ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด โจทก์ยื่นฟ้อง
ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีวงค์วรรณ์ ที่ ๑ นางจันทร์สม ศรีวงค์วรรณ์ ที่ ๒ กรมชลประทาน ที่ ๓จำเลยต่อศาลจังหวัดเชียงราย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๕/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน กง๖๐๒๖ เชียงรายจากนางอุไรพร ปรางค์สุวรรณ ผู้เอาประกันภัย มีบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ ระยะเวลา ๑ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ถึงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน๒๕๔๙ โดยมีเงื่อนไขว่าหากรถยนต์ที่เอาประกันภัยเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ ถูกเฉี่ยวชนหรือพลิกคว่ำ โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือทำการซ่อมรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ ๓ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำการปรับปรุงท่อลอดถนนทางหลวงของคลอง ๔ L-RMC กม.๓+๙๖๐ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว ในเขตพื้นที่ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๓๐มีนาคม ๒๕๔๙ เวลาประมาณ ๑ นาฬิกานายเกื้อพงศ์ ปรางค์สุวรรณ ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยมาถึงบริเวณก่อสร้าง นายเกื้อพงศ์ไม่สามารถหยุดรถหรือหลบหลีกสิ่งก่อสร้างได้ทันเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ขุดถนนให้เป็นหลุมเพื่อวางท่อส่งน้ำแต่ยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้ทำการติดป้ายสัญญาณไฟกระพริบ ป้ายสัญญาณจราจร หรือทำการอื่นใดเพื่อให้ผู้ใช้รถสัญจรในเวลากลางคืนสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล และในบริเวณก่อสร้างไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยตกลงในหลุมที่จำเลยที่ ๑ ขุดไว้ ได้รับความเสียหายทั้งคัน ไม่อาจซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมได้การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกจ้างหรือตัวแทนซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้าง วาน ใช้ มอบหมายหรือเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๓ หรือโดยที่จำเลยที่๓ ในฐานะผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในการหาผู้รับจ้าง มิได้ใช้ความระมัดระวังในการหาผู้รับจ้างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพและมีความรับผิดชอบ ตลอดจนรู้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานของกรมทางหลวงในการทำการก่อสร้าง หรือหาผู้รับจ้างโดยไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการในการจัดจ้างจำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดขึ้นด้วย โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการยกรถยนต์เป็นเงิน ๗,๐๐๐ บาท และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์เป็นเงิน๔๔๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น๕๔๑,๘๗๔ บาท
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างโดยได้ดำเนินการติดป้ายสัญญาณจราจรแจ้งเตือนผู้ใช้ยวดยานพาหนะ และก่อนเข้าดำเนินการก่อสร้างผู้ว่าจ้างได้ให้จำเลยที่ ๑ ทดลองป้ายสัญญาณ เมื่อเห็นว่าใช้การได้ดีและเป็นไปตามแบบมาตรฐานของกรมทางหลวงแล้วจึงอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เริ่มทำการก่อสร้างนายเกื้อพงศ์ขับรถด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงมากจนทำให้ไม่สามารถหยุดรถหรือหลบหลีกได้ทัน ทั้งที่จำเลยที่ ๑ ได้ติดตั้งป้ายเตือน สัญญาณไฟกระพริบ และสัญญาณไฟนีออนสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริงและคำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับฐานะของจำเลยที่ ๓ เคลือบคลุมจำเลยที่๓ ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นตัวการ ผู้จ้าง วาน ใช้ หรือมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ทำงาน ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ว่าจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๘ ซึ่งในการเลือกหาผู้รับจ้างจำเลยที่ ๓ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ ๑ ผู้รับจ้างมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วหลายงาน เชี่ยวชาญในวิชาชีพและมีความรู้ในการปฏิบัติงานจ้าง และจำเลยที่ ๓ ได้ใช้ความระมัดระวังในการงานที่สั่งให้ทำ โดยกำหนดเงื่อนไขการจ้างให้จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติ ทั้งมาตรการในการปฏิบัติงานและมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้ทางหลวงแผ่นดินที่มีการก่อสร้าง โดยต้องจัดทำทางเบี่ยงและป้ายสัญญาณจราจรต่างๆ และซ่อมผิวจราจรให้ถูกต้องตามแบบได้มาตรฐานของกรมทางหลวง ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่นายเกื้อพงศ์ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว นอกจากนี้ ในที่เกิดเหตุได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เตือน มีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าเปิดส่องสว่าง และมีเครื่องหมายลูกศรแสดงเส้นทางเบี่ยงบนถนนติดตั้งเอาไว้แล้วเป็นที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน แต่เหตุเกิดจากนายเกื้อพงศ์ขับรถโดยปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนายเกื้อพงศ์จึงเป็นฝ่ายประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่ารถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายสิ้นเชิงอย่างไร และโจทก์ไม่มีหลักฐานใดแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าเสียหายไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจเข้ารับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ ๓ รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๘ ในการที่ไม่ใช้ความระมัดระวังในการหาผู้รับจ้างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพและมีความรับผิดชอบ ตลอดจนรู้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานของกรมทางหลวง หรือหาผู้รับจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการในการจัดจ้าง ความรับผิดของจำเลยที่ ๓ ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นความรับผิดเฉพาะตนในการกระทำของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเมื่อการจ้างงานดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภคของประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงรายการจัดจ้างและการทำสัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะอันเป็นสัญญาทางปกครอง และการดำเนินการตามสัญญาจ้างของจำเลยที่๓ เป็นการกระทำทางปกครอง หากมีผู้ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว ต้องเรียกร้องและใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙กรณีที่มีการใช้สิทธิทางศาลจึงย่อมเป็นอำนาจของศาลปกครองทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๑/๒๕๔๙
ศาลจังหวัดเชียงรายเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นผู้รับประกันวินาศภัย และอ้างว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยจากโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเอกชน ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานของทางราชการ การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ต้องฟังให้ได้ความว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แม้จำเลยที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานของทางราชการ และโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติที่จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลที่จะมารับจ้างดำเนินการแทนจำเลยที่ ๓ ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ด้วยกรณีก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะพิจารณาว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) เพราะตามคำฟ้องของโจทก์ก็มุ่งประสงค์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายโดยตรง ซึ่งต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่๒ เป็นหลัก คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๑/๒๕๔๙ ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า จำเลยที่ ๓ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ในการดำเนินการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำ หรือกัก เก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือแบ่งน้ำ เพื่อเกษตรกรรม การพลังงานการสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม เมื่อจำเลยที่ ๓ ทำการปรับปรุงท่อลอดถนนทางหลวงตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๓ กระทำการโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ทำการปรับปรุงท่อลอดถนนทางหลวงดังกล่าว อันเป็นการดำเนินงานในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๓ มีอำนาจในการควบคุม ตรวจสอบและสั่งการในการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ ขุดถนนให้เป็นหลุมเพื่อวางท่อส่งน้ำแต่ยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ทำการติดป้ายสัญญาณ ไฟกระพริบ ป้ายสัญญาณจราจร หรือทำการอื่นใดเพื่อให้ผู้ใช้รถสัญจรในเวลากลางคืนสามารถมองเห็นได้ในระยะไกลโดยจำเลยที่ ๓ มิได้ควบคุมตรวจสอบ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ตกลงในหลุมที่จำเลยที่ ๑ ขุด จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในมูลคดีเรื่องละเมิดซึ่งข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างตามคำฟ้องสรุปได้ว่า เหตุละเมิดที่ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ขุดถนนให้เป็นหลุมเพื่อวางท่อส่งน้ำแต่ยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้ทำการติดป้ายสัญญาณ ไฟกระพริบ ป้ายสัญญาณจราจร หรือทำการอื่นใดเพื่อให้ผู้ใช้รถสัญจรในเวลากลางคืนสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล และในบริเวณก่อสร้างไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยตกลงในหลุมที่จำเลยที่ ๑ ขุดไว้ ได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ในฐานะลูกจ้างหรือตัวแทนซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้าง วาน ใช้ มอบหมายหรือเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๓ หรือจำเลยที่ ๓ในฐานะผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในการหาผู้รับจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๘ ในการที่จำเลยที่ ๓ มิได้ใช้ความระมัดระวังในการหาผู้รับจ้างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพและมีความรับผิดชอบ ตลอดจนรู้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานของกรมทางหลวงในการทำการก่อสร้าง หรือหาผู้รับจ้างโดยไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการในการจัดจ้าง จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๑ก่อให้เกิดขึ้นด้วย เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ทำการปรับปรุงท่อลอดถนนทางหลวงโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย ประเด็นแห่งคดีส่วนนี้จึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ในฐานะผู้ว่าจ้างทำของตามสัญญาจ้างปรับปรุงท่อลอดถนนทางหลวงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้าง หรือหาผู้รับจ้างโดยไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการในการจัดจ้างด้วย แต่จำเลยที่ ๓ จะมีความรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยที่๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก่อน หากเป็นการกระทำละเมิดจึงจะพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่๓ เป็นผู้ผิดในการเลือกหาจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับจ้าง หรือหาผู้รับจ้างโดยไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีในส่วนการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นส่วนสำคัญ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามจึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกัน และเหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีวงค์วรรณ์ ที่ ๑ นางจันทร์สม ศรีวงค์วรรณ์ ที่ ๒ กรมชลประทาน ที่ ๓ จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๖