แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๕๑
วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๑
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ นายวิวัฒน์ วรรณยิ่ง ที่ ๑ นางนภัสรพี หรือภัทราวดี ธนไพศาลพิพัฒน์ ที่ ๒ นายสมเดช โสภณศิรินันท์ ที่ ๓ นายภูดิส บุญจรัสรวี ที่ ๔ นางสุนีย์ บุญจรัสรวีที่๕นายโรม แย้มสงวนศักดิ์ ที่ ๖ โจทก์ยื่นฟ้อง นายพจน์หรือ ฉัฐพล ศกุนตะลักษณ์ ที่ ๑นายพงศ์กฤษณ์ ศกุนตะลักษณ์ ที่ ๒ นายกิตติภัทร ศิริพานิช ที่ ๓ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) ที่ ๔ กรมที่ดิน ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๕๑๐/๒๕๔๙ ความว่า ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันจัดสรรที่ดินโครงการเพชรบุรี ๑๙ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๐ ตารางวา แบ่งขายทั้งหมด ๒๓ แปลง มีการโฆษณาขายโครงการดังกล่าวต่อบุคคลทั่วไปเข้าข่ายเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๑ แต่มิได้ขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน ต้องห้ามตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่๒๘๖ ข้อ ๑๐ โจทก์ทั้งหกตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยที่ ๑และที่ ๒ ในโครงการดังกล่าว แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ แต่การที่ได้มีการแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อยเพื่อขายและให้คำมั่นหรือแสดงโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะหรือปรับปรุงในที่ดินในโครงการเป็นที่อยู่อาศัยที่ประกอบการพาณิชย์ รวมทั้งมีการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๘ ให้ตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเป็นทางเดินเข้าออกและทางรถยนต์ของที่ดินที่มีการจัดสรร (พื้นที่ส่วนกลาง) ตามบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๙ วันที่ ๔พฤศจิกายน ๒๕๔๐ และวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๑ นั้น ถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว แต่ประมาณปลายปี ๒๕๔๔ หลังจากพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ใช้บังคับ นายอาวุธ ศิริพานิช ตัวแทนเชิดของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนกลางมาจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำพื้นที่ส่วนกลางไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดลงหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหายเป็นละเมิด จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และนายอาวุธต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๐๘๙๐/๒๕๔๗ ว่าที่ดินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แบ่งเป็นทางออกสู่ถนนเพชรบุรี ๑๙ ตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ทั้งหกตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๔ แล้วโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ได้จำนองที่ดินนั้นกับจำเลยที่ ๔ ในวันเดียวกัน โดยมีเจ้าพนักงานที่ดินสังกัดจำเลยที่ ๕ เป็นผู้รับจดทะเบียน การกระทำของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๐ วรรคสอง และมาตรา ๓๓ นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ และทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหายเสียสิทธิในการใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะอย่างปลอดบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และภาระจำนองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน (พื้นที่ส่วนกลาง) โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๘ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ ให้จำเลยที่ ๓และที่ ๔ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ (พื้นที่ส่วนกลาง)ให้จำเลยที่ ๕ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๘ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ ระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๘ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ และขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๘ ระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และการจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓เป็นโมฆะ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทให้กับโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และโจทก์ที่ ๖ แล้ว ก่อนที่ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓เนื่องจากที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นถนนและเป็นสาธารณูปโภคอันต้องตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร โจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ จึงได้สิทธิแห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ในโครงการจัดสรรทุกราย การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้แก่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ นำไปจดทะเบียนจำนองกับจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ รับจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ เคยรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๘ จากจำเลยที่ ๓ จริงโดยจดทะเบียนนิติกรรมจำนองชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๓ ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่๔ ไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีก โจทก์จึงไม่อำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งหกไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ ๕ หรือเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๕ การรับจดทะเบียนนิติกรรมขายและนิติกรรมจำนองที่ดินแปลงพิพาทเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่อันถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินแปลงพิพาทไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามที่กำหนดในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๘๖ ทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินตามประกาศคณะปฏิวัติและไม่ถือว่าเป็นที่ดินแปลงสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ที่พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ก่อภาระผูกพันใด ๆ เหนือที่ดินดังกล่าว ที่ดินแปลงพิพาทไม่มีข้อจำกัดในการกระทำนิติกรรมใด ๆ แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๖ และอยู่ภายใต้การจำนองกับจำเลยที่ ๔ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีที่โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท (พื้นที่ส่วนกลาง) โดยโจทก์ทั้งหกกล่าวมาในฟ้องชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งหก ฟ้องว่าการที่จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ทำนิติกรรมการขายที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินส่วนกลางให้แก่ จำเลยที่ ๓ และต่อมาจำเลยที่ ๓ จดทะเบียนจำนองให้แก่จำเลยที่ ๔เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๘๖ ข้อที่ ๑๐ และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๐ วรรคสองและมาตรา ๓๓ ทำให้การจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวและการจดทะเบียนที่ดินจำนองเป็นโมฆะ เป็นการที่โจทก์ทั้งหกโต้แย้งสิทธิในที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนกลางจะโอน ขายไม่ได้ ซึ่งเป็นการบังคับใช้สิทธิในทางแพ่งของโจทก์ทั้งหกและถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหกยกเป็นข้ออ้างในเรื่องถูกโต้แย้งสิทธิในที่ดินการที่โจทก์ทั้งหกขอให้เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๕ เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายและนิติกรรมทางจำนองเป็นวิธีการร้องขอให้บังคับคดีในทางแพ่งเท่านั้นไม่ใช่กรณีที่โจทก์ทั้งหกโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของเจ้าพนักงานที่ดินแต่อย่างใด และมิได้โต้แย้งว่า เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอาจจะมีคำขอให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดิน กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ตามที่โจทก์ร้องขอ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่โต้แย้งกันเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดินและเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๘๑/๒๕๔๕ และศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๐๘๙๐/๒๕๔๗ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งอีกจึงมีข้อพิจารณาว่าจะเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเบื้องต้นที่ศาลแพ่งชอบที่จะพิจารณาให้เป็นไปตามหลักกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ
กล่าวสำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ ๕ นั้น คดีนี้ไม่ปรากฏข้อหาในส่วนของจำเลยที่ ๕ ว่าได้กระทำหรือละเว้นการกระทำอันใดอันจะเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์หรือเป็นกรณีที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาล อีกทั้งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใด โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ และวรรคแปด บัญญัติว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒เอาไว้การกระทำหรือการละเว้นการกระทำของจำเลยที่ ๕ ที่อาจจะมีขึ้น จึงมิใช่การบังคับคดีทางแพ่งแต่อย่างใด และหากเกิดเหตุแห่งการฟ้องคดีขึ้นจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของจำเลยที่ ๕ ก็มีลักษณะเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว สำหรับคดีนี้ราษฎรทั้งหกยื่นฟ้องเอกชนทั้งสี่และหน่วยงานทางปกครองขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน(พื้นที่ส่วนกลาง) โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๘ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ ให้จำเลยที่ ๓ และที่๔จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ (พื้นที่ส่วนกลาง) ให้จำเลยที่ ๕ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๘ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ ระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๘ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ ระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ และขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๙๘ ระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และการจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓เป็นโมฆะ โดยคดีระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันทั้งสองศาลเห็นพ้องกันว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าอยู่อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกอ้างว่า ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑และที่ ๒ จัดสรรที่ดินแบ่งขายทั้งหมด ๒๓ แปลง แต่มิได้ขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน เป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๑๐ แต่ได้ให้คำมั่นหรือแสดงโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะหรือปรับปรุงในที่ดินในโครงการเป็นที่อยู่อาศัย ที่ประกอบการพาณิชย์ รวมทั้งมีการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๘ ให้ตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเป็นทางเดินเข้าออกและทางรถยนต์ของที่ดินที่มีการจัดสรร (พื้นที่ส่วนกลาง) ตามบันทึกข้อตกลงสองฉบับ เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ นายอาวุธ ตัวแทนเชิดของจำเลยที่ ๓ ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนกลางจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำพื้นที่ส่วนกลางไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทำให้ประโยชน์แห่ง ภาระจำยอมลดลงหรือเสื่อมความสะดวก ต่อมาโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่๓ และนายอาวุธต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๐๘๙๐/๒๕๔๗แล้วว่าที่ดินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แบ่งเป็นทางเดินเข้าออกและทางรถยนต์ดังกล่าวตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ทั้งหกจึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในฐานะผู้ซื้อและผู้ขายพื้นที่ส่วนกลาง จำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้รับจำนอง และ จำเลยที่ ๕ ในฐานะผู้รับจดทะเบียนสิทธิซื้อขายและจำนองเป็นคดีนี้อ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๐ วรรคสอง และมาตรา ๓๓ นิติกรรมการซื้อขายและการจดทะเบียนจำนองตกเป็นโมฆะ และทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหายเสียสิทธิในการใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะอย่างปลอดบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และภาระจำนองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน (พื้นที่ส่วนกลาง) ให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดิน (พื้นที่ส่วนกลาง) ให้จำเลยที่ ๕ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน (พื้นที่ส่วนกลาง) ระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดิน (พื้นที่ส่วนกลาง) ระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔และขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดิน (พื้นที่ส่วนกลาง)ระหว่างจำเลยที่ ๑และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และการจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นโมฆะ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และโจทก์ที่ ๖ และมีสภาพเป็นถนนและสาธารณูปโภคอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร จำเลยที่ ๔ ให้การว่า รับจำนองโดยชอบ ส่วนจำเลยที่ ๕ ให้การว่า การจดทะเบียน นิติกรรมซื้อขายและจำนองถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายที่ดินดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นที่ดินแปลงสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ที่ห้ามก่อภาระผูกพันใด ๆ และไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อพิพาทอันเป็นประเด็นแห่งคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ ๒๙๘ ว่าเป็นที่ดินพื้นที่ส่วนกลางที่ตกอยู่ในบังคับภาระจำยอม เป็นทางเดินเข้าออกและทางรถยนต์ของที่ดินที่มีการจัดสรรหรือไม่ หากที่พิพาทดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนกลางย่อมต้องห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำ นิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินดังกล่าวการทำนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และการทำนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ตลอดจนการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ไม่อาจกระทำได้ แต่หากที่ดินพิพาทดังกล่าวมิใช่พื้นที่ส่วนกลางแล้ว การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวของเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมไม่ถูกจำกัดสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งหกได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนกลางตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญมูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ ๕ จึงสืบเนื่องมาจากสถานะทางกฎหมายของที่ดินพิพาทอันเป็นมูลคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่ทั้งสองศาลเห็นพ้องต้องกันว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ ๕ ในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวิวัฒน์ วรรณยิ่ง ที่ ๑ นางนภัสรพีหรือภัทราวดี ธนไพศาลพิพัฒน์ ที่ ๒ นายสมเดช โสภณศิรินันท์ ที่ ๓ นายภูดิส บุญจรัสรวี ที่๔ นางสุนีย์ บุญจรัสรวี ที่ ๕ นายโรม แย้มสงวนศักดิ์ ที่ ๖ โจทก์ นายพจน์หรือฉัฐพล ศกุนตะลักษณ์ ที่ ๑ นายพงศ์กฤษณ์ ศกุนตะลักษณ์ ที่ ๒ นายกิตติภัทร ศิริพานิช ที่ ๓ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๔ กรมที่ดิน ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๗