คำวินิจฉัยที่ 19/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ยื่นฟ้องบริษัทเอกชน จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนรางตามประกาศประกวดราคาของโจทก์ แต่ไม่มาลงนามในสัญญาภายในกำหนด ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์เสียโอกาสในการหารายได้และค่าราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้นจากการจ้างผู้เสนอราคารายใหม่ กับให้จำเลยที่ ๒ รับผิดตามหนังสือค้ำประกัน เมื่อโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน อันเป็นบริการสาธารณะด้านการขนส่งที่รัฐเป็นผู้จัดทำขึ้น แม้มูลคดีจะเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงในการประกวดราคาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในขั้นตอนก่อนเข้าทำสัญญาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้า แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อที่จะนำไปสู่การทำสัญญาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะของโจทก์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๕๖

วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ การท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทอิมซา (ประเทศมาเลเซีย) จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๕๓/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ โจทก์มีประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่อง ประกวดราคาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า ชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Shore Side Gantry Crane) ขนาดยกน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๔๐ เมตริกตัน จำนวนสองคัน จำเลยที่ ๑ ยื่นแบบใบเสนอราคา ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗ เสนอราคารวมทั้งสิ้น ๓๔๕,๙๙๙,๔๘๐ บาท และได้มอบหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเป็นเงิน ๑๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา แต่จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาตามเงื่อนไขการประกวดราคา ไม่มาลงนามในสัญญาภายในกำหนด โจทก์จึงยกเลิกการว่าจ้างจำเลยที่ ๑ และว่าจ้างบริษัทไทรอัมฟ์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และกลุ่มร่วมค้า ในวงเงิน ๓๔๙,๘๙๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเสนอราคาสูงกว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓,๘๙๐,๕๒๐ บาท โจทก์เสียหายจากการเสียโอกาสในการหารายได้จากการให้บริการปั้นจั่นยกสินค้า วันละไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์คิดค่าเสียโอกาสในการขาดรายได้วันละ ๕๐,๐๐๐ บาท รวมราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้นจากการจ้างผู้เสนอราคารายใหม่เป็นเงิน ๓,๘๙๐,๕๒๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๕,๑๙๐,๕๒๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๒๕,๑๙๐,๕๒๐ บาท ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๑๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๑๙,๗๙๖,๘๗๕ บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาเพราะไม่ใช่ผู้เสนอราคาต่ำสุด และโจทก์ไม่เคยมีมติอนุมัติการทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ รวมทั้งผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการโจทก์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ สัญญาใบเสนอราคาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากหนังสือของโจทก์ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ไม่ใช่คำสนองในการตกลงยอมรับใบเสนอราคาและผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้เข้าทำสัญญา ใบเสนอราคาจึงสิ้นความผูกพัน และการที่โจทก์ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังบริษัท วี.วาย.เอส.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นการไม่ชอบ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่เคยแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการผิดสัญญาใบเสนอราคาและสูงเกินสมควร ความจริงโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย และไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า วันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาต่อโจทก์พ้นกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ แล้ว โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ จากการว่าจ้างบริษัทอื่น แทนจำเลยที่ ๑ การที่โจทก์ต้องใช้เวลา ๑ ปี ๒ เดือน ในการทำสัญญากับบรัษัทอื่นเป็นความผิดของโจทก์เอง ค่าเสียหายไกลเกินกว่าเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และสัญญาพิพาทมีข้อกำหนดลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐเพื่อการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง จึงเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ เทียบเคียงได้กับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๖๐/๒๕๔๘ และที่ ๓๕๒/๒๕๔๘
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่สัญญาที่ตกลงกันเพื่อจะนำไปสู่การทำสัญญาที่มีลักษณะหนึ่งตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะสัญญาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า ไม่ใช่สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ เนื่องจากปั้นจั่นยกตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์เป็นของใช้งานในท่าเรือปกติ ผู้ใดไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่มีสิทธิใช้บริการ จึงมิใช่มีไว้เพื่อบริการสาธารณะ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์มีประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่อง ประกวดราคาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการผลิตปั้นจั่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าแข่งขันราคากัน ด้วยวิธีการประกวดราคา หากผู้เสนอราคารายใดเสนอราคาที่เหมาะสมแก่การว่าจ้างในราคาต่ำสุด ผู้เสนอราคารายนั้นจะเป็นผู้ชนะการประกวดราคาและมีสิทธิเข้าทำสัญญากับโจทก์ ซึ่งในชั้นนี้ประกาศประกวดราคาดังกล่าวของโจทก์ มีลักษณะเป็นคำเชื้อเชิญให้ผู้มีอาชีพประกอบกิจการผลิตปั้นจั่นทำคำเสนอต่อโจทก์ เมื่อต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นใบเสนอราคา จึงเป็นการทำคำเสนอ ขอเข้าทำสัญญากับโจทก์ และเมื่อโจทก์ได้พิจารณาอนุมัติรับราคาที่จำเลยที่ ๑ เสนอและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ไปทำสัญญาจ้างกับโจทก์ถือว่าโจทก์ได้เลือกให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้สนองรับคำเสนอของจำเลยที่ ๑ แล้ว จึงก่อให้เกิดสัญญาขึ้นตามนัยมาตรา ๓๖๑ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งเรียกว่า “สัญญาประกวดราคา” ซึ่งเป็นสัญญาเบื้องต้นที่คู่สัญญามีความผูกพันที่จะต้องเข้าทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือในภายหลัง โดยที่สัญญาประกวดราคามีโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาและมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์ใช้เอกสิทธิ์ของรัฐในการกำหนดข้อตกลงของสัญญาไว้เป็นการล่วงหน้า ไม่ว่าจะในเรื่องของการมีคำสั่งรับคำเสนอราคาของคู่สัญญา อันเป็นบ่อเกิดของคู่สัญญา การควบคุมการปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขสัญญาและการบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่อาจกำหนดเปลี่ยนแปลง ต่อรอง หรือปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวได้เลย อันแสดงให้เห็นถึงข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองของโจทก์ซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล กรณีจึงเป็นลักษณะพิเศษของสัญญาทางปกครองซึ่งไม่อาจพบได้ในสัญญาทางแพ่งที่จะยึดหลักเสรีภาพของคู่สัญญาในการกำหนดข้อตกลงของสัญญาเป็นสำคัญ สัญญาประกวดราคาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง ตามประกาศประกวดราคาของโจทก์ แต่ไม่มาลงนามในสัญญาภายในกำหนด โจทก์จึงยกเลิกการว่าจ้างและว่าจ้างเอกชนรายอื่นซึ่งเสนอราคาสูงกว่าจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ต้องเสียโอกาสในการหารายได้จากการให้บริการปั้นจั่นยกสินค้าและค่าราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้นจากการจ้างผู้เสนอราคารายใหม่ จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกัน ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา สัญญาใบเสนอราคาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่เคยเกิดขึ้น ใบเสนอราคาของจำเลยที่ ๑ สิ้นความผูกพันไปก่อนวันที่โจทก์ส่งหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำสัญญา ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการผิดสัญญาใบเสนอราคา จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกันแล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ และมาตรา ๖ (๒) (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจการของโจทก์ว่า ประกอบและส่งเสริมกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน กับดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ และมาตรา ๙ กำหนดให้โจทก์มีอำนาจที่จะกระทำการต่างๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ และให้รวมถึงอำนาจกระทำการอื่นๆ เช่น สร้าง ซื้อ จัดหาจำหน่าย เช่า ให้เช่า และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการและความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ รวมถึงควบคุม ปรับปรุง และให้ความสะดวกและความปลอดภัยแก่กิจการการท่าเรือและการเดินเรือภายในอาณาบริเวณ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน อันเป็นบริการสาธารณะด้านการขนส่งที่รัฐเป็นผู้จัดทำขึ้น แม้มูลคดีจะเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงในการประกวดราคาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้า ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในขั้นตอนก่อนเข้าทำสัญญาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้า แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อที่จะนำไปสู่การทำสัญญาจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะของโจทก์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ บริษัทอิมซา (ประเทศมาเลเซีย) จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share