แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยฟ้องการกีฬาแห่งประเทศไทยให้ชำระเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ เห็นว่า เนื้อหาและลักษณะของสัญญาเป็นเพียงสัญญารับจ้างในการแพร่ภาพออกทางสถานีโทรทัศน์และประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการบริการสาธารณะแต่อย่างใด จึงเป็นสัญญาจัดหาผู้ดำเนินการเผยแพร่กิจกรรม อันเป็นการสนับสนุนภารกิจของการกีฬาแห่งประเทศไทยเท่านั้น มีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งปกติ และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๕๖
วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ที่ ๑ พลเอก สุนทร โสภณศิริ ที่ ๒ พลโท กิตติทัศน์ บำเหน็จพันธุ์ ที่ ๓ นายประวิทย์ มาลีนนท์ ที่ ๔ นางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ที่ ๕ นายศุทธิชัย บุนนาค ที่ ๖ โจทก์ ยื่นฟ้องการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ ๑ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ ๒ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ ๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๐๓/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นคณะบุคคลไม่ได้จดทะเบียน ประกอบด้วยสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ช่อง ๕ ช่อง ๗ และช่อง ๙ มีโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นหุ้นส่วนของคณะบุคคลโจทก์ที่ ๑ และมีการทำสัญญาตั้งสำนักงานทีวีพูลแห่งประเทศไทยหรือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันในกิจการด้านโทรทัศน์โดยมิได้มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งหวังกำไร ส่วนใหญ่ดำเนินการถ่ายทอดข่าวในพระราชสำนักหรือกิจการหน่วยงานของรัฐที่เป็นสาธารณประโยชน์ การดำเนินงานของโจทก์ที่ ๑ จะมีประธานเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงหรือสัญญาต่าง ๆ ที่กระทำกับบุคคลภายนอก จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการกีฬา เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ กับโจทก์ที่ ๑ โดยโจทก์ที่ ๒ ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อทำการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพไทยแลนด์ โปรวินเชียลลีก ๒๒ ครั้ง จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าใช้จ่ายครั้งละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท ตามข้อตกลงว่าด้วยการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ หลังจากการถ่ายทอดและออกอากาศตามสถานีโทรทัศน์ที่เข้าร่วมการถ่ายทอดสดแล้วเสร็จตามข้อตกลง จำเลยที่ ๑ ชำระค่าใช้จ่ายให้แก่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ๙๐๐,๐๐๐ บาท คงค้างชำระ ๔,๖๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ ๑ ขอขยายเวลาชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ที่ ๑ ยินยอมผัดผ่อนให้มาตลอด ทำให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ ในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนของคณะบุคคลโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ ๑ ต้องชำระเงิน ๔,๖๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเพียง ๕ ปี เป็นเงิน ๑,๗๒๕,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ชำระหนี้ที่กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะกำกับดูแลสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) ซึ่งได้เข้าร่วมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลฟ้องโจทก์ที่ ๑ กับพวกในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๗๕๑/๒๕๔๙ ของศาลนี้โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายนอกจากค่าถ่ายทอดสดแล้วเป็นเงิน ๒๒๖,๖๐๕.๗๕ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีหน้าที่บริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ มีฐานะเป็นกระทรวงจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา และมีอำนาจกำกับดูแลจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๔ มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีหน้าที่กำกับดูแลจำเลยที่ ๓ ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ชำระเงิน ๖,๕๕๑,๖๐๕.๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลแพ่งรับฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ ส่วนโจทก์ที่ ๑ ไม่รับฟ้องเพราะไม่มีฐานะเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ ไทยแลนด์โปรวินเชียลลีก ในฐานะผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย มิใช่ฐานะส่วนตัว จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ในมูลคดีเดียวกันนี้แล้วถอนฟ้องโดยจะไม่นำคดีมาฟ้องอีกตามคดีหมายเลขแดงที่ ๕๗๔๐/๒๕๕๒ ของศาลนี้ และโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ เคยยื่นคำให้การต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๗๕๑/๒๕๔๙ ไม่มีฐานะเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนในการกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพดังกล่าวไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้เมื่อใดจึงถือว่าถึงกำหนดชำระเมื่อได้ดำเนินการแพร่ภาพการแข่งขันในแต่ละครั้งแล้ว เมื่อโจทก์มิได้ทวงถามจำเลยที่ ๑ ให้ชำระหนี้แต่ละครั้งยังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละครั้ง โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม ถือว่าจำเลยทั้งสี่ผิดนัดในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ คดีโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๗) ดังนั้น ดอกเบี้ยอันเป็นสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์จึงขาดอายุความไปด้วย ส่วนคดีที่กรมประชาสัมพันธ์ฟ้องโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๔๗๕๑/๒๕๔๙ เนื่องจากผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าถ่ายทอดและออกอากาศให้แก่กรมประชาสัมพันธ์ตามข้อตกลงซึ่งไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงิน ๒๒๖,๖๐๕.๗๕ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ทำสัญญาข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ ไทยแลนด์โปรวินเชียลลีก กับโจทก์ที่ ๑ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมกีฬาอันเป็นการให้บริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๓ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่บริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ โดยมีจำเลยที่ ๔ มีหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการกีฬา ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการกีฬา ศึกษา วิเคราะห์และจัดทำโครงการ แผนงานและสถิติเกี่ยวกับการส่งเสริมการกีฬารวมทั้งประเมินผล จัด ช่วยเหลือ แนะนำและร่วมมือในการจัดและดำเนินการ การกีฬา สำรวจ จัดสร้างและบูรณะสถานที่สำหรับการกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร สอดส่องและควบคุมการดำเนินกิจการการกีฬา และประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬาตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ การที่จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๑ ทำข้อตกลงว่าด้วย การถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ ไทยแลนด์โปรวินเชียลลีก แม้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นคู่สัญญาและโจทก์ที่ ๑ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องทำการถ่ายทอดสดแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวอันเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของจำเลยที่ ๑ ในการส่งเสริมการกีฬา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ ไทยแลนด์โปรวินเชียลลีกเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จำเลยที่ ๑ ใช้ในการบริการสาธารณะ คงเป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์การจัดแข่งขันฟุตบอลอาชีพขึ้นภายในประเทศเท่านั้นซึ่งไม่ถือเป็นการให้บริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งไม่เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้โจทก์ที่ ๑ เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐเพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน อันเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ กับจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งรัฐอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติรวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัตินิยาม “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ ตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักลักษณะของสัญญาทางปกครองตามนิยามในมาตรา ๓ เพิ่มเติมจากลักษณะสัญญาทางปกครองสี่ประเภทข้างต้นว่าเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือบริการสาธารณะบรรลุผล และนิยาม “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐและให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของจำเลยที่ ๔ โดยมีวัตถุประสงค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ดังนี้ (๑) ส่งเสริมการกีฬา (๒) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการกีฬา (๓) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำโครงการ แผนงาน และสถิติเกี่ยวกับการส่งเสริมการกีฬา รวมทั้งประเมินผล (๔) จัด ช่วยเหลือ แนะนำ และร่วมมือในการจัดทำและดำเนินการการกีฬา (๕) สำรวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่สำหรับการกีฬา (๖) ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร (๗) สอดส่องและควบคุมการดำเนินกิจการการกีฬา และ (๘) ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา ในส่วนของรายได้ของจำเลยที่ ๑ นั้น รายได้บางส่วนมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามมาตรา ๑๑ (๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติอันเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จำเลยที่ ๑ ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพโดยใช้ชื่อว่า Thailand Provincial League โดยทำข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ Thailand Provincial League ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๓ กับโจทก์ที่ ๑ โดยโจทก์ที่ ๑ ตกลงจัดให้มีการแพร่ภาพการแข่งขันจำนวนยี่สิบสองครั้ง และจำเลยที่ ๑ ตกลงจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้โจทก์ที่ ๑ ทุกการแข่งขัน ครั้งละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท รวมยี่สิบสองครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมา เมื่อการแพร่ภาพการแข่งขันเสร็จสิ้นตามข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ชำระค่าใช้จ่ายให้โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งหกจึงยื่นฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายตามสัญญาและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งหก เห็นว่า ข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ Thailand Provincial League ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๓ มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง คือ จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และโจทก์ที่ ๑ เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ตกลงให้บริการแพร่ภาพออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว โดยที่การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพทางโทรทัศน์เป็นกิจกรรมหนึ่งในการส่งเสริมการกีฬาและเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของการกีฬาซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักตามอำนาจหน้าที่ทางปกครองของจำเลยที่ ๑ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ (๑) และ (๘) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ Thailand Provincial League ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการแข่งขัน จึงถือว่าเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการกีฬาเพื่อให้บรรลุผล ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้โจทก์ที่ ๑ ทำการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ Thailand Provincial League แทนจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองตกลงให้คณะบุคคลเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น ข้อพิพาทอันเกิดจากข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ได้จัดแข่งขันฟุตบอลอาชีพโดยใช้ชื่อว่า ไทยแลนด์ โปรวินเชียล ลีก โดยมีการจัดแข่งทั้งสิ้น ๒๒ ครั้ง และจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงลงนามทำบันทึกข้อตกลงกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยบันทึกดังกล่าวได้ตกลงค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสด ครั้งละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ภายหลังลงนามมีการถ่ายทอดออกอากาศแล้วเสร็จ ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เพียง ๙๐๐,๐๐๐ บาท ยังคงมีหนี้ค้างชำระอยู่อีก จำนวน ๔,๖๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์ที่ ๑ ได้ติดต่อทวงถามจำเลยที่ ๑ หลายครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ร่วมทั้งห้าได้รับความเสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๖๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๖,๕๕๑,๖๐๕.๗๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ฝ่ายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เนื่องจากมิใช่คู่สัญญา ข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ว่าเมื่อใดถึงเวลากำหนดชำระหนี้ เมื่อได้ดำเนินการแพร่ภาพแล้ว โจทก์มิได้ทวงถามจำเลยที่ ๑ ให้ชำระหนี้แต่ละครั้ง ถือว่ายังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น ประเด็นแห่งคดีนี้คือจำเลยที่ ๑ กระทำผิดบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ คดีนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ ไทยแลนด์ โปรวินเชียล ลีก เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า ถึงแม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ และเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงเนื้อหาและลักษณะของสัญญาดังกล่าวแล้วปรากฏว่า เป็นเพียงสัญญารับจ้างในการแพร่ภาพออกทางสถานีโทรทัศน์เท่านั้น ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการบริการสาธารณะแต่อย่างใด เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จัดขึ้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจัดหาผู้ดำเนินการเผยแพร่กิจกรรมอันเป็นการสนับสนุนภารกิจของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น มีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งปกติ เมื่อไม่ปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองเข้าดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่งไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งหกและจำเลยทั้งสี่จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ที่ ๑ พลเอก สุนทร โสภณศิริ ที่ ๒ พลโท กิตติทัศน์ บำเหน็จพันธุ์ ที่ ๓ นายประวิทย์ มาลีนนท์ ที่ ๔ นางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ที่ ๕ นายศุทธิชัย บุนนาค ที่ ๖ โจทก์ การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ ๑ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ ๒ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ ๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ