คำวินิจฉัยที่ 17/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนด้วยกันและหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพันตำรวจตรี ย. และเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดิน ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมของพันตำรวจตรี ย. และนาย ณ. แต่จำเลยที่ ๑ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ รังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนการรังวัดที่ดินส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์และให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีตพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สร้างภายหลังการรังวัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้รังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินส่วนที่อ้างว่าจำเลยที่ ๑ รังวัดรุกล้ำ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของทางราชการ การรังวัดมิได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดราชบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดราชบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นางพเยาว์ ไวยฉาย ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจตรี เยื้อน จุณศิริ และในฐานะส่วนตัว โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดราชบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๗๐/๒๕๕๓ความว่า โจทก์และนายทวีศักดิ์ จุณศิริ เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของพันตำรวจตรี เยื้อน จุณศิริ ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒๘ ตารางวา เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์รวมของพันตำรวจตรี เยื้อน จุณศิริ และนายณรงค์ วิรัตน์โยสินทร์ โดยทางด้านทิศเหนือมีอาณาเขตติดกับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๘๙ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๑๕ ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ โดยการซื้อจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ เพื่อแบ่งแยกทรัพย์มรดกดังกล่าวตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ โจทก์จึงทำการตรวจสอบสารบบที่ดินที่มีเขตติดต่อกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ และเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ โจทก์ได้ตรวจสอบสารบบโฉนดที่ดินพบว่า การรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ โดยการนำเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดราชบุรีซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ ๒ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๘๙ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๑๕ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เป็นการรังวัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ไม่มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขต มีลักษณะเป็นการปกปิดเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงและเป็นการสะดวกต่อการนำชี้ของผู้ขอรังวัดสอบเขตโดยไม่สุจริต โดยจำเลยทั้งสองได้รังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ อันเป็นทรัพย์มรดกของพันตำรวจตรี เยื้อน จำนวน ๕๕ ตารางวา โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการรังวัดที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนการรังวัดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๑๕ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๘๙ ในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๑๒ จำนวนเนื้อที่ ๕๕ ตารางวา และให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีตพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สร้างภายหลังการรังวัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า การรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รุกล้ำหรือเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและมิใช่เจ้าของที่ดินส่วนที่อ้างว่าจำเลยที่ ๑ รุกล้ำ เจ้าพนักงานที่ดินส่งหมายเรียกเจ้าของที่ดินข้างเคียงในการขอรังวัดสอบเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๙๘ และเลขที่ ๑๗๔๑๕ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ในการรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๙๘ และเลขที่ ๑๗๔๑๕ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการตามที่กฎหมายและระเบียบปฏิบัติของทางราชการแล้ว การรังวัดดังกล่าวย่อมมิได้เป็นการรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ แม้ว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ จะมีเนื้อที่ลดน้อยลงกว่าเดิมตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่เนื่องจากโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ ได้ออกในสมัย ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งการรังวัดทำรูปแผนที่ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน เมื่อเวลาผ่านพ้นไปหลายสิบปี การครอบครองเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อทำการรังวัดด้วยวิธีที่ดีขึ้นและทันสมัย ย่อมทำให้เนื้อที่ดินอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ การที่เนื้อที่ดินหายไปจำนวน ๕๕ ตารางวา ย่อมมิได้เกิดจากการรังวัดรุกล้ำตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำการรังวัดที่ดิน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดราชบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าการรังวัดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๑๕ และ โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๘๙ ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ และวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ตามลำดับ โจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองนำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินเข้าไปในทางด้านทิศเหนือของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ของโจทก์ จำนวน ๕๕ ตารางวา ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเพิกถอนการรังวัดที่ดินที่รุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีตออกไป เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีความประสงค์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการรังวัดที่ดินซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการรังวัดที่ดินดังกล่าวได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนพิพาทในคดีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดเป็นฝ่ายสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า หากพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นได้ว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น คดีนี้ กรมที่ดิน จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐโดยการออกหนังสือแสดงสิทธิและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจำเลยที่ ๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้นำเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ รังวัดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ในการรังวัดที่ดินเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์ในการพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้น ที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงมีอำนาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน และนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเห็นว่า กรณีตามฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์และนายทวีศักดิ์ จุณศิริ เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของพันตำรวจตรี เยื้อน จุณศิริ ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒๘ ตารางวา ซึ่งเดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์รวมของพันตำรวจตรี เยื้อน และนายณรงค์ วิรัตน์โยสินทร์ โดยที่ดินแปลงดังกล่าวด้านทิศเหนือมีอาณาเขตติดกับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๘๙ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๑๕ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ โดยการซื้อจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม ต่อมา โจทก์ทำการตรวจสอบสารบบที่ดินที่มีเขตติดต่อกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ เพื่อแบ่งแยกทรัพย์มรดกดังกล่าวตามคำสั่งศาล จากการตรวจสอบพบว่า การรังวัดที่ดิน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๘๙ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๑๕ ของจำเลยที่ ๑ โดยการนำเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดราชบุรีซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ ๒ เป็นการรังวัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขต โดยจำเลยทั้งสองได้รังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๙๑๒ จำนวน ๕๕ ตารางวา ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนการรังวัดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๑๕ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๗๘๙ ในส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๑๒ จำนวนเนื้อที่ ๕๕ ตารางวา และให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีตพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สร้างภายหลังการรังวัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า การรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รุกล้ำหรือเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและมิใช่เจ้าของที่ดินส่วนที่อ้างว่าจำเลยที่ ๑ รุกล้ำ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ตามที่กฎหมายและระเบียบปฏิบัติของทางราชการแล้ว การรังวัดดังกล่าว มิได้เป็นการรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนพิพาทในคดีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางพเยาว์ ไวยฉาย ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจตรี เยื้อน จุณศิริ และในฐานะส่วนตัว โจทก์ บริษัทบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share