คำวินิจฉัยที่ 15/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า สามีของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส.๓ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ของจำเลยที่ ๑ แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยระบุว่าทางด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขระวางที่ดินและโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดของเจ้าพนักงานที่ดินถูกต้องแล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่สามีของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔ นางกันตะนา สุดโต ที่ ๑ นางยุพา แป้นแก้ว ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องนางพวงเพ็ชร บุบผาทอง ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๕๖/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายประยุทธ สุดโต นายประยุทธและโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เล่ม ๔ หน้า ๕๒ สารบบเล่ม ๓๗ หมู่ ๘ ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ได้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแยกมาจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙ ซึ่งมีนางพะเยาว์ ก้อนแข็ง กับพวก เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ โดยระบุแนวเขตทางด้านทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวติดทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๙ นางพะเยาว์ได้ขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ให้แก่จำเลยที่ ๑ นางสาวอารีย์ เรือนเพ็ชรและนางสาวแพงสี ชูชื่น หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ โดยจำเลยที่ ๑ และนางสาวประไพ ปานเพชร ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศใต้ ต่อมา นางสาวประไพได้ให้ที่ดินเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ ๑ โจทก์ทั้งสองเห็นว่า ระวางแนวเขตที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากทางด้านทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวมิใช่ทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ของนายประยุทธและโจทก์ที่ ๒ ซึ่งนายประยุทธได้ทำประโยชน์อยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว ส่วนโจทก์ที่ ๒ ก็ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวมาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว โดยปลูกสร้างก่อนที่จะมีการแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙ เมื่อปี ๒๕๒๔ การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ซึ่งระบุในระวางที่ดินและโฉนดที่ดินว่าทางด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายประยุทธและโจทก์ที่ ๒ เคยยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินเพื่อให้ได้ที่ดินเต็มเนื้อที่ตามหลักฐาน น.ส. ๓ และตรงกับสภาพความเป็นจริง แต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้เนื่องจากมีการโต้แย้งจากจำเลยที่ ๑ มาตลอด และนายประยุทธเคยมีคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิกถอนและแก้ไขระวางที่ดินดังกล่าว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขระวางที่ดินและโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ดังกล่าว ที่ระบุว่าด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ออกไปและแก้ไขโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ตรงกับระวางที่ดินที่แก้ไข
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินทางด้านทิศใต้ของจำเลยที่ ๑ อยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ตรงตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน โจทก์ที่ ๒ ได้สร้างบ้านบนทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม และการออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ โดยอ้างว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและฉ้อฉล เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ไปขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ โต้แย้งคัดค้านแนวเขตที่ดิน จึงเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง และขอบังคับให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจตามกฎหมายทำการเพิกถอนและแก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ ระบุในระวางที่ดินและโฉนดที่ดินว่าทางด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์นั้นไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทางด้านทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เล่ม ๔ หน้า ๕๒ สารบบเล่มหน้า ๓๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ของนายประยุทธและโจทก์ที่ ๒ ซึ่งโจทก์ที่ ๒ ได้ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวมาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว ส่วนนายประยุทธสามีของโจทก์ที่ ๑ ก็ได้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขระวางที่ดินและโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ที่ระบุว่าทางด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ให้ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวถูกต้องแล้ว ดังนั้นแม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการออกระวางที่ดินและโฉนดที่ดิน ซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ทำการแก้ไขระวางที่ดินและโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นายประยุทธและโจทก์ที่ ๒ มีสิทธิครอบครองหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้ อธิบดีกรมที่ดิน จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ในสังกัดกรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีจำเลยที่ ๒ มีอำนาจกระทำการแทนกรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ โดยการออกหนังสือแสดงสิทธิและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยระบุในระวางที่ดินและโฉนดที่ดินว่าด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเดิมที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ เป็นแปลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแยกมาจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙ มีนางพะเยาว์ ก้อนแข็ง กับพวก เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ นางพะเยาว์กับพวกได้ทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙ โดยได้ระบุแนวเขตทางด้านทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวติดทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาในปี ๒๕๒๙ นางพะเยาว์ได้ขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ให้แก่จำเลยที่ ๑ นางสาวอารี เรือนเพชร และนางสาวแพงสี ชูชื่น หลังจากนั้น เมื่อปี ๒๕๕๐ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ โดยจำเลยที่ ๑ และนางสาวประไพ ปานเพ็ชร ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศใต้ ต่อมา นางสาวประไพได้ให้ที่ดินเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ ๑ โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การระวางแนวเขตที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากทางด้านทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าวมิใช่ทางสาธารณประโยชน์แต่เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ของนายประยุทธและโจทก์ที่ ๒ ซึ่งนายประยุทธได้ทำประโยชน์อยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว ส่วนโจทก์ที่ ๒ ก็ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวมาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว โดยปลูกสร้างก่อนที่จะมีการแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ซึ่งระบุในระวางที่ดินและโฉนดที่ดินว่าด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขระวางที่ดินและโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ที่ระบุว่าด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ให้ถูกต้อง กรณีจึงเป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาล ขอให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งเพิกถอนและแก้ไขระวางที่ดินและโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ถูกต้อง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ในการออกโฉนดที่ดินเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงมีอำนาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน และนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเห็นว่า กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า นายประยุทธ สามีของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ) เล่ม ๔ หน้า ๕๒ สารบบเล่ม ๓๗ หมู่ ๘ ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ของจำเลยที่ ๑ แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ดังกล่าว ให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยระบุในระวางที่ดินและโฉนดที่ดินว่าทางด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงที่ดินทางด้านทิศใต้ของจำเลยที่ ๑ อยู่ติดกับที่ดินของสามีของโจทก์ที่ ๑ และที่ดินของโจทก์ที่ ๒ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขระวางที่ดินและโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๕๙๖ ที่ระบุว่าทางด้านทิศใต้ติดทางสาธารณประโยชน์ให้ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดของเจ้าพนักงานที่ดินถูกต้องแล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นายประยุทธสามีของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางกันตะนา สุดโต ที่ ๑ นางยุพา แป้นแก้ว ที่ ๒ โจทก์ นางพวงเพ็ชร บุบผาทอง ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share