คำวินิจฉัยที่ 14/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. ถูกเจ้าหน้าที่ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ทำรั้วลวดหนามเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้บังคับกองทัพบก ผู้บัญชาการกองทัพบก และผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ร่วมกันรื้อถอนรั้วลวดหนาม ปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม และให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่าไม่ได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของราษฎร แต่ก่อสร้างตามแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และการออก นส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการออกทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นางสุดสวาท ดวงเนตร ที่ ๑ นายทยา สุนทราชัย ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกองทัพบก ที่ ๑ ผู้บัญชาการกองทัพบก ที่ ๒ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๙๖/๒๕๕๓ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๘๕๙เลขที่ ๑๘๖๐ เลขที่ ๑๘๖๒ เลขที่ ๑๘๖๕ เลขที่ ๓๐๓๕ เลขที่ ๓๐๓๖ เลขที่ ๒๐๙๖ เลขที่ ๑๖๗๓ และเลขที่ ๑๖๘๑ ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๖๗๔ และเลขที่ ๑๖๗๙ ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ที่ดินมาโดยการรับซื้อจากเจ้าของที่ดินเดิมเมื่อปี ๒๕๓๒ ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมได้ครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ และมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เมื่อปี ๒๕๒๑ โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศและมีผู้ปกครองท้องที่และเจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนร่วมกันพิสูจน์แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกันทำรั้วลวดหนามเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ รื้อถอนลวดหนามออกจากที่ดินทั้งหมดภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันรื้อถอนรั้วลวดหนามส่วนที่อยู่ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแทนค่าเช่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ซื้อที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร โดยชดใช้ราคาที่ดินให้กับประชาชนที่เคยครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวโดยถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๑๘๑๙/๒๕๐๗ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และปักหมุดเพื่อแสดงแนวเขตที่ดิน ศูนย์การทหารราบได้ก่อสร้างรั้วลวดหนามสำหรับที่ตั้งหน่วยและพื้นที่ฝึก ความยาว ๗,๕๕๓ เมตร โดยกำหนดจุดก่อสร้างตามแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว มิได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของราษฎรและเว้นระยะการก่อสร้างในบางจุดที่มีการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว ในระหว่างการก่อสร้างรั้วลวดหนามผู้ฟ้องคดีทั้งสองมิได้คัดค้านแต่อย่างใด นอกจากนี้การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้าง เป็นการออกโดยใช้แผนที่ภาพถ่ายโดยไม่ได้มีการเดินสำรวจ จึงเป็นการออกทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว ซึ่งหากมีการเดินสำรวจย่อมพบเห็นหลักหมุดซึ่งเป็นหลักฐานของแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการเตรียมกำลังกองทัพบกและป้องกันราชอาณาจักร ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารบก หน่วยงานในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อมาตรา ๕ (๒๖) ของพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติให้กรมยุทธศึกษาทหารบกมีหน้าที่ประสานงาน แนะนำ กำกับการ ดำเนินการ สนับสนุน และตรวจตราเกี่ยวกับการฝึกและศึกษาของบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพบกทั้งในและนอกกองทัพบกรวมทั้งในต่างประเทศ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างรั้วลวดหนาม เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกกำลังทดแทน จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการสนับสนุนการฝึกของบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อเป็นการเตรียมกำลังกองทัพบกและป้องกันราชอาณาจักร นอกจากนี้โดยที่ข้อ ๑๘ ของกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดให้ผู้ใช้ที่ราชพัสดุมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ โดยมีผู้แทนกรมธนารักษ์เข้าตรวจสอบสภาพที่ราชพัสดุเป็นครั้งคราว อีกทั้งผู้ใช้ที่ราชพัสดุจะต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองหรือใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ทุกปีตามแบบที่กรมธนารักษ์กำหนด ในเมื่อที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ราชพัสดุเพื่อใช้ในราชการทหารที่ตั้งศูนย์ฝึกกำลังทดแทนปราณบุรี ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๑๘๑๙/๒๕๐๗ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ก่อสร้างรั้วลวดหนามจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุในฐานะผู้ใช้ที่ราชพัสดุตามที่กฎหมายบัญญัติอีกหน้าที่หนึ่งด้วย เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอคดีนี้แล้วเห็นว่ามูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในการก่อสร้างศูนย์ฝึกกำลังทดแทนรวมทั้งรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการดำเนินการสนับสนุนการฝึกของบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อเป็นการเตรียมกำลังกองทัพบกและป้องกันราชอาณาจักร ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ประกอบกับมาตรา ๕ (๒๖) ของพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๔๔ และโต้แย้งการใช้อำนาจหน้าที่ในการดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ เพื่อป้องกันการบุกรุกเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินของทางราชการ ตามข้อ ๑๘ ของกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และแม้คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ และศาลปกครองก็ได้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองหลายกรณี ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก.รวม ๑๒ แปลง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกันทำรั้วลวดหนามเข้าไปในที่ดินดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันรื้อถอนลวดหนามในส่วนที่อยู่ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองทุกแปลงออกไปและปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมก่อนสร้างรั้วลวดหนาม กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้ในราชการอยู่ตามขอบเขตของที่ดินที่ปรากฏตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๑๘๑๙/๒๕๐๗ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีคำขอได้นั้น ศาลจำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้ในราชการอยู่ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ได้ที่ดินมาโดยการรับซื้อจากเจ้าของที่ดินเดิมเมื่อปี ๒๕๓๒ ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมได้ครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ และมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เมื่อปี ๒๕๒๑ โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศและมีผู้ปกครองท้องที่และเจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนร่วมกันพิสูจน์แล้ว ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสองตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกันทำรั้วลวดหนามเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ รื้อถอนรั้วลวดหนามออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันรื้อถอนรั้วลวดหนามส่วนที่อยู่ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแทนค่าเช่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การโดยสรุปว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จัดซื้อที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร โดยชดใช้ราคาที่ดินให้กับประชาชนที่เคยครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวโดยถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๑๘๑๙/๒๕๐๗ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และปักหมุดเพื่อแสดงแนวเขตที่ดิน ศูนย์การทหารราบได้ก่อสร้างรั้วลวดหนามโดยกำหนดจุดก่อสร้างตามแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว มิได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของราษฎรและเว้นระยะการก่อสร้างในบางจุดที่มีการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง นอกจากนี้การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้าง เป็นการออกโดยใช้แผนที่ภาพถ่ายโดยไม่ได้มีการเดินสำรวจ จึงเป็นการออกทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๑๘๑๙/๒๕๐๗ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสุดสวาท ดวงเนตร ที่ ๑ นายทยา สุนทราชัย ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กองทัพบก ที่ ๑ ผู้บัญชาการกองทัพบก ที่ ๒ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share