คำวินิจฉัยที่ 167/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่กฎหมายมีเจตนารมณ์ในการให้ศาลปกครองตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติราชการของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ศาลปกครองมีอํานาจสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกําหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา ๗๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนโฉนดที่ดิน รวม ๑๙ แปลง เนื่องจากเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุที่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงไประวังชี้แนวเขต เป็นเหตุให้มีการ ออกโฉนดที่ดินรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๑๙ แปลง ที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ดังนี้หนังสือดังกล่าวเป็นการขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นการเฉพาะในกรณีที่ความปรากฏว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ใดคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้โดยต้องดำเนินการ ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนและระยะเวลา การพิจารณาให้แล้วเสร็จไว้ด้วย การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าภายหลังจากผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพิกถอนโฉนดที่ดิน ทั้ง ๑๙ แปลง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ เนื่องจากรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจังหวัดพิษณุโลก และกรมที่ดินได้มีหนังสือเร่งรัดการดำเนินการแล้ว ดังนั้น ประเด็นในการวินิจฉัยคดีนี้ คือ ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาตรวจสอบกระบวนการออกโฉนดที่ดินทั้ง ๑๙ แปลง ตามหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว ศาลปกครองต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีดังกล่าวไว้หรือไม่ อย่างไร และผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า เกินสมควรในการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เจ้าหน้าที่ ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share