แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดารู้เห็นยินยอม กรณีเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งเป็นคดีที่กระทบสิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่าสามีภริยา หาใช่คดีละเมิดธรรมดาทั่วไปแต่อย่างใดไม่ จึงเป็นคดีครอบครัวที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
สำหรับคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 จึงเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนาย ก. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ปลายปี 2557 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 คบหากับสามีโจทก์ฉันชู้สาว ต่อมาเดือนมกราคม 2558 สามีโจทก์พาจำเลยที่ 1 เข้ามาอยู่ร่วมบ้านเดียวกับโจทก์ในฐานะภริยาอีกคนหนึ่งโดยจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอม เป็นการเหยียดหยาม ข่มเหงจิตใจโจทก์ จำเลยทั้งสองทำให้ครอบครัวโจทก์แตกแยก โจทก์ไม่สามารถทนอยู่ร่วมบ้านหลังเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์
ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดารู้เห็นยินยอม กรณีเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งเป็นคดีที่กระทบสิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา หาใช่คดีละเมิดธรรมดาทั่วไปแต่อย่างใดไม่ จึงเป็นคดีครอบครัวที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
สำหรับคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะบิดาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 จึงเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลเยาวชนและครอบครัวย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีในส่วนนี้
วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 30 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2559
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา