คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บค่าระวางจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 รวมทั้งดำเนินการทางพิธีการศุลกากร แจ้งการมาถึงของเรือและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่จำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ตกลงร่วมกันรับขนที่ฟ้องร้องในคดีนี้เท่านั้น ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อันจะทำให้อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงดังกล่าว โดยให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยทำเป็นคำร้อง พร้อมกับคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหรือภาษาอังกฤษพร้อมคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องและวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 จัตวา
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์ก็ไม่ดำเนินการภายในกำหนดตามคำสั่งศาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยื่นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาล ย่อมเป็นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 174 (2) และมาตรา 132 (1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 468,750.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 445,064.98 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและมีคำขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตและต่อมามีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมาย
ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นตัวแทนในเอกสารรายการสำแดงทั่วไป เช่น เป็นเพียงตัวแทนสายการเดินเรือเฉพาะเรื่องการดำเนินพิธีการทางเอกสาร พิธีการศุลกากร การแจ้งการมาถึงของเรือ การออกใบสั่งปล่อยสินค้า เป็นต้น เท่านั้น ไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 ในราชอาณาจักร ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดหลง โดยให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยทำเป็นคำร้อง พร้อมกับคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักรภายใน 45 วัน นับแต่วันนี้ โดยให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหรือภาษาอังกฤษพร้อมคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องและวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป
วันที่ 10 มิถุนายน 2558 โจทก์ยื่นคำคัดค้านคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและขออนุญาตส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในราชอาณาจักร โดยวิธีปิดหมาย
วันที่ 11 มิถุนายน 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง แต่ให้ถือว่าเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาล
วันที่ 23 มิถุนายน 2558 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558
วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 โจทก์ยื่นคำคัดค้านคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่อนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และให้โจทก์สืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณามีคำสั่งว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว
วันที่ 27 กรกฎาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง เมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และจัดทำคำแปลและสำเนาคำฟ้องภาษาอังกฤษหรือภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด เป็นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควร ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) (ที่ถูก ต้องประกอบมาตรา 83 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ด้วย) ให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลในฐานะผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นที่ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทย โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและมีคำขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการขนส่งสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและมีรายได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรซึ่งอาศัยสถานที่ทำการหรือภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่ก่อให้เกิดรายได้ขึ้น ก่อนฟ้องคดีนี้ไม่เกิน 2 ปี จึงต้องส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 (2) (ข) จากคำฟ้องประกอบคำขอส่งหมายเรียกแก่จำเลยที่ 2 แม้ตามคำฟ้องจะระบุที่อยู่ของจำเลยที่ 2 เป็นที่เดียวกับที่อยู่ของจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์มีคำขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศนอกราชอาณาจักร การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ กล่าวคือ ต้องส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักร หรือหากจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน ให้ส่ง ณ สถานที่ที่จำเลยที่ 2 หรือตัวแทนใช้ประกอบกิจการหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักรและในคำฟ้องโจทก์ต้องระบุภูมิลำเนานอกราชอาณาจักรของจำเลยที่ 2 อันเป็นภูมิลำเนาที่แท้จริง เพราะเป็นคนละเรื่องกับสถานที่ที่จะส่งหมายเรียกแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้อาจส่ง ณ สถานที่อันเป็นที่อยู่ของตัวแทนในการประกอบกิจการซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีที่จะนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 (2) (ข) มาปรับใช้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 (2) (ข) ไม่ใช่บทบัญญัติที่กำหนดสถานที่ที่จะส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลย แต่เป็นบทบัญญัติที่กำหนดถึงศาลที่มีเขตอำนาจซึ่งโจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องคดีแพ่งสามัญ ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร แต่มีสถานที่ที่จำเลยใช้หรือเคยใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ซึ่งไม่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องสถานที่ที่จะส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลยที่ 2 ที่โต้แย้งกันในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งเมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้ว ไม่ว่าจำเลยที่ 2 หรือตัวแทนจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด จึงไม่ใช่กรณีที่จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 (2) (ข) ซึ่งใช้บังคับแก่คดีแพ่งสามัญมาใช้บังคับกับคดีนี้ได้ เพราะในเรื่องศาลที่มีเขตอำนาจที่จะรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต้องเป็นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 5 และ 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ กล่าวคือ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 ซึ่งหมายความว่า จำเลยที่ 1 ต้องเป็นตัวแทนในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 ในราชอาณาจักรเป็นประจำปกติ ไม่ใช่เพียงเป็นตัวแทนที่ดำเนินการแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะกิจหรือเป็นครั้งคราว หรือเป็นเพียงตัวแทนเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีนี้เท่านั้น ซึ่งโจทก์ผู้ขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่แสดงพยานหลักฐานให้ปรากฏข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันขนส่งสินค้าที่ฟ้องร้องกันในคดีนี้ก็ดี จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินการทางเอกสาร พิธีการศุลกากรแจ้งการมาถึงของเรือ ออกใบสั่งปล่อยสินค้าและการเรียกเก็บค่าระวาง รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ เช่น สำเนาใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมีระบุข้อความให้ติดต่อและเอกสารอื่น ๆ ในสำนวนก็ดี ล้วนแต่เป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำการร่วมกับหรือกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าเที่ยวที่มีการฟ้องร้องในคดีนี้ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งสินค้าครั้งอื่น ๆ เป็นประจำเป็นปกติ หรือจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทย อันพอจะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 ในราชอาณาจักรตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพยานหลักฐานและเอกสารในสำนวนแล้ววินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บค่าระวางจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 รวมทั้งดำเนินการทางพิธีการศุลกากร แจ้งการมาถึงของเรือและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรแทนจำเลยที่ 2 แต่ก็รับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ตกลงร่วมกันรับขนที่ฟ้องร้องในคดีนี้เท่านั้น ยังไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอันจะทำให้อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดหลง โดยให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยทำเป็นคำร้อง พร้อมกับคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหรือภาษาอังกฤษพร้อมคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องและวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 จัตวา แล้ว และเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์ก็ไม่ดำเนินการภายในกำหนดตามคำสั่งศาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยื่นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลตามคำคัดค้านฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ด้วย ย่อมเป็นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 174 (2) และมาตรา 132 (1) แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีด้วยเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้อง แต่ยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นควรมีคำสั่งเสียให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสาม
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share