คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ทั้งได้ทำรายงานลงข้อความระบุแน่ชัดถึงตัวบุคคล ชื่อเจ้าพนักงานผู้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและชื่อผู้รับ รวมทั้งวิธีการส่ง วันเดือนปีและสถานที่ส่ง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานผู้ทำรายงานแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 80 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ณ ภูมิลำเนาโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว การที่เจ้าพนักงานศาลทำรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ในขณะนำส่งหมายได้พบชาย – หญิงอายุประมาณ 30 – 50 ปี ณ สถานที่ดังกล่าวและบุคคลดังกล่าวแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ผู้จัดการจำเลยที่ 4 และที่ 5 ออกไปธุระต่างจังหวัด ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อ้างว่าไม่เป็นความจริง เพราะในวันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการของจำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบบุคคลดังกล่าวนั้น ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่เจ้าพนักงานศาลทำรายงานต่อศาลเท่านั้น และข้อเท็จจริงดังกล่าวถึงแม้จะเป็นวันหยุดทำการก็อาจมีพนักงานของจำเลยที่ 4 ที่ 5 มาทำงานก็ได้ จึงไม่ทำให้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายเสียไป
รายงานการเดินหมายของเจ้าพนักงานศาลเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานศาลทำรายงานต่อศาลชั้นต้น และได้ระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคล ชื่อเจ้าพนักงานผู้ส่งหมาย วิธีส่ง วันเดือนปี และเวลาที่ส่ง และรายงานนั้นได้ลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานผู้ทำรายงานแล้ว การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์จึงเป็นการส่งโดยชอบ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 อ้างว่า การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ในรายงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุว่า ส่งให้แก่จำเลยคนใด ณ บ้านเลขที่ใดนั้น ก็ปรากฏจากบันทึกการปิดหมายของเจ้าพนักงานศาลว่า ได้ส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ณ บ้านเลขที่ตามฟ้องแล้ว ส่วนรายงานของเจ้าพนักงานศาลต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับบ้านเลขที่ของจำเลยที่ 3 ว่าเป็นบ้านเลขที่ 49/5 ซึ่งความจริงบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นเลขที่ 59/4 นั้นก็เป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อยในรายงานระหว่างเจ้าพนักงานศาลที่ทำรายงานต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ทำให้การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์เสียไป
เมื่อการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง รวมทั้งการส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ไม่สามารถกระทำได้โดยการส่งหมายวิธีปกติ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งห้าทราบโดยวิธีปิดประกาศหน้าศาลอันเป็นวิธีอื่นใดตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคแรก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นเงิน 2,401,150.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,951,938.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 1,951,938.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (16 ธันวาคม 2537) มิให้เกิน 449,212 บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2537 โจทก์ได้ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลการทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครปฐมของจำเลยที่ 5 ซึ่งระบุภูมิลำเนาของจำเลยดังกล่าวเอาไว้ด้วยต่อศาลชั้นต้นและเจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ทั้งได้ทำรายงานลงข้อความระบุแน่ชัดถึงตัวบุคคล ชื่อเจ้าพนักงานผู้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและชื่อผู้รับ รวมทั้งวิธีการส่ง วันเดือนปีและสถานที่ส่ง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานผู้ทำรายงานแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 80 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ณ ภูมิลำเนาโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 อ้างว่าที่เจ้าพนักงานศาลทำรายงานว่า ในขณะนำส่งหมายได้พบชาย – หญิง อายุประมาณ 30 – 50 ปี ณ สถานที่ดังกล่าวและบุคคลดังกล่าวแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ผู้จัดการจำเลยที่ 4 และที่ 5 ออกไปธุระต่างจังหวัดนั้นไม่เป็นความจริง เพราะในวันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการของจำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบบุคคลดังกล่าว ณ สถานที่ทั้งสองแห่ง เห็นว่า รายงานของเจ้าพนักงานศาลดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่เจ้าพนักงานศาลทำรายงานต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น และข้อเท็จจริงดังกล่าวถึงแม้จะเป็นวันหยุดทำการก็อาจมีพนักงานของจำเลยที่ 4 ที่ 5 มาทำงานก็ได้ จึงไม่ทำให้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายเสียไป ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกามีว่า การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 โดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดดังกล่าวไม่ชอบ เพราะตามรายงานการเดินหมายของเจ้าพนักงาน ฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 รายงานว่า ได้นำหมายนัดสืบพยานโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลยทั้งห้า ณ บ้านเลขที่ 375, 345 และ 49/5 โดยไม่ได้ระบุว่าส่งให้แก่จำเลยคนใด ณ บ้านเลขที่ใด ทั้งบ้านเลขที่ 49/5 ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นที่อยู่หรือภูมิลำเนาของจำเลยคนใด นอกจากนั้นยังระบุว่าได้ไปส่งให้แก่จำเลยทั้งห้าที่ตำบลห้วยจรเข้ทั้งหมด ซึ่งไม่ตรงกับตำบลที่ระบุตามฟ้องนั้น เห็นว่า รายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานศาลทำรายงานต่อศาลชั้นต้น และได้ระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคล ชื่อเจ้าพนักงานผู้ส่งหมาย วิธีส่ง วันเดือนปี และเวลาที่ส่ง และรายงานนั้นได้ลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานผู้ทำรายงานแล้ว การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์จึงเป็นการส่งโดยชอบ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 อ้างว่า การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ในรายงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุว่า ส่งให้แก่จำเลยคนใด ณ บ้านเลขที่ใดนั้น ก็ปรากฏจากบันทึกการปิดหมายของเจ้าพนักงานศาลว่า ได้ส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ณ บ้านเลขที่ตามฟ้อง ตำบลพระปฐมเจดีย์ และตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แล้ว ส่วนรายงานของเจ้าพนักงานศาลต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับบ้านเลขที่ของจำเลยที่ 3 ว่าเป็นบ้านเลขที่ 49/5 ซึ่งความจริงบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นเลขที่ 59/4 นั้นก็เป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อยในรายงานระหว่างเจ้าพนักงานศาลที่ทำรายงานต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ทำให้การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์เสียไป ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งห้าทราบโดยวิธีปิดประกาศหน้าศาลเป็นการไม่ชอบเพราะสามารถส่งหมายนัดให้จำเลยทั้งห้าโดยวิธีธรรมดาได้นั้น เห็นว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง รวมทั้งการส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ไม่สามารถกระทำได้โดยการส่งหมายวิธีปกติ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งห้าทราบโดยวิธีปิดประกาศหน้าศาลอันเป็นวิธีอื่นใดตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคแรก
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท แทนโจทก์.

Share