แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์ซื้อที่ดินมือเปล่าและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ถูกพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหาความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้มีการร้องขอให้บังคับคดีภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีแล้ว เมื่อปี ๒๕๕๖ พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินทำการรังวัดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าที่ดินของโจทก์นั้น รัฐสามารถทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนผู้ครอบครองได้ แต่จำเลยทั้งหกได้ยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งหกพร้อมบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์มีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ในปี ๒๕๕๖ กรมที่ดินทำการรังวัดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าที่ดินของโจทก์สามารถทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินได้ ดังนั้นการที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๕๘
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ นายวิเชาว์ พุ่มไสว โจทก์ ยื่นฟ้อง นายขุนแผน ทิมเมฆ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกลัดหลวง ที่ ๑ นายคำ ดีประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๒ นายประสพ ขำสี ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๓ นายบังอาจ ใจดี ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๔ นายสรศักดิ์ มีโหมด ผู้ใหญ่บ้านและกำนันตำบลกลัดหลวง ที่ ๕ นายไพฑูรย์ ใจดี ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๐๒/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่ ๓๔๘/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อปี ๒๕๒๒ โจทก์ซื้อที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ ๗๕ ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จากผู้มีชื่อและได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ปลูกบ้านบนที่ดินแปลงพิพาท โดยได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอด เมื่อปี ๒๕๓๖ โจทก์ถูกพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีฟ้องเป็นคดีอาญา ข้อหาความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ๕๕๙๑/๒๕๓๘ ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินที่กันไว้เป็นสาธารณประโยชน์ ทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่เศษ เป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ (๑) และมาตรา ๑๐๘ ทวิ วรรคหนึ่ง พิพากษาจำคุก ๓ เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท เมื่อปี ๒๕๕๑ มีผู้ร้องเรียนต่อพนักงานอัยการและสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรีว่า มิได้มีการบังคับให้โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษา เนื่องจากมิได้มีการร้องขอให้บังคับคดีภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีแล้ว ปัจจุบันโจทก์มิได้ออกจากที่พิพาท เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันและชาวบ้านในท้องที่จะทำการรังวัดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่รกร้างว่างเปล่าของรัฐบาลสามารถทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนที่เข้าครอบครองได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกได้ยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ว่า เนื่องจากยังมีกรณีพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ จึงขอให้ยุติการรังวัดไว้ก่อนจนกว่ากรณีพิพาทจะถึงที่สุด โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งหกพร้อมบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์และให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินเป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่รกร้างว่างเปล่าดังกล่าว จำเลยทั้งหกจึงได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้ว่าที่ดินส่วนหนึ่งจำนวน ๓๓ ไร่เศษ ศาลจังหวัดเพชรบุรีและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่า โจทก์บุกรุกเข้าครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้โจทก์พร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินที่บุกรุกครอบครอง และมิได้ทำการบังคับคดีให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาทภายในระยะเวลา ๑๐ ปี แต่หามีผลให้การครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่ดินของรัฐเป็นของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนด ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครอง แต่การอ้างเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินในส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และโจทก์เป็นผู้ครอบครอง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าการที่จำเลยทั้งหกเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้คัดค้านการเดินสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามจำเลยทั้งหกพร้อมบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ และให้มีคำสั่งห้ามบุคคลใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งหกชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่า อยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะที่จะนำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดี ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอกคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์ซื้อที่ดินมือเปล่าและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ถูกพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหาความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ ๕๕๙๑/๒๕๓๘ ว่าโจทก์มีความผิดฐานตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้มีการร้องขอให้บังคับคดีภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีแล้ว เมื่อปี ๒๕๕๖ พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินทำการรังวัดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าที่ดินของโจทก์นั้น รัฐสามารถทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนผู้ครอบครองได้ แต่จำเลยทั้งหกได้ยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งหกพร้อมบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทของโจทก์ จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์บุกรุกเข้าครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้มิได้ทำการบังคับคดีภายในระยะเวลา ๑๐ ปี แต่หามีผลให้การครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่ดินของรัฐเป็นของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์มีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ในปี ๒๕๕๖ กรมที่ดินทำการรังวัดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าที่ดินของโจทก์สามารถทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินได้ ดังนั้นการที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวิเชาว์ พุ่มไสว โจทก์ นายขุนแผน ทิมเมฆ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกลัดหลวง ที่ ๑ นายคำ ดีประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๒ นายประสพ ขำสี ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๓ นายบังอาจ ใจดี ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๔ นายสรศักดิ์ มีโหมด ผู้ใหญ่บ้านและกำนันตำบลกลัดหลวง ที่ ๕ นายไพฑูรย์ ใจดี ผู้ใหญ่บ้านตำบลกลัดหลวง ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ