คำวินิจฉัยที่ 18/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเกษียณอายุราชการโดยได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติ แต่ต่อมา อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง มีมติไล่ออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งให้คืนเงินบำเหน็จดำรงชีพตามคำสั่งที่ให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีคืนให้บางส่วน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องให้คืนเงินต่อศาลศาลชั้นต้นและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระเงินคืน ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ ระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ชำระเงินคืน นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีถูกกองทุน กบข. ฟ้องเรียกให้คืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับไปก่อนผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งให้ลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออก และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะได้รับเงินตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่จำต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย ผลประโยชน์เงินชดเชย ผลประโยชน์เงินประเดิม พร้อมดอกเบี้ยให้แก่กองทุน กบข. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติตามคำพิพากษา มูลความแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลศาลชั้นต้น อันเป็นการดำเนินการตามคำบังคับในคดีแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง อันเป็นขั้นตอนกระบวนการในทางแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ อีกทั้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดตามคำขอท้ายฟ้อง ก็เนื่องจากข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีถูกผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ออกจากราชการ เมื่อต่อมาข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปตามข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับการลดโทษจากไล่ออกเป็นให้ปลดออก ซึ่งมีผลให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๕๘

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแขวงดุสิต

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ นายสำรวญ ทองเดช ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๕๓/๒๕๕๖ ความว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการสังกัดกรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ ๓๓๙/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๓ ลงโทษลดขั้นเงินเดือนผู้ฟ้องคดี ๑ ขั้น ในกรณีกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ต่อมาผู้ฟ้องคดีเกษียณอายุราชการและได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติ รวมเป็นเงินจำนวน ๒๘๑,๕๙๖.๑๒ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีได้รายงานผลการลงโทษทางวินัยไปยัง อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง ต่อมา อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง มีมติให้เพิ่มโทษเป็นไล่ออกจากราชการ อธิบดีกรมธนารักษ์จึงมีคำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ ๙๙/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ เป็นต้นไป ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติดังกล่าว แต่ผู้ฟ้องคดีคืนบางส่วน ผู้ถูกฟ้องคดีส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินดังกล่าว โดยศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินคืนจำนวน ๒๘๑,๕๙๖.๑๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ ๓๙/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒ ให้ลดโทษผู้ฟ้องคดีเป็นปลดออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ ในขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินดอกเบี้ยของเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติตามคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต นับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลดโทษให้ปลดออกจากราชการ เป็นเงินจำนวน ๑๗,๗๙๕.๔๐ บาท โดยผู้ฟ้องคดีได้ชำระเงินดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการชำระโดยสำคัญผิด เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ. ๑๐๘/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๖๓๒/๒๕๕๕ กรณีกองทุนบำนาญข้าราชการ (กบข) ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดี ขอให้คืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับไปก่อนถูกผู้ถูกฟ้องคดีไล่ออกจากราชการ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับโทษปลดออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่จำต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย ผลประโยชน์เงินชดเชย ผลประโยชน์เงินประเดิม พร้อมดอกเบี้ยให้แก่กองทุน กบข. ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินดอกเบี้ยเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติ จำนวน ๑๗,๗๙๕.๔๐ บาท แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า การเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นการแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามคำพิพากษามิใช่เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินจำนวน ๑๗,๗๙๕.๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอคืนเงินที่ได้ชำระเป็นค่าดอกเบี้ยเงินบำนาญปกติคืนจากผู้ถูกฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่าตนมีสิทธิที่จะได้รับเงินตามกฎหมายตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ไม่อาจนำมาพิจารณาในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตได้ เนื่องจากมีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการ แม้ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ลดโทษ ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิรับเงินบำเหน็จบำนาญ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็ตาม แต่ในคดีแพ่งได้ถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์โดยผู้ฟ้องคดีมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว เมื่อระยะเวลาระหว่างที่ไม่มีคำสั่งใหม่นั้น ผู้ฟ้องคดีรับเงินไปโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ศาลพิพากษาให้ชำระเงินนับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ จนถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ลดโทษผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงต้องชำระดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่รับไปโดยไม่มีสิทธิตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่คืนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เงินที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว จึงมิใช่เกิดจากการกระทำทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี แต่เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีขอคืนเงินตามฟ้องแล้วผู้ถูกฟ้องคดีไม่คืนให้เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษามิใช่เป็นการกระทำทางปกครอง ดังนั้นข้อพิพาทคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติที่ผู้ฟ้องคดีได้รับไปก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีคำสั่งที่ ๙๙/๒๕๔๙ ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินจำนวน ๒๒๙,๑๑๑.๘๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งที่ ๓๙/๒๕๕๒ ให้ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตคดีจึงถึงที่สุด ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน ๒๒๙,๐๐๐.๘๖ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒ เป็นเงินจำนวน ๑๗,๗๙๕.๔๐ บาท ผู้ฟ้องคดีได้ชำระเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว ต่อมาในคดีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีให้คืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ เงินประเดิม และเงินชดเชย ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับไปก่อนถูกไล่ออกจากราชการ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.๑๐๘/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อ.๖๓๒/๒๕๕๕ ว่า เมื่อกรมธนารักษ์ได้มีคำสั่งให้ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ กรณีจึงมิใช่ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากราชการอันเนื่องมาจากเหตุลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ของเงินประเดิม และเงินชดเชย ให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ การชำระเงินดอกเบี้ยเงินบำนาญปกติและบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการชำระโดยสำคัญผิด ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอคืนเงินดอกเบี้ยดังกล่าวจากผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งว่า การเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าดอกเบี้ยเป็นการแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามคำพิพากษา มิใช่เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องคืนเงินดอกเบี้ยดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดี พิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีชำระดอกเบี้ยของต้นเงินตามคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต อันเป็นการดำเนินตามคำบังคับในคดีของศาลแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล อันเป็นขั้นตอนกระบวนการในทางแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ มิใช่กรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงิน อันจะเป็นคำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลแขวงดุสิตและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ๙๔๒/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ ๓๒๑๙/๒๕๕๑ ให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติจำนวน ๒๒๙,๑๑๑.๘๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ โดยอาศัยมูลคดีว่าผู้ฟ้องคดีถูกไล่ออกจากราชการและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ขณะนั้นการพิจารณาโทษทางวินัยของผู้ฟ้องคดียังไม่สิ้นสุด ต่อมาทาง ก.พ. ได้เปลี่ยนโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกเป็นให้ออกจากราชการซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติและโทษดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแขวงดุสิตและศาลอุทธรณ์นำมาวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปและคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำคำพิพากษาดังกล่าวมาบังคับกับจำเลยน่าจะไม่ชอบและอาจจะเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีเรียกดอกเบี้ย ตั้งแต่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒ จำนวน ๑๗,๗๙๕.๔๐ บาท เป็นการเรียกดอกเบี้ยบางส่วนตามดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น มิใช่เรียกดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการจ่ายโดยสำคัญผิดจึงมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินจำนวนดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ดุลพินิจไม่คืนเงินดังกล่าวโดยอ้างว่า สิทธิการรับเงินบำเหน็จบำนาญได้เริ่มมีขึ้น ณ วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลดโทษ บรรดาเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับไปก่อนสิทธิจะเกิดจึงเป็นกรณีที่รับไปโดยไม่มีสิทธิแม้ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องคืนเงินบำเหน็จบำนาญแก่ทางราชการ แต่ต้องรับผิดชอบในบรรดาดอกเบี้ย ผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น กรณีดังกล่าวไม่ใช่เป็นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่เป็นการใช้ดุลพินิจเรียกดอกเบี้ยบางส่วนจากผู้ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๙๔๒/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ ๓๒๑๙/๒๕๕๑ ของศาลแขวงดุสิตและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเกษียณอายุราชการโดยได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพและเงินบำนาญปกติ แต่ต่อมา อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง มีมติไล่ออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งให้คืนเงินบำเหน็จดำรงชีพตามคำสั่งที่ให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีคืนให้บางส่วน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องให้คืนเงินต่อศาลแขวงดุสิตและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระเงินคืน ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ ระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ชำระเงินคืน นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีถูกกองทุน กบข. ฟ้องเรียกให้คืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับไปก่อนผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งให้ลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออก ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะได้รับเงินตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่จำต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย ผลประโยชน์เงินชดเชย ผลประโยชน์เงินประเดิม พร้อมดอกเบี้ยให้แก่กองทุน กบข. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เนื่องจากมีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการ แม้ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ลดโทษเป็นให้ปลดออกทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิรับเงินบำเหน็จบำนาญตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็ตาม แต่ในคดีแพ่งได้ถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติตามคำพิพากษา มูลความแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต อันเป็นการดำเนินการตามคำบังคับในคดีแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง อันเป็นขั้นตอนกระบวนการในทางแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ อีกทั้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดตามคำขอท้ายฟ้อง ก็เนื่องจากข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีถูกผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ออกจากราชการ เมื่อต่อมาข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปตามข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับการลดโทษจากไล่ออกเป็นให้ปลดออก ซึ่งมีผลให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสำรวญ ทองเดช ผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share