คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8695/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองจากผู้ขายในราคาค่าสินค้ารวมค่าระวางขนส่ง ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง ตัวแทนของกัปตันเรือของจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายที่ประเทศบราซิล โดยมีข้อความระบุว่า ให้ใช้ประกอบสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ เช่นนี้จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ หน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 เมื่อใบตราส่งระบุว่าเป็นการขนส่งจากท่าเรือต้นทางเมืองซานโตส ประเทศบราซิล ถึงท่าเรือปลายทางเกาะสีชัง ประเทศไทย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือเกาะสีชัง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้ดำเนินการขนถ่ายและขนส่งสินค้าจากเกาะสีชังต่อไปยังท่าเรือของผู้เอาประกันภัยที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การขนส่งทอดนี้จึงเป็นการขนส่งในราชอาณาจักรซึ่งไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 จึงเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้คนละช่วงคนละตอน หน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองแยกกันอย่างเด็ดขาดและอยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายคนละฉบับ หากมีความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยใดครอบครองดูแล จำเลยนั้นก็ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยเพียงลำพัง มิใช่รับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม
ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สินค้าในความดูแลของจำเลยที่ 1 สูญหาย แม้จำนวนน้ำหนักสินค้าต้นทางที่แน่นอนจะเป็นอย่างที่โจทก์กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างก็มิใช่สาระสำคัญ และต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามจำนวนที่ได้รับมาแก่ผู้เอาประกันภัยถูกต้องครบถ้วนแล้ว พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคสอง มิได้บกพร่องขาดจำนวนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะนำสืบขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าแต่ละช่วงแต่ละตอนประกอบรายงานการกำกับดูแลการขนถ่ายเมื่อเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 มาถึงท่าขนถ่ายสินค้าระบุว่า ตราผนึกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่ปรากฏความเสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเมื่อมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าทั้งหมดที่โรงงานของผู้เอาประกันภัยสินค้าปรากฏว่าขาดหายไปกว่า 1,000 เมตริกตัน และมีการจับกุมและการตรวจยึดเรือลำเลียงอื่นซึ่งบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองและรถบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองเต็มกระบะอีก 4 คัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า มีการลักลอบขนถ่ายสินค้าของผู้เอาประกันภัยไปจากความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่สูญหายไปดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 29,883,404.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 28,439,977.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยตกลงคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองที่บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัย สั่งซื้อจากบริษัทหลุยส์ เดรฟัส คอมโมดิตี้ส์ เอเชีย จำกัด ผู้ขาย ที่ประเทศสิงคโปร์น้ำหนักรวม 65,769.41 เมตริกตัน ราคาค่าสินค้ารวมค่าระวางขนส่งเมตริกตันละ 588.64 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,714,505.50 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางทะเลแบบเทกองโดยเรือคริสตัล บลิสส์ จากท่าเรือซานโตส ประเทศบราซิล มาถึงท่าเรือปลายทางเกาะสีชัง ประเทศไทย จำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งว่าจ้างจำเลยที่ 2 ขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงจากจุดทอดสมอเรือเกาะสีชังขนส่งต่อไปยังโรงงานของผู้เอาประกันภัยที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และมอบหมายให้บริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด ผู้สำรวจอิสระตรวจสอบสินค้าที่ได้รับมอบจากเรือคริสตัล บลิสส์ กับควบคุมการขนถ่ายสินค้าและการขนส่งต่อไปยังโรงงาน เรือคริสตัล บลิสส์ มาถึงเกาะสีชังวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 2 จัดเรือลำเลียง 31 ลำ เข้าขนถ่ายรับสินค้าตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 จนเสร็จสิ้นวันที่ 1 สิงหาคม 2555 และขนส่งจากเกาะสีชังไปยังโรงงานของผู้เอาประกันภัย ต่อมามีการชั่งน้ำหนักสินค้าทั้งหมดโดยเครื่องชั่งอัตโนมัติ โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด ได้จำนวน 64,209.856 เมตริกตัน ขาดหายไป 1,559.554 เมตริกตัน วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง เจ้าพนักงานตำรวจน้ำศรีราชาและพนักงานศุลกากร ร่วมกันจับกุมนายวัฒนา พร้อมยึดเรือลำเลียง 1 ลำ ชื่อ เรือพีแอลที 15 ภายในเรือบรรทุกสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองน้ำหนัก 900 เมตริกตัน เป็นของกลาง เมื่อทราบเหตุ ผู้เอาประกันภัยจึงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดในความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์มอบหมายให้บริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสท์เม้นท์ จำกัด ตรวจสอบและประเมินความเสียหายของสินค้า แล้วมีความเห็นว่าความเสียหายของสินค้าสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ได้ ผู้เอาประกันภัยได้มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 28,439,977.96 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยสถานะและความรับผิดของจำเลยทั้งสองที่มีต่อผู้เอาประกันภัยเสียก่อน ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัย สั่งซื้อสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองจากบริษัทหลุยส์ เดรฟัส คอมโมดิตี้ส์ เอเชีย จำกัด ผู้ขาย ในราคาค่าสินค้ารวมค่าระวางขนส่ง ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง บริษัทเอเจนเซีย มารีติม่า คาร์โกเนฟ (เอส พี) ในฐานะตัวแทนของกัปตันเรือคริสตัล บลิสส์ ของจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่ง ให้แก่ผู้ขายที่ประเทศบราซิล โดยมีข้อความระบุว่า ให้ใช้ประกอบสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ เช่นนี้ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ ซึ่งเมื่อมีการออกใบตราส่งสำหรับของที่ขนส่งตามสัญญาจ้างเหมา หน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและบริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมา จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ตามบทบัญญัติมาตรา 5 โดยจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลมาจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของสูญหาย ถ้าเหตุแห่งการสูญหายนั้นได้เกิดขึ้นในระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน และเมื่อใบตราส่งระบุว่าเป็นการขนส่งจากท่าเรือต้นทางเมืองซานโตส ประเทศบราซิล ถึงท่าเรือปลายทางเกาะสีชัง ประเทศไทย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือเกาะสีชัง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการขนถ่ายและขนส่งสินค้าจากเกาะสีชังต่อไปยังท่าเรือทีวีโอ – 3 (TVO – 3) ของผู้เอาประกันภัยที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การขนส่งทอดนี้จึงเป็นการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่ใช้บังคับแก่การขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร หรือจากที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรมายังที่อีกแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน ตามนิยามแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 และโดยที่สัญญาการขนถ่ายและขนส่งสินค้า ข้อ 9.1 ระบุให้ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบสำหรับความสูญหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับสินค้าในระหว่างการขนถ่าย และหรือการขนส่งสินค้าทางน้ำ หรือเป็นผลมาจากการขนถ่ายและการขนส่งสินค้า รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความบกพร่องของการขนถ่าย การขนส่ง เรือลำเลียงหรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ …. จึงเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้คนละช่วงคนละตอน หน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองแยกกันอย่างเด็ดขาดและอยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายคนละฉบับ ดังนั้น หากมีความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยใดครอบครองดูแล จำเลยนั้นก็จะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยเพียงลำพัง มิใช่รับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์มีนางบุญเอื้อ พนักงานฝ่ายสินไหมของโจทก์และนายกฤษฎา พนักงานผู้สำรวจภัยของบริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นสรุปความได้ทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าจากตัวแทนผู้ขายที่ประเทศบราซิลในสภาพเรียบร้อยครบถ้วนและได้ออกใบตราส่งไว้เป็นหลักฐาน โดยก่อนหน้านั้นบริษัทเอสจีเอส จำกัด ผู้สำรวจอิสระได้ตรวจสอบน้ำหนักเมล็ดถั่วเหลืองด้วยเครื่องชั่งอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 22 มิถุนายน 2555 ณ ท่าเรือซานโตส ซึ่งเป็นท่าเรือต้นทาง พบมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 65,769.41 เมตริกตัน ตามใบรับรองการชั่งน้ำหนัก เมื่อเรือคริสตัน บลิสส์ เดินทางถึงเกาะสีชัง มีการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 จากจุดทอดสมอเรือบริเวณเกาะสีชังขนส่งต่อไปโรงงานของผู้เอาประกันภัย แต่เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือทีวีโอ – 3 ของผู้เอาประกันภัย พนักงานของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด ตรวจสอบน้ำหนักสินค้าด้วยเครื่องชั่งอิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะเดียวกับการชั่งน้ำหนักที่ท่าเรือต้นทาง กลับพบว่าสินค้าขาดหายไป 1,559.554 เมตริกตัน หลังได้รับแจ้งเหตุโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด สำรวจความเสียหาย จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เรือคริสตัล บลิสส์ จอดทอดสมออยู่ที่เกาะสีชังเพื่อขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงที่จำเลยที่ 2 จัดหามา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง เจ้าพนักงานตำรวจน้ำศรีราชาและพนักงานศุลกากรร่วมกันจับกุมนายวัฒนา พร้อมยึดเรือลำเลียงพีแอลที 15 ซึ่งบรรทุกสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองน้ำหนัก 900 เมตริกตัน เป็นของกลาง ผู้เอาประกันภัยเชื่อว่าเมล็ดถั่วเหลืองในเรือดังกล่าวเป็นของตนเนื่องจากช่วงเวลาเกิดเหตุบริเวณน่านน้ำทะเลเขตอำเภอศรีราชาไม่มีเรือเดินทะเลลำอื่นที่บรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองเข้ามาจอด จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ขอให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดในความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งส่วนนี้จำเลยที่ 1 ก็นำสืบต่อสู้ว่า หลังจากขนถ่ายสินค้าลงเรือเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2555 ก่อนออกเดินทาง ต้นเรือคริสตัล บลิสส์ ได้ทำดราฟต์เซอร์เวย์ คำนวณหาน้ำหนักของสินค้าได้เพียง 65,553.145 เมตริกตัน ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขที่ได้รับแจ้งและเท่ากับว่าเรือคริสตัล บลิสส์ รับสินค้าขาดจำนวนไป 216.265 เมตริกตัน จึงได้ทำหนังสือโต้แย้งไว้ แต่เมื่อเรือคริสตัล บลิสส์ ถึงจุดจอดที่เกาะสีชังอันเป็นท่าเรือปลายทางก็ไม่ปรากฏว่ามีการทำดราฟต์เซอร์เวย์ หรือชั่งน้ำหนักของสินค้าให้แน่นอนอีกครั้งหนึ่งก่อนขนถ่ายสินค้าออกจากเรือ แต่กลับได้ความจากรายงานการกำกับดูแลการขนถ่ายสินค้าที่จัดทำโดยบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด ผู้ควบคุมการขนถ่ายสินค้าว่า เมื่อพนักงานของบริษัทขึ้นไปตรวจสอบในระวางเรือคริสตัล บลิสส์ พบว่าสินค้าบรรทุกในระวางเรือทั้ง 7 ระวาง รวม 65,769.410 เมตริกตัน ก่อนเปิดผ้าคลุม ผ้าคลุมอยู่ในสภาพดี หลังเปิดผ้าคลุมพบว่าสินค้าอยู่ในสภาพปกติ ไม่ปรากฏลักษณะความเสียหายหรือถูกขโมย สินค้าทั้งหมดถูกขนถ่ายจากเรือคริสตัล บลิสส์ ลงเรือลำเลียง 31 ลำ ที่เข้ามาจอดเทียบภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของพนักงานบริษัท ส่วนรายงานการตรวจสอบความเสียหายที่จัดทำโดยบริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด ผู้สำรวจภัย สรุปว่า ไม่มีรายงานการประสบเหตุของเรือเดินทะเลระหว่างการเดินทาง ซึ่งอาจต้องรับผิดชอบสำหรับการขนส่งสินค้าที่ขาดไป ฉะนั้น จึงพิจารณาได้ว่าเรือเดินทะเลเดินทางมาถึงอย่างปลอดภัยพร้อมสินค้าบนเรือที่มีสภาพและเงื่อนไขที่ดีซึ่งสอดคล้องเจือสมกับเอกสารบันทึกการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือคริสตัล บลิสส์ ลงเรือลำเลียงที่ตัวแทนเรือคริสตัล บลิสส์ และตัวแทนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกันเพื่อรับรองน้ำหนักสินค้าที่ส่งมอบและรับมอบกัน ซึ่งระบุน้ำหนักสินค้า 65,769.410 เมตริกตัน ตรงตามจำนวนที่ระบุในใบตราส่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สินค้าในความดูแลของจำเลยที่ 1 สูญหายเช่นนี้ แม้จำนวนน้ำหนักสินค้าต้นทางที่แน่นอนจะเป็นอย่างที่โจทก์กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างก็มิใช่สาระสำคัญ และต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามจำนวนที่ได้รับมาแก่ผู้เอาประกันภัยถูกต้องครบถ้วนแล้ว ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคสอง มิได้บกพร่องขาดจำนวนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า สำหรับจำเลยที่ 2 สัญญาการขนถ่ายและขนส่งสินค้า ข้อ 5 กำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในการขนถ่ายสินค้า การขนส่งสินค้า และการเดินพิธีการศุลกากร สรุปสาระสำคัญให้จำเลยที่ 2 ต้องจัดเตรียมเรือลำเลียงสภาพดี สะอาด ไม่มีสิ่งตกค้าง จัดเตรียมเอกสารควบคุมการขนส่งที่ถูกต้อง มีเจ้าพนักงานตำรวจประจำอย่างน้อย 1 คน ควบคุมดูแลระหว่างการเดินทางจากเกาะสีชังจนถึงท่าเรือทีวีโอ – 3 จัดให้มีมาตรการป้องกันการสูญเสียของสินค้าโดยที่การปฏิบัติงานทุกขั้นตอนจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมโดยผู้ชำนาญการตลอดเวลา นายบุญมาก ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขนส่งสินค้าทางน้ำของจำเลยที่ 2 พยานจำเลยที่ 2 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นสรุปความได้ว่า หลังจากได้รับแจ้งการมาถึงของเรือคริสตัล บลิสส์ จำเลยที่ 2 ได้วางแผนการขนถ่ายสินค้า จัดเตรียมอุปกรณ์และได้แจ้งรายชื่อเรือลำเลียงให้ผู้เอาประกันภัยและบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด ทราบ เรือคริสตัล บลิสส์ มาถึงเกาะสีชังเมื่อเวลา 10.48 นาฬิกา พนักงานของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด จำนวน 11 คน ขึ้นไปบนเรือเพื่อตรวจสอบหลุมระวางเรือและตรวจสินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นจะประจำอยู่บนเรือเพื่อควบคุมการขนถ่ายสินค้า เมื่อพนักงานผู้ควบคุมการขนถ่ายสินค้าตรวจสอบสินค้าและอุปกรณ์เครื่องมือตลอดเรือลำเลียงแต่ละลำที่จำเลยที่ 2 จัดหามาแล้วเห็นว่าสภาพดี จึงจะอนุญาตให้ทำการขนถ่ายสินค้าได้ โดยเรือลำเลียงแต่ละลำที่จะเข้าจอดเทียบรับสินค้าจะต้องถูกตรวจสอบและต้องได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการขนถ่ายสินค้าก่อน จำเลยที่ 2 ขนถ่ายสินค้าโดยใช้ทุ่นลอยน้ำตักสินค้า 2 ทุ่น ตักสินค้าจากหลุมระวางเรือคริสตัล บลิสส์ ลงเรือลำเลียงตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 จนหมดทั้งระวางเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เมื่อขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงแต่ละลำเสร็จแล้ว จะมีการเกลี่ยผิวหน้าสินค้าให้เรียบ ปิดผ้าใบกันน้ำคลุมสินค้าแล้วร้อยเชือกไนลอนรอบทั้งลำเรือ จากนั้นพนักงานของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด จะผนึกตราเพื่อป้องกันการขโมยสินค้า และเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2 จะจัดเรือลำเลียงเป็นพวง พวงละ 4 ลำ แล้วใช้เชือกยนต์ลากจูงไปยังท่าเรือปลายทาง โดยจัดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจไปควบคุมดูแลความเรียบร้อยในเรือลำเลียงแต่ละพวง ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบความเรียบร้อยไว้เป็นหลักฐานด้วย เมื่อเรือลำเลียงถึงท่าเรือทีวีโอ – 3 ตัวแทนผู้รับตราส่ง พนักงานของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด และผู้ควบคุมเรือลำเลียงจะร่วมกันตรวจสภาพเรือ ผ้าใบคลุมเรือ สภาพเชือกไนลอนและตราผนึกพบว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย และเมื่อเปรียบเทียบผิวหน้าของสินค้าก็อยู่ในสภาพเรียบร้อยตรงกับภาพถ่ายที่บันทึกไว้ที่ต้นทางเกาะสีชัง ไม่มีร่องรอยการขโมย จำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งไปจนหมดตามจำนวนที่ได้รับมาจากเรือคริสตัล บลิสส์ แล้ว โดยมีนายอุดร หัวหน้าทุ่นลอยน้ำชื่อ กรรณิกา ซึ่งทำงานขนถ่ายสินค้าโดยใช้หัวตักแบบก้ามปูตักสินค้าจากระวางเรือเดินทะเลเทใส่เรือลำเลียงซึ่งนำมาจอดผูกติดข้างทุ่น โดยพนักงานของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด เป็นผู้ตรวจสอบว่าเรือลำเลียงที่จำเลยที่ 2 แจ้งไว้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ เรือลำเลียงลำนั้นก็ไม่มีสิทธิมาจอดเทียบข้างทุ่นได้ กับมีนางศุภนิดา ผู้ควบคุมเรือลำเลียง จากัวร์ 17 และนายวิชาญ ผู้ควบคุมการขนถ่ายสินค้าขึ้นบกที่ท่าเรือทีวีโอ – 3 เป็นพยานเบิกความสนับสนุน เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 นำสืบขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าแต่ละช่วงแต่ละตอนประกอบรายงานการกำกับดูแลการขนถ่ายของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด ที่ระบุว่า เมื่อเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 มาถึงท่าขนถ่ายสินค้า มีการตรวจตราผนึกแล้ว พบว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และเมื่อเปิดผ้าใบก็พบว่าสินค้าอยู่ในสภาพปกติ ไม่ปรากฏความเสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเมื่อมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าทั้งหมดที่โรงงานของผู้เอาประกันภัย ได้น้ำหนักของสินค้าเพียง 64,209.856 เมตริกตัน สินค้าขาดหายไปกว่า 1,000 เมตริกตัน และโจทก์มีนายกฤษฎา ผู้สำรวจภัยพนักงานบริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นประกอบรายงานการตรวจสอบความเสียหาย และบันทึกการจับกุมและการตรวจยึด เรือลำเลียงพีแอลที 15 ซึ่งบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองจำนวน 900 เมตริกตัน และบันทึกการตรวจยึดรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ และ 12 ล้อ บรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองเต็มกระบะ รวมจำนวน 4 คัน โดยจำเลยที่ 2 มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังได้ตรวจยึดรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ และ 12 ล้อ รวมจำนวน 4 คัน แต่ละคันบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองเต็มกระบะ เนื่องจากได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีผู้ลักลอบนำเมล็ดถั่วเหลืองออกจากท่าเรือโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจยึดเรือลำเลียงพีแอลที 15 บรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองจำนวนมากที่บริเวณท่าเทียบเรือเดียวกัน โดยนายวัฒนา แสดงตัวเป็นผู้ดูแลเรือลำเลียงลำดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของที่รู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด ในชั้นสอบสวน นายวัฒนาให้การว่า ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 มีนายไก่มาติดต่อขายเมล็ดถั่วเหลืองให้ในราคาถูก บอกว่าเป็นถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ นายวัฒนาจึงตกลงรับซื้อ เวลา 18 นาฬิกา จึงได้ติดต่อว่าจ้างเรือลากจูงให้มาลากเรือลำเลียงพีแอลที 15 ออกไปบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองที่เรือใหญ่ จากนั้นก็ลางจูงกลับมาจอดที่ท่าเรือเจ.ซี.มารีน ที่เกิดเหตุ ต่อมาจึงถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจยึด และนายวัฒนาขอระงับคดีในชั้นศุลกากร ยอมยกสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองในเรือให้ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้เอาประกันภัยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดฐานลักทรัพย์เพราะเชื่อว่าเมล็ดถั่วเหลืองดังกล่าวเป็นของผู้เอาประกันภัย เพราะในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ไม่มีเรือสินค้าบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองลำใดเข้ามาในเขตน่านน้ำของท่าเรือแหลมฉบัง โดยก่อนหน้านี้มีเรือบรรทุกสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองจากประเทศบราซิล ของผู้เอาประกันภัยเข้ามาจอด 1 ลำ แต่สินค้าในเรือดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยได้รับครบถ้วน ไม่สูญหาย ทั้งท่าเทียบเรือเจ.ซี.มารีน ก็อยู่ในท้องที่เดียวกับสถานที่เกาะสีชังเป็นที่จอดเรือเดินทะเลคริสตัน บลิสส์ ที่บรรทุกสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองของผู้เอาประกันภัย ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดเรือลำเลียงจำนวน 31 ลำ เข้าเทียบข้างทุ่นเพื่อขนถ่ายเมล็ดถั่วเหลืองจากเรือใหญ่ โดยจำเลยที่ 2 จัดส่งรายชื่อเรือลำเลียงทั้ง 31 ลำ ให้พนักงานของบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด ผู้ตรวจสอบและกำกับการขนถ่ายสินค้าทราบก่อน ซึ่งนายประเสริฐ พนักงานบริษัทยูนิเวอร์แซล เซอร์เวย์อิ้ง จำกัด พยานโจทก์เบิกความว่า หากพบว่าเรือลำเลียงที่มารอรับขนถ่ายสินค้าไม่ปรากฏชื่อที่ระบุไว้ ก็จะไม่ยอมให้ขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงนั้น แต่ในการตรวจสอบสินค้าตามฟ้อง นายประเสริฐมิได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลการขนส่งถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือลำเลียง นายประเสริฐตรวจสอบสินค้าที่ท่าปลายทางของผู้เอาประกันภัย จึงไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ขณะขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงได้ ซึ่งแม้จะมีการส่งรายชื่อเรือลำเลียงที่จะมารับสินค้าให้แก่พนักงานของบริษัทผู้ตรวจสอบสินค้าแล้ว แต่ตามภาพถ่ายบริเวณทุ่นตักสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือลำเลียงขณะมีการขนถ่ายสินค้าตามฟ้อง จะเห็นเรือลำเลียงจำนวน 6 ลำ ผูกติดกันเป็นแพติดกับทุนตักสินค้าเรียงต่อกันไป แต่ไม่สามารถมองเห็นชื่อเรือลำเลียงแต่ละลำได้ จากด้านหน้าตามภาพถ่ายภาพที่ 1 และหากมองจากเรือใหญ่หรือทุ่นตักสินค้าไปที่บนเรือลำเลียงย่อมไม่อาจบอกได้ว่า เรือลำเลียงแต่ละลำมีชื่ออะไร เพราะมีลักษณะเป็นแต่ตัวเรือเปล่าเหมือนกันหมด ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ที่มีการนำเรือลำเลียงที่ไม่มีอยู่ในรายชื่อที่จำเลยที่ 2 ส่งให้พนักงานผู้ตรวจสอบและกำกับการขนถ่ายสินค้ามาเข้าเทียบรับสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนถ่ายสินค้ารายนี้มีการขนถ่ายตลอดเวลาต่อเนื่องกันทั้งกลางวันกลางคืน จะหยุดการขนถ่ายต่อเมื่อมีฝนและสภาพอากาศไม่ดี เวลากลางคืนการตรวจสอบว่าเรือลำเลียงที่นำมาขนถ่ายสินค้าเป็นเรือลำเลียงที่จำเลยที่ 2 ส่งรายชื่อมาให้หรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็มิได้มีพยานมาสืบถึงการตรวจสอบเรือลำเลียงที่มาขนถ่ายสินค้าว่าเป็นเรือลำเลียงตามรายชื่อหรือไม่ ในบันทึกการลากจูงเรือลำเลียงที่บรรทุกสินค้าตามฟ้อง มีการแก้ไขโดยการขีดฆ่าชื่อเรือลำเลียงลำที่ 4 จากชื่อจากัวร์ 23 เป็นเอสพี 23 ซึ่งเรือเอสพี 23 ไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อเรือลำเลียงที่จำเลยที่ 2 แจ้งไว้ แต่สินค้าที่ยึดได้ในเรือพีแอลที 15 จำนวน 900 เมตริกตัน พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่นายวัฒนาเพียงข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และนายวัฒนาขอระงับคดีโดยยอมยกสินค้าในเรือดังกล่าวให้เป็นของแผ่นดิน ทำให้นายวัฒนาไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว และต่อมานายวัฒนาได้เข้าประมูลซื้อสินค้าของกลางทั้งหมดไปในราคา 4,725,000 บาท หากคิดราคาตามมูลค่าของสินค้าเป็นเงินมากกว่า 16,000,000 บาท จะเห็นได้ว่าสินค้าที่ผู้เอาประกันภัยได้รับขาดหายไปถึง 1,559.554 เมตริกตัน คำนวณเป็นมูลค่ากว่า 20,000,000 บาท การนำเรือลำเลียงชนิดเดียวกับที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 ปะปนเข้าไปรับสินค้าจากเรือคริสตัน บลิสส์ จึงอาจทำได้ไม่ยากโดยร่วมกระทำกันเป็นขบวนการเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันจำนวนไม่ใช่น้อย แม้ผู้เอาประกันภัยได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์แก่ผู้ครอบครองสินค้า แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผลของคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร มีการสั่งฟ้องศาลในข้อหาลักทรัพย์หรือไม่ ลงปรากฏแต่การระงับคดีในชั้นศุลกากรตามหนังสือของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า มีการลักลอบขนถ่ายสินค้าของผู้เอาประกันภัยออกไปจากความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่สูญหายไปดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพียงใด โจทก์นำสืบว่าสินค้าที่ซื้อขายมีจำนวน 65,769.410 เมตริกตัน โดยมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าโดยเครื่องชั่งอิเล็กทรอนิกส์ตามหนังสือรับรองน้ำหนักสินค้าของบริษัทเอสจีเอส จำกัด และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าทั้งหมดไว้ในระวางเรือคริสตัน บลิสส์ นายเรือได้ทำหนังสือโต้แย้งว่าน้ำหนักของสินค้าที่ได้รับไว้มีเพียง 65,553.145 เมตริกตัน จากการทำดราฟต์เซอร์เวย์ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำสินค้าที่ขนส่งมาส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ขนส่งต่อที่ท่าเรือเกาะสีชังโดยสินค้ามิได้สูญหาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการชั่งน้ำหนักของสินค้าที่เกาะสีชังก่อนส่งมอบให้จำเลยที่ 2 กรณีจึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าจากจำเลยที่ 1 ไปเพียง 65,553.145 เมตริกตัน เมื่อมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าที่โรงงานของผู้เอาประกันภัยได้จำนวน 64,209.856 เมตริกตัน สินค้าจึงขาดจำนวนไป 1,343.289 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าสินค้า 790,713.637 ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณเป็นมูลค่าสินค้าตามทุนประกันภัย 869,785 ดอลลาร์สหรัฐ หักความรับผิดส่วนแรกตามสัญญาประกันภัยร้อยละ 0.25 เป็นเงิน 106,462.89 ดอลลาร์สหรัฐ คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดจำนวน 763,322.11 ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน 31.4827 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน 24,031,440.99 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 อันเป็นวันที่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 24,031,440.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share