แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นอดีตพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องธนาคารแห่งประเทศไทยว่า จงใจหรือละเลยไม่กำหนดประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุทั้งไม่ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้จ่ายเงินค่าชดเชย ส่วนจำเลยให้การว่า การจ้างงานของจำเลยได้รับยกเว้นมิต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้าง และได้จัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องไว้โดยชอบแล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีออกจากงานเนื่องจากการเกษียณอายุ อันเป็นกรณีจำเลยจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานให้ จึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายแพ่ง สัญญาจ้างทำงานดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน กรณีจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับจากการทำงานซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการเข้าปฏิบัติงาน คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๕๘
วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นางวิมล อัษฎานุกูล โจทก์ ยื่นฟ้องธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๗๔/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ โจทก์เข้าปฏิบัติงานเป็นพนักงานของจำเลยในระดับเจ้าหน้าที่ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการพิเศษ วพธ.วผธ. สังกัดสายออกบัตรธนาคาร โรงพิมพ์ธนบัตร สำนักการผลิต ส่วนผลิต ๑-๒ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย รวมค่าครองชีพเดือนละ ๖๙,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยได้มีบันทึก ธปท. เลขที่ (ว) ๒/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ เรื่อง พนักงานครบเกษียณอายุในปี ๒๕๕๖ โดยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ด้วยเหตุเกษียณอายุ แต่ไม่มีการกำหนดประโยชน์ตอบแทนประเภทค่าชดเชยเนื่องจากการเลิกจ้างโจทก์ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ดังนั้น หน่วยงานของจำเลยจะต้องออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงานและลูกจ้าง แต่ปัจจุบันจำเลยยังไม่ดำเนินการออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับค่าชดเชยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นการจงใจหรือละเลยไม่กำหนดประโยชน์ตอบแทน อันเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย จำนวน ๖๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การจ้างงานของจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหา กำไรในทางเศรษฐกิจที่ได้รับยกเว้นมิต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างตามข้อ (๓) ของกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวางแนววินิจฉัยในเรื่องหน่วยงานของรัฐประเภทที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไว้ตามเรื่องเสร็จที่ ๑๐๖๓/๒๕๕๔ จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ การพ้นจากตำแหน่งและการออกจากงานอันเนื่องจากการเกษียณอายุของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ มิใช่การเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จำเลยได้จัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยชอบแล้ว ประโยชน์ตอบแทนใดๆ ของพนักงานและลูกจ้างของจำเลยจะมีขึ้นได้ต้องเป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของจำเลยโดยตรง โดยไม่อาจนำบทบัญญัติของมาตรา ๑๑๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาบังคับใช้กับจำเลยได้ การที่จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนเพื่อตอบแทนการทำงาน ถือได้ว่าจำเลยยอมสละอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองที่มีอำนาจเหนือเอกชนมาทำสัญญาจ้างพนักงาน ซึ่งการใช้อำนาจบริหารในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ล้วนเป็นเครื่องยืนยันอำนาจในการบริหารและอำนาจในการบังคับบัญชาอันเป็นอำนาจของนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเอกชน มิใช่ข้อกำหนดลักษณะพิเศษที่เป็นการแสดงอำนาจเหนือของฝ่ายปกครองและระบบกฎหมายมหาชน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับจากการทำงานซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการเข้าปฏิบัติงานในฐานะพนักงานตามสัญญาจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองออกคำสั่งโดยมิชอบหรือเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้ว่าพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๑ บัญญัติว่า กิจการของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมาย ว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ก็เป็นเพียงการกำหนดมิให้นำกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานแต่อย่างใด คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในฐานะธนาคารกลางของประเทศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน อันเป็นภารกิจในการดำเนินการบริการสาธารณะด้านการเงินของประเทศ มิใช่การดำเนินการอย่างธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายประการ จำเลยจึงมีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง โจทก์ฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างสถานะที่เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครองจึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๖ ส่วนที่ ๖ ว่าด้วยการออกจากงานได้กำหนดให้พนักงานพ้นจากตำแหน่งและออกจากงานเมื่อ (๑) ตาย (๒) ได้รับอนุญาตให้ลาออก (๓) ได้รับโทษทางวินัยร้ายแรงขั้นปลดออกหรือไล่ออก (๔) ถูกสั่งให้ออกจากงาน (๕) ครบเกษียณอายุ (๖) ออกจากงานเพื่อไปปฏิบัติงานพิเศษตามความประสงค์ของ ธปท. โดย ธปท. จะให้กลับเข้าเป็นพนักงานตามเดิมเมื่องานที่มอบหมายแล้วเสร็จหรือเมื่อ ธปท. เห็นสมควร และ (๗) ออกจากงานกรณีอื่นๆ ตามระเบียบ กบค. กำหนด นอกจากนี้ มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ บัญญัติว่า กิจการของ ธปท. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ธปท. ต้องจัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ประกอบกับมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ พ.ศ. ๒๕๔๔ กำหนดให้จำเลยไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ กรณีจึงเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์หรือพนักงานและลูกจ้างกับจำเลยเป็นความสัมพันธ์ที่มีการกำหนดเอาไว้เป็นการเฉพาะโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่การได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ตอบแทน และสวัสดิการ ฯลฯ มิได้เป็นความสัมพันธ์อย่างนายจ้างลูกจ้างเอกชนทั่วไป ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานทางปกครองด้วยกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยเรียกเงินอันมีเหตุเนื่องจากได้ปฏิบัติงานให้โจทก์จนครบเกษียณอายุ หากจะพิจารณาว่า คำฟ้องนี้มีข้อกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ดำเนินการออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงานและลูกจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ กรณีก็เป็นการฟ้องว่าจำเลยซึ่งมีหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา ๒๕ (๗) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวละเลยไม่จัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานและลูกจ้างของจำเลยไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งทำให้โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนประเภทค่าชดเชยเนื่องจากการออกจากงาน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติงานของจำเลยซึ่งมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาก็ตาม กรณีก็มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางสัญญาที่มีวัตถุแห่งสัญญาเป็นการให้เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ อันเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ เดิมโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ยื่นฟ้องจำเลยอ้างว่า จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุเกษียณอายุ แต่ไม่มีการกำหนดประโยชน์ตอบแทนประเภทค่าชดเชยเนื่องจากการเลิกจ้างโจทก์ ทั้งจำเลยไม่ดำเนินการออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับค่าชดเชยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นการจงใจหรือละเลยไม่กำหนดประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์ทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การว่า การจ้างงานของจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจที่ได้รับยกเว้นมิต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างตามข้อ (๓) ของกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ การพ้นจากตำแหน่งและการออกจากงานอันเนื่องจากการเกษียณอายุของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ มิใช่การเลิกจ้าง จำเลยได้จัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยชอบแล้ว การไม่จ่ายค่าชดเชยจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีออกจากงานเนื่องจากการเกษียณอายุ เห็นว่า เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นกรณีจำเลยจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานให้ จึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้างอันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่ง สัญญาจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ โดยจำเลยได้จัดให้มีข้อบังคับว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพ ระเบียบเรื่องเงินทดแทน ระเบียบเรื่องสิทธิประโยชน์ของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน ฯลฯ อันเป็นการกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานทั้งในขณะเป็นพนักงานและเมื่อพ้นจากการเป็นพนักงาน ข้อบังคับและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการทำงานตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง ทั้งจงใจหรือละเลยไม่ดำเนินการออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับค่าชดเชยตามกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับจากการทำงานซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการเข้าปฏิบัติงานในฐานะพนักงานตามสัญญาจ้าง คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน แม้มาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ พ.ศ. ๒๕๔๔ กำหนดให้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาเขตอำนาจศาล เพียงแต่กำหนดว่าการจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไปเท่านั้น คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางวิมล อัษฎานุกูล โจทก์ ธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ติดราชการ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ