คำวินิจฉัยที่ 15/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเพชรบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล ในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ นายวินัย พิทักษ์สิทธิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายกวี จันทรบูรณ์ ช่างรังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ส่วนแยกเขาย้อย ที่ ๑ นายเมธาวี ทนดี หัวหน้าฝ่ายรังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ส่วนแยกเขาย้อย ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยกเขาย้อย ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๗๕/๒๕๔๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗๔๒ ตำบลห้วยโรง (บางเค็มเหนือ) อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินดังกล่าวมีข้างเคียงด้านทิศใต้ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๐๓ ตำบลห้วยโรง (บางเค็มเหนือ) อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ของบริษัทพัฒน์กล จำกัด (มหาชน) ต่อมาบริษัทยื่นคำขอรังวัดสอบเขตขอรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๐๑ , ๕๐๐๓, ๕๐๐๒, ๙๕๕๐ และ ๑๖๒๗๘ ตำบลห้วยโรง (บางเค็มเหนือ) อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปทำการรังวัด เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๗ โดยมิได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบว่ามีการรังวัดในวันดังกล่าว และได้มีการปักหลักหมุดที่ดินใหม่ ซึ่งรวมถึงด้านที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไประวังแนวเขตในการรังวัดที่ดินของบริษัท ผู้ฟ้องคดีได้ไประวังชี้แนวเขตแต่ไม่พบแนวคันนาแบ่งเขตและหลักหมุดเดิมที่เป็นแนวแบ่งเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีกับที่ดินของบริษัท จึงยังไม่ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต อันถือเป็นการคัดค้านการรังวัดและไม่รับรองแนวเขตตามกฎหมายแล้ว ต่อมาผู้ฟ้องคดียื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗๔๒ ปรากฏว่าด้านที่ติดกับที่ดินของบริษัทไม่พบหลักหมุดเดิมและแนวคันนา พบเพียงหลักหมุดที่บริษัทปักถอยร่นเข้าไปในที่ดินที่ถมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีบางส่วน และการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้รวมโฉนดที่ดินทั้งห้าแปลงเป็นโฉนดเดียวโดยออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๐๑ เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๒ งาน ๙๓ ตาราวา ให้แก่บริษัท โดยอาศัยรูปแผนที่การรังวัดเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๗ ซึ่งบริษัทได้ชี้แนวที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการนำชี้เพียงฝ่ายเดียว มิได้มีการส่งหมายให้ผู้ฟ้องคดีไประวังแนวเขตตามกฎหมาย การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๐๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านไว้ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๐๑ ของบริษัทพัฒน์กล จำกัด (มหาชน) และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของบริษัทเฉพาะด้านที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗๔๒ ของผู้ฟ้องคดี โดยการดำเนินการรังวัดร่วมกับบริษัทรังวัดเอกชน และแก้ไขจัดทำรูปแผนที่ให้ถูกต้องตามผลการรังวัดตามความเป็นจริง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า การรังวัด รวมโฉนด และแบ่งแยกตามคำขอของบริษัทได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวงฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) และระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการติดต่อหรือแจ้งผู้มีสิทธิ์ในที่ดินข้างเคียงให้มาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัด พ.ศ. ๒๕๒๑
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม กรณีจึงไม่ใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นหลักแห่งคดีมีว่า การออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทตามคำขอของผู้ฟ้องคดี จำต้องพิจารณาว่าการรังวัดสอบเขตที่ดินได้กระทำตามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต แต่ไม่ยอมลงชื่อรับรองแนวเขตโดยมิได้คัดค้านการรังวัด เนื่องจากไม่ทราบแนวเขตที่แน่นอน ขอตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อน เมื่อทราบแล้วจะไปลงชื่อรับรองแนวเขตในภายหลังตามบันทึกถ้อยคำที่ให้ไว้ เป็นการไม่รับรองแนวเขตที่มีเหตุผลอันสมควร ถือว่าเป็นการคัดค้านการรังวัด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินต้องทำการสอบสวน ไกล่เกลี่ย ไม่มีอำนาจดำเนินการแก้ไขแผนที่หรือรูปเนื้อที่ในโฉนดที่ดินโดยไม่ต้องมีการลงชื่อรับรองแนวเขตหรือไม่ หาจำต้องพิจารณาปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในแนวเขตที่ดินว่า ผู้ขอรังวัดสอบเขตได้นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินข้างเคียงหรือไม่ จะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเพราะยังไม่ถึงขั้นตอนเจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนไกล่เกลี่ยในการรังวัดสอบเขตที่มีผู้คัดค้าน หากตกลงกันไม่ได้ให้แจ้งคู่กรณีไปฟ้องศาลภายใน ๙๐ วัน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับตามคำขอท้ายฟ้องนอกจากผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ยังขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ขอ ด้านที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยทำการรังวัดร่วมกับช่างรังวัดเอกชน และแก้ไขแผนที่หรือเนื้อที่ในโฉนดที่ดินให้ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่เรียกร้องให้ได้สิทธิในที่ดินมาเป็นของตน จึงไม่ใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการรังวัดสอบเขตออกโฉนดที่ดินโดยถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินตามบทบัญญัติ ว่าด้วยการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเฉพาะรายหรือไม่ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗๔๒ ทิศใต้ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๐๓ ของบริษัทพัฒน์กล จำกัด (มหาชน) บริษัทขอรังวัดสอบเขตขอรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๐๑ , ๕๐๐๓, ๕๐๐๒, ๙๕๕๐ และ ๑๖๒๗๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการรังวัด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ รวมโฉนดที่ดินทั้งห้าแปลงเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๐๑ ให้แก่บริษัท โดยอาศัยรูปแผนที่การรังวัดซึ่งบริษัทได้ชี้แนวที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการนำชี้เพียงฝ่ายเดียว มิได้มีการส่งหมายให้ผู้ฟ้องคดีไประวังแนวเขตตามกฎหมายการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๐๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เมื่อผู้ฟ้องคดีคัดค้านไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๐๑ ของบริษัท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของบริษัทเฉพาะด้านที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗๔๒ ของผู้ฟ้องคดี โดยการดำเนินการรังวัดร่วมกับบริษัทรังวัดเอกชน และแก้ไขจัดทำรูปแผนที่ให้ถูกต้องตามผลการรังวัดตามความเป็นจริง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ให้การว่า การรังวัดรวมโฉนด และแบ่งแยกตามคำขอของบริษัทได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) และระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการติดต่อหรือแจ้งผู้มีสิทธิ์ในที่ดินข้างเคียงให้มาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัด พ.ศ. ๒๕๒๑ เห็นว่า แม้คู่กรณีจะมีการโต้แย้งเรื่องกระบวนการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัทว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แต่การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัทรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี และมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ให้รังวัดสอบเขตที่ดินของบริษัทเฉพาะด้านที่ติดกับโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ตลอดจนแก้ไขจัดทำรูปแผนที่ให้ถูกต้องตามผลการรังวัดที่เป็นจริงนั้น ก็เป็นไปเพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้รับการรับรองและคุ้มครอง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดียืนยันการออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัท ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินส่วนที่มีการรังวัดรุกล้ำว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือบริษัทเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวินัย พิทักษ์สิทธิ์ ผู้ฟ้องคดี นายกวี จันทรบูรณ์ ช่างรังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ส่วนแยกเขาย้อย ที่ ๑ นายเมธาวี ทนดี หัวหน้าฝ่ายรังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ส่วนแยกเขาย้อย ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยกเขาย้อย ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ติดราชการ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share